แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พฤติการณ์การกระทำของจำเลยกับข้อเท็จจริงที่ได้จากเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมซึ่งกระทำการตามหน้าที่และไม่มีเหตุให้กลั่นแกล้งจำเลย น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานแวดล้อมกรณี ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 (1)
บันทึกคำให้การในชั้นสอบสวนและพยานหลักฐานอื่นของผู้เสียหายในการยืนยันตัวจำเลย อันเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งโดยหลักต้องห้ามมิให้รับฟัง เว้นแต่จะเข้าข้อยกเว้น และแม้จะเข้าข้อยกเว้น ในการรับฟัง ศาลจะต้องทำด้วยความระมัดระวัง แต่เมื่อปรากฏว่าผู้เสียหายมาศาลและพร้อมที่จะเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ ระหว่างรอการพิจารณาคดี มีญาติของจำเลยสองคนเข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหาย จากนั้นผู้เสียหายออกไปจากศาลโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ศาลชั้นต้นออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อนำตัวมาเป็นพยานหลายนัด แต่ไม่ได้ตัวมาจนต้องงดสืบพยานปากผู้เสียหาย การหลบหนีและไม่ยอมมาเบิกความของผู้เสียหายน่าเชื่อว่าเพื่อช่วยเหลือจำเลย ถือเป็นกรณีมีเหตุจำเป็นไม่อาจเอาผู้เสียหายมาเบิกความได้อันเป็นข้อยกเว้นให้ศาลรับฟังพยานบอกเล่าได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 226/3 (2) และยังถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี ศาลย่อมรับฟังพยานบอกเล่าดังกล่าวเพื่อลงโทษจำเลยได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1), 336 ทวิ, 58 และบวกโทษจำคุกที่รอไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 160/2546 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกในคดีนี้ และให้นับโทษจำคุกในคดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 96/2547 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1681/2547 ของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยคืนกระเป๋าสะพาย โทรศัพท์เคลื่อนที่และเงินสดที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคาเป็นเงิน 7,300 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า
ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2546 เวลากลางคืน เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจนครบาลดินแดงตรวจค้นรถยนต์หมายเลขทะเบียน วณ 8832 กรุงเทพมหานคร แต่ติดแผ่นป้ายทะเบียน ธ 7111 กรุงเทพมหานคร (ป้ายแดง) ที่จำเลยขับผ่านจุดตรวจ ยึดได้ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 (ยาอี) จำนวนเล็กน้อยเป็นของกลางจึงจับกุมจำเลยดำเนินคดีข้อหามียาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตและในการตรวจค้นรถยนต์ยังพบบัตรประจำตัวประชาชนของผู้หญิง 8 ใบ ใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ของผู้หญิง 1 ใบ นาฬิกาข้อมือ 9 เรือน ต่างหู 2 คู่ กับอีก 4 ข้าง สร้อยคอ 3 เส้น สร้อยข้อมือ 3 เส้น แหวน 5 วง เครื่องสำอางของผู้หญิง 1 กล่อง ซิมการ์ดโทรศัพท์ 18 อัน แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลข วณ 8832 กรุงเทพมหานคร 1 แผ่น และอื่น ๆ อีกหลายรายการ คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พยานโจทก์มีร้อยตำรวจโทชัยวัฒน์ผู้จับกุมเบิกความว่า หลังจับกุมจำเลยพยานได้ติดต่อไปยังผู้หญิงที่ปรากฏชื่ออยู่ในใบอนุญาตขับขี่รถยนต์ ผู้หญิงคนดังกล่าวได้ไปพบและเล่าว่า ได้รู้จักกับจำเลยและชวนกันไปรับประทานอาหาร จากนั้นจำเลยพาเข้าโรงแรมแล้วปลดทรัพย์ซึ่งมีนาฬิกาข้อมือกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง เหตุเกิดในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก พยานจึงแนะนำให้ไปร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลหัวหมาก กับมีพันตำรวจโทอิสระพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลมักกะสันเบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 ผู้เสียหายร้องทุกข์ต่อพยานว่า เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2546 เวลาประมาณ 23 นาฬิกา ผู้เสียหายได้พบกับจำเลยที่ร้านจิโอ้ ถนนพระราม 9 แล้วชวนกันไปรับ ประทานอาหารที่ถนนสุขุมวิท โดยนั่งรถยนต์ของจำเลย หลังรับประทานอาหารเสร็จเวลา 00.20 นาฬิกา จำเลยพาไปส่งที่ร้านจิโอ้ จำเลยจอดรถและให้ผู้เสียหายลงไปช่วยหยิบกระเป๋าสตางค์ของจำเลยซึ่งอยู่ที่เบาะหลังด้านขวา ผู้เสียหายลงไปหาแต่ไม่พบ เมื่อผู้เสียหายปิดประตูรถ จำเลยก็ขับรถออกไปโดยเอากระเป๋าสะพายของผู้เสียหายไปด้วย ภายในกระเป๋ามีโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง เงินสด 1,000 บาท และบัตรประจำตัวประชาชน 1 ใบ ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546 ผู้เสียหายพบข่าวที่จำเลยถูกจับกุมในหนังสือพิมพ์และจำได้ว่าเป็นคนร้าย จึงไปดูตัวที่สถานีตำรวจนครบาลดินแดงและนำบันทึกข้อความกับบัตรประจำตัวประชาชนไปร้องทุกข์ต่อพยานเพื่อให้ดำเนินคดีแก่จำเลย ผู้เสียหายชี้ภาพถ่ายของจำเลยที่ปรากฏในข่าว กับชี้รถยนต์ที่จำเลยใช้ก่อเหตุ หลังจากพยานรับตัวจำเลยไปดำเนินคดี พยานจัดให้ผู้เสียหายชี้ตัวผู้ต้องหา ผู้เสียหายชี้ยืนยันว่าจำเลยเป็นคนร้ายตามบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหา เห็นว่า ร้อยตำรวจโทชัยวัฒน์จับกุมจำเลยและยึดได้ทรัพย์สินอยู่ในรถยนต์ของกลางจำนวนหลายรายการ โดยทรัพย์สินดังกล่าวมิใช่เป็นของจำเลย กับไม่มีเหตุผลใดที่จะมีบุคคลอื่นนำ มาเก็บไว้หรือหลงลืมไว้ในรถจำนวนมากเช่นนี้ ทั้งจำเลยมิได้ให้การต่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนกับนำสืบให้เห็นว่าเป็นการมีอยู่หรือได้มาโดยชอบ การมีไว้ในครอบครองซึ่งทรัพย์ สินดังกล่าวของจำเลยจึงนับว่าเป็นพิรุธ ทั้งสอดคล้องกับการพบทรัพย์สินซึ่งมีทั้งใบอนุญาตขับขี่รถยนต์และบัตรประจำตัวประชาชนของผู้หญิงจำนวนมากอยู่ในรถ กับยังปรากฏว่ามีการถอดป้ายทะเบียนที่แท้จริงออกแล้วนำแผ่นป้ายทะเบียนอื่น (ป้ายแดง) ติดไว้แทนโดยปราศจากเหตุผล อันเป็นลักษณะของการปิดบังอำพรางหมายเลขทะเบียนของรถที่แท้จริงไว้ พฤติการณ์แห่งการกระทำของจำเลยกับข้อเท็จจริงที่ได้จากร้อยตำรวจโทชัยวัฒน์เช่นนี้น่าเชื่อว่าจะพิสูจน์ความจริงได้ จึงไม่ต้องห้ามที่จะนำมารับฟังเป็นพยานแวดล้อมกรณี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/3 (1) ครั้นเมื่อมีการเสนอข่าวและแพร่ภาพถ่ายของจำเลยในหนังสือพิมพ์ ผู้เสียหายก็ได้เข้าร้องทุกข์และให้การต่อพันตำรวจโทอิสระพนักงานสอนสวน อันเป็นการยืนยันมาโดยตลอดว่าจำเลยลักทรัพย์ของผู้เสียหาย และโดยไม่มีเหตุผลใดที่ผู้เสียหายจะต้องไปกลั่นแกล้งกล่าวหาจำเลย แม้ในชั้นพิจารณาโจทก์ไม่ได้ตัวผู้เสียหายมาเบิกความเป็นพยาน คงมีเพียงบันทึกคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวน ภาพถ่ายการชี้ยืนยันภาพถ่ายของจำเลยในหนังสือพิมพ์ ภาพถ่ายการชี้ยืนยันรถยนต์ของกลาง และบันทึกการชี้ตัวผู้ต้องหา อันเป็นเพียงพยานบอกเล่าซึ่งในการวินิจฉัยพยานบอกเล่าที่จำเลยไม่มีโอกาสถามค้าน ศาลจะต้องกระทำด้วยความระมัดระวังก็ตาม แต่ปรากฏข้อเท็จจริงตามคำร้องของโจทก์ลงวันที่ 28 กันยายน 2547 และรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่เดียวกัน เวลา 13.30 นาฬิกา ว่า ในวันนัดสืบพยานโจทก์ในช่วงเช้าผู้เสียหายมาศาลและพร้อมที่จะเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ แต่ปรากฏว่าระหว่างรอการพิจารณาคดี มีญาติของจำเลย 2 คน เข้าไปพูดคุยกับผู้เสียหายในลักษณะกระซิบกระซาบกัน จากนั้นผู้เสียหายออก ไปจากศาลโดยไม่แจ้งให้โจทก์ทราบ ศาลชั้นต้นได้เลื่อนคดีและออกหมายจับผู้เสียหายเพื่อนำตัวมาเป็นพยานหลายนัด แต่ไม่ได้ตัวมาจนต้องงดสืบพยานปากผู้เสียหาย พฤติการณ์ในการหลบหนีและไม่ยอมมาเบิกความในชั้นพิจารณาของผู้เสียหายดังกล่าว จึงน่าเชื่อว่าเพื่อที่จะช่วยเหลือจำเลยนั่นเอง อันถือได้ว่าเป็นกรณีที่มีพฤติการณ์พิเศษแห่งคดี ศาลย่อมรับฟังพยานบอกเล่าดังกล่าวเพื่อลงโทษจำเลยได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227/1 วรรคหนึ่ง ข้อที่จำเลยนำสืบทำนองว่า นางสาวเมย์ทำบัตรประจำตัวประชาชนตกไว้ในรถ อันเป็นการอ้างในทำนองว่าจำเลยไม่ได้ลักแต่ผู้เสียหายทำตกไว้เองนั้น ไม่สมเหตุสมผลเพราะตามปกติธรรมดาของวิญญูชนย่อมต้องเก็บบัตรประจำตัวประชาชนไว้ในกระเป๋าสตางค์ติดตัวเป็นอย่างดี จึงเป็นไปได้ยากที่บัตรประจำตัวประชาชนของผู้เสียหายจะหลุดล่วงออกมาเองและตกอยู่ในรถได้ ประกอบกับทรัพย์ของผู้เสียหายยังมีกระเป๋าสะพาย 1 ใบ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 1 เครื่อง และเงินสดอีก 1,000 บาท ซึ่งหากเป็นเรื่องที่ผู้เสียหายลืมทิ้งไว้ตามที่จำเลยนำสืบต่อสู้คดี ทรัพย์เหล่านั้นย่อมต้องยังอยู่ในรถของจำเลยเช่นเดียวกับบัตรประจำตัวประชาชน แต่ทรัพย์ดังกล่าวหาย ไป ข้ออ้างของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักในการรับฟัง พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักมั่นคงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยเป็นคนร้ายลักทรัพย์ของผู้เสียหายไป จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง พยานหลักฐานของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก ประกอบมาตรา 336 ทวิ จำคุก 3 ปี และให้นับโทษต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 96/2547 และคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1681/2547 ของศาลชั้นต้น กับให้จำเลยคืนกระเป๋าสะพาย โทรศัพท์เคลื่อนที่และเงินสดที่ยังไม่ได้คืนหรือใช้ราคา 7,300 บาท แก่ผู้เสียหาย