แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ที่ 1 ฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนายการโรงพยาบาล ได้มีคำสั่งให้โจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ช่วยพยาบาลทำหน้าที่เบิกจ่ายค่าอาหารคนไข้และเก็บรักษาเงินสะสมโรงพยาบาล และให้รายการจำนวนของและจำนวนเงินเกินกว่าที่จ่ายไปจริง อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบ และโดยทุจริต ดังนี้ เมื่อตามฟ้องของโจทก์แสดงออกแจ้งชัดว่าโจทก์ที่ 1 ได้ร่วมกระทำผิดด้วยกับจำเลยที่ 1 และตนจะแก้ตัวอ้างความจำเป็นในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาที่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ตนรู้อยู่ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชาไม่ได้ โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องคดีขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญาได้
ตามฟ้องโจทก์ที่ 2 กล่าวหาว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอาหน้าที่ของโจทก์ที่ 2 ไปให้โจทก์ที่ 1 ทำบ้าง จำเลยที่ 2 ทำบ้าง และเป็นการกระทำโดยมิชอบและโดยทุจริต เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 2 เสียหาย เมื่อการมอบหมายงานอยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ที่จะสั่งได้ และโจทก์ที่ 2 ซึ่งมิใช่เป็นผู้กระทำผิดหรือละเว้นกระทำ จึงหาจำต้องรับผิดในความเสียหายนั้นแต่อย่างใดไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะมีอำนาจฟ้องคดีขอให้ลงโทษจำเลยอันเป็นความผิดตามมาตรา 267,268 ประมวลกฎหมายอาญาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ซึ่งรับราชการเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านโป่ง ได้ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต โดยได้มีคำสั่งให้โจทก์ที่ ๑ ซึ่งรับราชการในตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล อันมีหน้าที่ช่วยพยาบาลตามคำสั่งแพทย์ ทำหน้าที่เป็นผู้เบิกจ่ายค่าอาหารคนไข้ และเก็บเงินสะสมค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ของโรงพยาบาล แล้วให้จำเลยที่ ๔ ซึ่งเป็นหัวหน้าคนครัวมาเบิกเงินค่าอาหารจากโจทก์ที่ ๑ ซึ่งจะออกหลักฐานใบยินยอมให้จำเลยที่ ๑ แต่แล้วจำเลยที่ ๑ ให้โจทก์ที่ ๑ ลงรายการจำนวนของและจำนวนเงินลงในแบบพิมพ์รายการซื้ออาหารเกินกว่าจำนวนที่จ่ายไปจริง และเมื่อจำเลยที่ ๑ เซ็นสั่งอนุมัติแล้ว ให้นำไปเป็นหลักฐานส่งใช้เงินยืม โจทก์ได้ปฏิบัติตามคำสั่ง แล้วได้มอบเงินให้จำเลยที่ ๑ ไป ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้สั่งให้โจทก์ที่ ๑ ปฏิบัติเช่นที่แล้วอีกรวม ๒ คราวด้วยกัน ซึ่งการกระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการฝ่าฝืนระเบียบปฏิบัติเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินของทางรายการ เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบและโดยทุจริต ต่อมาจำเลยที่ ๑ และ ๒ ได้ร่วมกันกระทำผิด โดยจำเลยที่ ๑ ได้มีคำสั่งให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยพยาบาลปฏิบัติหน้าที่โดยใช้วิธีการเพิ่มรายการจำนวนของและจำนวนเงินเกินกว่าที่จ่ายไปจริงตามที่กล่าวข้างต้น แล้วทั้งสองได้เบียดบังเอาไว้เป็นประโยชน์ส่วนตัวเสีย การที่จำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเบิกจ่ายซึ่งเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่ ๒ เช่นนี้ เป็นการปฏิบัติหน้าที่มิชอบและโดยทุจริต และโดยเจตนาให้โจทก์ที่ ๑ ได้รับความเสียหาย เพื่อให้ทางราชการเห็นว่าโจทก์ที่ ๒ ปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง จนได้ตั้งกรรมการทำการสอบสวนโจทก์ทางวินัย อันเป็นความเสียหายแก่โจทก์ ครั้นต่อมาจำเลยทั้งห้าได้ร่วมกระทำผิด โดยจำเลยที่ ๑ สั่งให้จำเลยที่ ๔ เป็นกรรมการผู้จ่ายเงินและตรวจรับมอบของ ให้จำเลยที่ ๕ ลงชื่อในช่องกรรมการตรวจรับของล่วงหน้าโดยไม่กรอกรายการ และให้จำเลยที่ ๒ กรอกรายการจำนวนของและจำนวนเงินเพิ่มจากที่จำเลยที่ ๔ ได้จ่ายจริง เพื่อนำไปเป็นหลักฐานส่งใช้เงินยืม โดยให้จำเลยที่ ๓ ซึ่งรู้เห็นด้วยเป็นผู้หักล้างเงินยืม ซึ่งงานเหล่านี้อยู่ในความรับผิดชอบโจทก์ที่ ๒ และต้องเสนอฝ่ายโจทก์ที่ ๒ เสียก่อนตามระเบียบ เป็นเหตุให้โจทก์ที่ ๒ ได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยทั้งห้านี้เป็นการสมคบร่วมกันกระทำผิดฐานจดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ และอ้างใช้เอกสารราชการอันเป็นเท็จ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓,๑๕๗,๒๖๗,๒๖๘
ศาลชั้นต้นสั่งงดไต่สวนมูลฟ้อง และวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้ร่วมในการกระทำผิดตามฟ้องด้วย โจทก์จึงมิใช่ผู้เสียหาย นากจากนี้ฟ้องในความผิดจดแจ้งและใช้เอกสารเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๗,๒๖๘ ยังเป็นฟ้องเคลือบคลุมด้วย พิพากษายกฟ้อง โดยไม่ประทับฟ้องไว้พิจารณา
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามฟ้องซึ่งเกี่ยวกับโจทก์ที่ ๑ นั้น แสดงออกชัดแล้วว่า โจทก์ที่ ๑ ได้ร่วมกระทำผิดด้วยกับจำเลย จึงไม่ถือว่าโจทก์เป็นผู้เสียหาย ตามมาตรา ๒๘ (๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนที่โจทก์ที่ ๑ อ้างว่าศาลควรจะฟังข้อเท็จจริงก่อนว่าโจทก์ที่ ๑ ได้ปฏิบัติไปตามคำสั่งอันมิชอบด้วยความยินยอมหรือจำใจต้องปฏิบัติในฐานะจำเลยที่ ๑ เป็นผู้บังคับบัญชานั้น เห็นว่า โจทก์ที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาจะแก้ตัวจะอ้างความจำเป็นที่จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งที่ตนรู้ว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายของผู้บังคับบัญชาหาได้ไม่ ส่วนสำหรับโจทก์ที่ ๒ ซึ่งอ้างว่าได้รับความเสียหายเพราะทำให้ทางราชการเห็นว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติหน้าที่และปฏิบัติหน้าที่บกพร่องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ ๑ มีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลย่อมมีอำนาจสั่งการดังกล่าวแล้วได้ หากความเสียหายเกิดขึ้น ย่อมตกอยู่แต่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้สั่งหรือทางราชการ โจทก์ที่ ๒ หาจำต้องรับผิดไม่ และจึงมิใช่ผู้เสียหาย และในข้อหาว่าจำเลยทั้งห้ากระทำผิดฐานจดข้อความเท็จลงในเอกสารราชการและนำไปใช้เป็นหลักฐานส่งใช้เงินยืมราชการและมิได้เสนอฝ่ายโจทก์ที่ ๒ ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงก่อน อันทำให้โจทก์ที่ ๒ เสียหายนั้น ก็ปรากฏว่าตามฟ้องโจทก์ก็ชัดแจ้งอยู่แล้วว่า จำเลยที่ ๑ มิได้มอบหมายให้โจทก์ที่ ๒ ทำหน้าที่เก็บรักษาและเบิกจ่ายเงิน หากแต่เอาหน้าที่นี้ไปให้โจทก์ที่ ๑ทำบ้าง และให้จำเลยที่ ๒ ทำบ้าง ซึ่งเป็นอำนาจของจำเลยที่ ๑ ที่จะสั่งได้ โจทก์ที่ ๒ จึงมิใช่ผู้กระทำหรือละเว้นกระทำ และจึงหาจำต้องรับผิดในความเสียหายนั้นแต่อย่างใดไม่ ทั้งข้อความจดแจ้งนี้มิได้เกี่ยวข้องกับโจทก์ที่ ๒ แต่ประการใด โจทก์ที่ ๒ จึงมิใช่ผู้เสียหายที่จะฟ้องจำเลยทั้งห้าในความผิดฐานนี้ได้
พิพากษายืน