คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 139/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คนของโจทก์รับเงินจากลูกค้าแล้วยักยอกไว้ โดยออกเช็คส่วนตัวลงวันล่วงหน้าเข้าบัญชีธนาคารแทน ธนาคารพาณิชย์จะรับเช็คลงวันล่วงหน้าได้หรือไม่ และวันที่ในใบรับเช็คจะต้องตรงกับวันที่ที่ลงในเช็คหรือไม่นั้นไม่มีระเบียบหรือกฎข้อบังคับของธนาคารหรือของทางราชการวางไว้ธนาคารจำเลยที่ 2 ย่อมถือปฏิบัติในการบริการความสะดวกแก่ลูกค้าโดยการรับเช็คลงวันล่วงหน้าไว้เพื่อเรียกเก็บเงินให้ในเมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดโดยที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ยอมรับเสี่ยงภัยในความเสียหายนั้นเองได้ โจทก์อ้างว่าจำเลยที่ 2 ทำให้โจทก์เสียหาย เพราะรับเช็คลงวันล่วงหน้าจากคนของโจทก์ จึงไม่ทราบว่าคนของโจทก์ยักยอกเงินไม่ได้

ย่อยาว

จำเลยที่ 1 เป็นผู้รักษาเงินในบริษัทโจทก์ รับเงินจากลูกค้าแล้วยักยอกโดยออกเช็คลงวันล่วงหน้าเข้าบัญชีที่ธนาคารจำเลยที่ 2 เช็คนั้นเบิกเงินไม่ได้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ 295,000 บาทกับดอกเบี้ย ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า จำเลยที่ 2จะต้องรับผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ได้ยักยอกเงินของโจทก์ไป จำเลยที่ 1 อยู่ในบังคับบัญชาของนายดำรงค์ ศรีเจริญผู้จัดการบริษัทโจทก์สาขาราชบุรี

โจทก์ฎีกาอ้างว่า จำเลยที่ 2 ประกอบกิจการธนาคารต้องดูแลรักษามิให้ลูกค้าได้รับความเสียหาย โดยปกติธนาคารพาณิชย์จะไม่ยอมรับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าไว้เพื่อเรียกเก็บ หรือหากรับไว้ก็จะต้องส่งไปเรียกเก็บเพื่อให้ธนาคารผู้จ่ายส่งคืนโดยทันที จำเลยที่ 2 รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าจากจำเลยที่ 1ไว้แล้วไม่ส่งไปเรียกเก็บ และไม่ลงวันที่ในใบรับเช็คให้ตรงกับวันที่ลงในเช็คและไม่เคยตกลงกับโจทก์ว่าให้จำเลยที่ 2 เก็บเช็คลงวันที่ล่วงหน้าได้ เป็นเหตุให้โจทก์ไม่สามารถตรวจสอบการทุจริตของพนักงานของโจทก์ ถือว่าจำเลยที่ 2ร่วมกระทำให้โจทก์เสียหายด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอฟังว่าพนักงานคนหนึ่งคนใดของจำเลยที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้จำเลยที่ 1 ยักยอกเงินของโจทก์ การที่จำเลยที่ 1 นำเช็คลงวันที่ล่วงหน้ามาฝากธนาคารไม่ปรากฏว่าโจทก์เคยตกลงกับธนาคารจำเลยที่ 2 ห้ามมิให้รับเช็คลงวันที่ล่วงหน้า การที่ธนาคารพาณิชย์จะรับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าได้หรือไม่และวันที่ในใบรับเช็คจะต้องตรงกับวันที่ลงในเช็คหรือไม่นั้น ไม่มีระเบียบหรือกฎข้อบังคับของธนาคารหรือของทางราชการออกไว้ เพียงแต่เป็นหลักปฏิบัติของแต่ละธนาคารเท่านั้น เพราะการรับเช็คฉบับลงวันที่ล่วงหน้าไว้เรียกเก็บย่อมเป็นการเพิ่มภาระให้แก่ธนาคารที่ต้องเก็บรักษาเช็คนั้นไว้จนกว่าจะถึงกำหนดวันสั่งจ่ายจึงจะลงไปเรียกเก็บเงินได้ หากเกิดการสูญหายธนาคารก็ต้องรับผิดชอบ แต่ก็มีบางครั้งที่รับไว้เพื่อให้ความสะดวกแก่ลูกค้า โดยเฉพาะธนาคารจำเลยที่ 2 นี้นำสืบได้ว่าธนาคารถือปฏิบัติในการบริการความสะดวกแก่ลูกค้ารับเช็คลงวันที่ล่วงหน้าไว้เพื่อเรียกเก็บเงินให้ในเมื่อเช็คนั้นถึงกำหนดโดยที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ยอมรับเสี่ยงภัยในความเสียหายนั้นเอง ทั้งนี้ก็เพื่อบริการให้ความสะดวกแก่ลูกค้าเท่านั้น นอกจากนั้นในทางปฏิบัติต่อกันโจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารจำเลยที่ 2 สาขาราชบุรีตั้งแต่ พ.ศ. 2516 เช็คที่จำเลยที่ 1 นำเข้าก็เรียกเก็บเงินได้โดยเรียบร้อยตลอดมา ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานโดยปกติตามประเพณีการจ่ายของธนาคาร จำเลยที่ 2 เพิ่งจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ในระยะหลัง ๆ นี้ คือในระยะที่นำเช็คฝากธนาคารตั้งแต่วันที่ 16 ธันวาคม 2513 ถึงวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2519 เป็นเช็ค 18 ฉบับ รวมเป็นเงิน 295,000 บาท ดังปรากฏตามใบรับเช็คเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.38 กับบัญชีรายละเอียดที่โจทก์ทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.13 แสดงว่าธนาคารจำเลยที่ 2 ปฏิบัติหน้าที่ของตนต่อโจทก์ด้วยดีตลอดมามิได้เป็นการละเมิด ส่วนที่โจทก์อ้างว่าการที่ธนาคารจำเลยที่ 2 ได้ออกใบรับเช็คหรือใบนำฝาก โดยลงวันที่ในใบรับเช็ควันเดียวกับวันที่จำเลยที่ 1 นำเช็คเข้าบัญชี ไม่ได้ระบุว่าเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าและไม่ระบุว่าเป็นเช็คลงวันที่เท่าใด ทำให้โจทก์หลงผิดว่าจำเลยที่ 1 ได้นำเงินของโจทก์เข้าบัญชีของโจทก์ไว้กับธนาคารจำเลยที่ 2 เรียบร้อยแล้วนั้น เห็นว่ารับฟังไม่ได้เพราะจำเลยที่ 2 ได้ประทับตราคำว่า “For Collection” ซึ่งแปลว่า “สำหรับส่งไปเรียกเก็บเท่านั้น” อยู่แล้ว ซึ่งโจทก์จะต้องทราบได้ว่าใบรับเช็คที่ประทับตราเช่นนี้ยังขึ้นเงินไม่ได้ และยังไม่ได้นำเงินเข้าบัญชีให้โจทก์ โจทก์จึงไม่หลงผิดและไม่เสียหาย ประกอบด้วยในใบคืนเช็คทั้ง 38 ฉบับ ตามเอกสารหมาย จ.39/1ถึง จ.76/1 ระบุเหตุขัดข้องที่ต้องคืน ตามคำเบิกความของนายดำรงค์ ศรีเจริญ ผู้จัดการบริษัทโจทก์สาขาราชบุรี ว่าเพราะเงินในบัญชีไม่พอจ่าย ไม่มีระบุว่าเพราะเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้าพฤติการณ์เช่นว่านี้แสดงว่าเหตุเสียหายเกิดขึ้นก็เพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 พนักงานลูกจ้างของโจทก์เอง ส่วนที่โจทก์ว่าโจทก์มีระเบียบและคำสั่งห้ามพนักงานของบริษัทรับเช็คล่วงหน้าของลูกค้า และจ่ายเช็คส่วนตัวชำระให้บริษัทนั้น ก็เป็นระเบียบภายในของโจทก์เอง และเป็นความบกพร่องของโจทก์ ธนาคารจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกอาจจำต้องร่วมรับผิดด้วยไม่”

พิพากษายืน

Share