คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1563/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การอยู่ร่วมกันของคนในชนบทตามปกติจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้โดยถือวิสาสะ อันเป็นการเอื้อเฟื้ออาทรต่อกัน การใช้ทางพิพาทของโจทก์ในลักษณะเช่นว่านี้ จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้จะใช้นานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่โจทก์โดยอายุความตามมาตรา 1401

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11305 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5414 ที่ดินโจทก์ไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะโจทก์ใช้ทางคันดินกว้างประมาณ 2 ศอก สูงประมาณ 1 ศอก ยาวประมาณ 4.5 เส้น ซึ่งเป็นคันกั้นเขตที่ดินของจำเลยกับนายทองคำ ธรรมปัญญา โดยอยู่ในที่ดินของจำเลย 1 ศอก อยู่ในที่ดินของนายทองคำ 1 ศอก เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะเป็นเวลา 18 ปีแล้ว ทางดังกล่าวจึงตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2538 จำเลยและบริวารทำลายคันดินในส่วนที่อยู่ในที่ดินของจำเลยทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายใช้เส้นทางไม่สะดวก ขอให้พิพากษาว่า ทางพิพาทตามรูปแผนที่ท้ายฟ้องตกเป็นทางภาระจำยอม ให้จำเลยซ่อมแซมคันดินพิพาทให้อยู่ในสภาพเดิม หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแล้วให้จำเลยออกค่าใช้จ่าย
จำเลยให้การว่า คันดินพิพาทมีความกว้างเพียง 1 ศอก ยาวตลอดแนวเพียง 3.18 เส้น บางส่วนอยู่ในที่ดินของนายทองคำทั้งหมด โจทก์และบริวารอาศัยคันดินพิพาทเดินเข้าออกในลักษณะถ้อยทีถ้อยอาศัย มิใช่โดยปรปักษ์ ทางพิพาทจึงไม่ใช่ภาระจำยอมขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ทางพิพาทตามเส้นสีฟ้าในแผนที่วิวาทหมาย จ.1 ซึ่งอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 5414 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ของจำเลย ตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 11305 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก ของโจทก์ ให้จำเลยซ่อมแซมทางพิพาทที่จำเลยขุดออกให้ทางมีความกว้าง 80 เซนติเมตร ตามสภาพเดิมตลอดทางตั้งแต่ทางสาธารณะไปจนถึงที่ดินของโจทก์ หากจำเลยไม่ดำเนินการก็ให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 11305 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยซื้อมาตั้งแต่ปี 2513 ส่วนจำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 5414 ตำบลบ้านพริก อำเภอบ้านนา จังหวัดนครนายก โดยซื้อมาตั้งแต่ปี 2534 ที่ดินของโจทก์และที่ดินของจำเลยอยู่ติดต่อกัน โจทก์ใช้ทางพิพาทซึ่งเป็นคันนาแบ่งเขตที่ดินของจำเลยกับที่ดินของนายทองคำ ธรรมปัญญา เป็นทางเข้าออกสู่ถนนสาธารณะตลอดมา ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า ทางพิพาทตกเป็นภาระจำยอมแก่ที่ดินโจทก์โดยอายุความหรือไม่ โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่า ตามปกติประเพณีของท้องถิ่นสามารถใช้คันนาเป็นทางเดินได้ทั่วถึงกันโดยไม่มีการหวงห้าม เห็นว่า การได้ภาระจำยอมโดยอายุความนั้นประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยอายุความได้สิทธิดังกล่าวไว้ในลักษณะ 3 แห่งบรรพ 4 มาใช้บังคับโดยอนุโลม กล่าวคือจะต้องเป็นกรณีที่เจ้าของสามายทรัพย์ได้ใช้ประโยชน์ในที่ดินภารยทรัพย์นั้นโดยความสงบและโดยเปิดเผย และด้วยเจตนาจะได้สิทธิภาระจำยอมในที่ดินดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ประกอบด้วยมาตรา 1382 แต่จากข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า การอยู่ร่วมกันของคนในชนบทตามปกติแล้วจะใช้ที่ดินข้างเคียงเป็นทางผ่านได้โดยถือวิสาสะ อันเป็นการเอื้อเฟื้ออาทรต่อกันของคนในสังคม การใช้ทางพิพาทของโจทก์ก็เข้าอยู่ในลักษณะเช่นว่านี้ กรณีจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์ใช้ทางพิพาทในลักษณะปรปักษ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1382 แม้โจทก์จะใช้ทางพิพาทผ่านที่ดินของจำเลยนานกว่า 10 ปี ทางพิพาทก็ไม่ตกเป็นภาระจำยอมแก่โจทก์โดยอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1401 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายกฟ้องจึงชอบแล้ว”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share