คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1567/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมา ต้องห้ามตาม พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เดิมโจทก์ทำงานเป็นพนักงานของบริษัทสมุทรปราการขนส่ง จำกัด ต่อมาโอนเป็นพนักงานของจำเลยทำงานในหน้าที่หัวหน้าหน่วยเดินรถสาย ๔๕ ได้รับค่าจ้างในอัตราเดิม จำเลยมีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยไม่ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับของจำเลย ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเดือนที่ยังขาดอยู่กับค่าชดเชย และให้ยกเลิกคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ขอรับค่าชดเชยตามสิทธิ จำเลยจึงไม่ต้องผูกพัน จำเลยได้กำหนดขั้นเงินเดือนไว้ไม่เป็นการถาวร เมื่อใดโจทก์สามารถทำงานได้ตามความมุ่งหมายของจำเลย จำเลยจะพิจารณาปรับอัตราค่าจ้างให้อีก จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเดือนที่ขาดอยู่ จำเลยไล่โจทก์ออกจากงานเพราะโจทก์ไม่อุทิศเวลาในการทำงาน การกระทำของจำเลยชอบด้วยข้อบังคับการทำงานของจำเลยแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ในชั้นพิจารณา ศาลแรงงานกลางอนุญาตให้โจทก์ถอนฟ้องเฉพาะข้อหาที่ขอให้ยกเลิกคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า โจทก์พ้นหน้าที่พนักงานของบริษัทสมุทรปราการ ขนส่งจำกัด เป็นเสมือนถูกเลิกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชย โจทก์ทำเข้าทำงานในบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด เป็นการทำงานใหม่ในบริษัทใหม่ ข้อตกลงและเงื่อนไขการจ้างต้องตกลงกันใหม่ตามลักษณะของสัญญาจ้าง ไม่ใช่ถือเอาสัญญาจ้างของบริษัทผู้ประกอบการเดิมมาใช้ จำเลยกำหนดอัตราเงินเดือนให้โจทก์ใหม่เดือนละ ๒,๒๕๐ บาท กับค่าครองชีพ ๓๐๐ บาท เป็นการตั้งข้อเสนอรายได้ต่อโจทก์ ใหม่ แม้โจทก์จะได้โต้แย้ง แต่ในที่สุดโจทก์ก็ยอมรับเงินรายได้ที่จำเลยกำหนดมาตลอด อันเป็นการยอมรับข้อเสนอของจำเลยโดยปริยาย จำเลยกำหนดอัตราเงินเดือนให้โจทก์ชอบแล้ว ส่วนค่าชดเชย ๓๐,๐๐๐ บาท นั้น บริษัทสมุทรปราการขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบการเดิม เป็นผู้มีหน้าที่จ่ายให้โจทก์ โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเรียกค่าชดเชยจากจำเลย พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ตามระเบียบของบริษัทมหานครขนส่ง จำกัด ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นจำเลยนี้ได้กำหนดการปรับขั้นเงินเดือนไว้เฉพาะนักบริหาร ส่วนโจทก์มีตำแหน่งเป็นเพียงพนักงาน มิใช่มีตำแหน่งเป็นนักบริหาร จึงหาระเบียบดังกล่าวมาปรับเกี่ยวกับอัตราเงินเดือนของโจทก์มิได้ และโจทก์อุทธรณ์โต้เถียงข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาว่า โจทก์ได้ตกลงยอมรับข้อเสนอของจำเลยที่กำหนดอัตราเงินเดือนให้โจทก์ใหม่ โดยปริยายแล้ว และบริษัทสมุทรปราการขนส่ง จำกัด ผู้ประกอบการเดิมเป็นผู้มีหน้าที่จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ มิใช่หน้าที่ของจำเลย อุทธรณ์ของโจทก์ต้องห้ามตาม จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๕๔ ซึ่งบัญญัติให้อุทธรณ์ได้เฉพาะข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน

Share