คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1569/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้า โดยอ้างว่าได้รับโอนสิทธิเรียกร้องค่าซื้อสินค้าดังกล่าวมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่า เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น และได้ขอให้ศาลชั้นต้นอายัดสิทธิเรียกร้องรายนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. มีต่อจำเลยไว้ชั่วคราวแล้ว และห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กับโจทก์สมยอมกันโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ให้โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเพื่อไม่ให้ผู้ร้องสอดได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษา ดังนี้หากเป็นความจริงตามคำร้อง ของ ผู้ร้องสอดแล้ว ผู้ร้องสอดควรได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของตน จึงมีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตาม ป.วิ.พ.มาตรา 57(1) ตามขอได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นลูกหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิชค่าซื้อสินค้าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช ซึ่งเป็นลูกหนี้เงินกู้ยืมโจทก์ได้โอนสิทธิเรียกร้องที่มีอยู่ต่อจำเลยให้แก่โจทก์ ขอให้จำเลยชำระเงินจำนวน 125,770 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การรับว่าได้สั่งซื้อสินค้าจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิชจริงแต่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช ส่งสินค้าให้จำเลยไม่ครบ และต้องชำระค่าปรับให้จำเลยตามสัญญา กับต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจำเลยคงเป็นหนี้เพียง 82,662.30 บาท ซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวนี้ศาลแพ่งได้มีคำสั่งอายัดไว้ในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ 7321/2527 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช จะโอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ จำเลยไม่รับรอง จำเลยไม่เคยตกลงยินยอมทั้งไม่เคยได้รับแจ้งการโอนสิทธิเรียกร้องดังกล่าว และหนี้ดังกล่าวยังไม่ถึงกำหนดที่จำเลยจะต้องชำระ เนื่องจากโจทก์ยังไม่ได้มีการกระทำอันเป็นการปฏิบัติเพื่อขอรับชำระหนี้ค่าซื้อสินค้าที่อ้างว่ารับโอนสิทธิเรียกร้องมาต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถาน ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องว่าผู้ร้องสอดได้เป็นโจทก์ฟ้องห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิชที่ศาลแพ่ง และศาลแพ่งได้มีคำสั่งอายัดเงินที่ห้างฯ มีสิทธิจะได้รับจากการรถไฟแห่งประเทศไทยไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาและต่อมาได้พิพากษาให้ชำระเงินจำนวน200,000 บาท แก่โจทก์ แต่จนบัดนี้การรถไฟแห่งประเทศไทยยังไม่นำเงินที่ถูกอายัดมาวางศาล ผู้ร้องสอดยังไม่ได้รับชำระหนี้ โจทก์ในคดีนี้ไม่ได้เป็นเจ้าหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช การโอนสิทธิเรียกร้องตามฟ้องกระทำขึ้นโดยสมยอมกัน เพื่อไม่ให้ผู้ร้องสอดซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาได้รับชำระหนี้และผู้ร้องสอดไม่สามารถเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินอื่นได้ จึงขอให้ศาลอนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา57(1) และพิพากษาให้ผู้ร้องสอดได้รับชำระหนี้จากการรถไฟแห่งประเทศไทยด้วย
ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องของผู้ร้องสอดว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช ตามคำพิพากษา มีสิทธิที่จะดำเนินการบังคับคดีเอากับทรัพย์สินของหุ้นส่วนดังกล่าวได้อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นที่จะต้องร้องสอดเข้ามาในคดีนี้อีก ให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องสอดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ผลของคำพิพากษาคดีนี้จะเป็นประการใด หาผูกพันผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่ หากทำให้ผู้ร้องสอดเสียสิทธิอย่างใดก็ชอบที่จะยกขึ้นว่ากล่าวเป็นอีกเรื่องหนึ่งทั้งไม่เป็นการสะดวกที่จะนำเรื่องของผู้ร้องสอดมาพิจารณาดังที่ผู้ร้องสอดอ้างเนื่องจากประเด็นของคดีนี้แตกต่างกับประเด็นที่ผู้ร้องสอดกล่าวอ้างขึ้นมาใหม่ว่ามีการสมยอมกันโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิชกับโจทก์ ส่วนเรื่องที่ผู้ร้องสอดอ้างว่าไม่สามารถจะเอาชำระหนี้จากทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้น เห็นว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช ผู้ร้องสอดชอบที่จะขอให้บังคับคดีในคดีที่ผู้ร้องสอดเป็นเจ้าหนี้ตามสิทธิของผู้ร้องสอดที่มีอยู่พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องสอดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องสอดมีสิทธิร้องสอดเข้าเป็นคู่ความตามที่ขอหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระหนี้ค่าซื้อสินค้า โดยอ้างว่าได้รับโอนสิทธิเรียกร้องค่าซื้อสินค้าดังกล่าวมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดช.มงคลวานิช ข้อเท็จจริงได้ความตามคำร้องของผู้ร้องสอดว่าผู้ร้องสอดเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช ตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น คดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 10751/2527และได้ขอให้ศาลชั้นต้นอายัดสิทธิเรียกร้องรายนี้ที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช มีต่อจำเลยไว้ชั่วคราวแล้ว หากเป็นความจริงตามคำร้องของผู้ร้องสอดว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช กับโจทก์สมยอมกันโอนสิทธิเรียกร้องรายนี้ให้โจทก์นำมาฟ้องจำเลยเพื่อไม่ให้ผู้ร้องสอดได้รับชำระหนี้ตามคำพิพากษาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช โดยที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช.มงคลวานิช กับโจทก์ไม่มีมูลหนี้ต่อกัน ผู้ร้องสอดก็ควรได้รับความคุ้มครองตามสิทธิของตนที่มีอยู่ผู้ร้องสอดจึงมีสิทธิเรียกร้องเข้าเป็นคู่ความตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ตามที่ขอได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่อนุญาตให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความและยกคำร้องของผู้ร้องสอดมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำสั่งศาลชั้นต้นและคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้รับคำร้องสอดของผู้ร้องสอดไว้ ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปและพิพากษาหรือมีคำสั่งใหม่ตามรูปคดี”.

Share