แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 (1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารการสอบราคาโดยมีสาระสำคัญว่า ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการปิดประกาศสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของส่วนราชการนั้นกับส่งประกาศสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพรับจ้างก่อสร้างโดยตรงหรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการส่งประกาศสอบราคาไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงนั้น นอกจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้นจะไม่ได้วางหลักปฏิบัติว่าต้องกระทำโดยวิธีการอย่างใดแล้ว ส. พยานโจทก์ยังให้ความเห็นยืนยันว่า หากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใดมารับเอกสารประกาศสอบราคาโดยตรงที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ ก็ถือว่าเป็นการส่งประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงแล้ว ประกอบกับในช่วงปีที่เกิดเหตุ กรมชลประทานไม่มีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการส่งเอกสารประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมา ก่อสร้างโดยตรงตามคำเบิกความตอบคำถามค้านของ ว. พยานโจทก์ ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัสดุ กรมชลประทาน ดังนี้ การที่จำเลยจัดให้บรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างมารับเอกสารประกาศสอบราคา ณ โครงการชลประทานสระบุรีซึ่งเป็นที่ทำการของจำเลย จึงถือเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 (1) แล้ว
สำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ล้วนมีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ในตอนล่างของเอกสารว่าเป็นผู้แจกเอกสารประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหลาย แต่เมื่อผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นนอกเหนือจากผู้รับเหมาก่อสร้างสามรายที่ประมูลงานได้ ไม่เคยรับรู้หรือได้รับเอกสารประกาศสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างงานขุดลอกคลองทั้ง 7 โครงการ คดีจึงต้องถือว่า จำเลยกระทำการโดยวิธีปกปิดกีดกัน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสอบราคาเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นความผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 7 ดังฟ้อง แม้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามรายที่ประมูลงานได้จะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางและปฏิบัติงานสำเร็จเรียบร้อยโดยไม่เกิดความเสียหายแก่ทางราชการ แต่การประมูลงานได้ของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งสามรายก็เกิดจากการกระทำของจำเลยที่มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ความสำเร็จในการทำงานของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งสามราย จึงไม่อาจลบล้างความผิดของจำเลยซึ่งเกิดขึ้นก่อนถึงขั้นตอนการเสนอราคาได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 7, 12, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 7 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 7 กระทงเป็นจำคุก 21 ปี 28 เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยเป็นลูกจ้างประจำโครงการชลประทานสระบุรี สำนักชลประทานที่ 10 จังหวัดลพบุรี กรมชลประทาน ดำรงตำแหน่งพนักงานพัสดุชั้น 3 ทำหน้าที่หัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุและเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กับเป็นเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 โดยจำเลยมีหน้าที่ในการดำเนินการจัดทำเอกสารและส่งเอกสารประกาศสอบราคา การขายซองสอบราคาและรับซองสอบราคาในโครงการขุดลอกคลองหนองน้ำและคลองธรรมชาติต่าง ๆ ในเขตจังหวัดสระบุรีต่อมาเมื่อระหว่างวันที่ 23 เมษายน 2544 ถึงวันที่ 27 กันยายน 2544 โครงการชลประทานสระบุรี ได้ประกาศสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างงานขุดลอกคลอง 7 โครงการ ได้แก่ คลองวังยาง คลองซับสนุ่น คลองบ้านไร่ คลองหนองโป่งเกตุ คลองใหญ่ คลองทับกวางและคลองหนองแหน ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ต้องเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการสอบราคาให้ผู้รับเหมาทั้งหลายทราบโดยในการนี้ จำเลยกับนายสุทธิวัฒน์ ช่างฝีมือโรงงานชั้น 1 ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยและถึงแก่ความตายไปแล้วได้ให้ ผู้มีอาชีพรับเหมาก่อสร้างลงลายมือชื่อรับเอกสารประกาศสอบราคาที่โครงการชลประทานสระบุรี จากนั้นจำเลยกับพวกได้ทำบัญชีแสดงรายชื่อผู้ซื้อเอกสารสอบราคาและบัญชีรับซองสอบราคาทั้ง 7 โครงการเป็นดังนี้
1.โครงการขุดลอกคลองวังยาง มีผู้ยื่นซองสอบราคา 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น กับ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดี อาร์ อาร์
2.โครงการขุดลอกคลองซับสนุ่น มีผู้ยื่นซองสอบราคา 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น กับ บริษัทเอสเอ็มพี เมืองเพรียว คอนสตรัคชั่น จำกัด
3.โครงการขุดลอกคลองบ้านไร่ มีผู้ยื่นซองสอบราคา 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น กับบริษัทแสนเมืองทอง จำกัด
4.โครงการขุดลอกคลองหนองโป่งเกตุ มีผู้ยื่นซองสอบราคา 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น กับบริษัทเอสเอ็มพี เมืองเพรียว คอนสตรัคชั่น จำกัด
5.โครงการขุดลอกคลองใหญ่ มีผู้ยื่นซองสอบราคา 2 ราย ได้แก่ บริษัทเอสเอ็มพี เมืองเพรียว คอนสตรัคชั่น จำกัด กับห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญวรกุล
6.โครงการขุดลอกคลองทับกวาง มีผู้ยื่นซองสอบราคา 3 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น กับบริษัทเอสเอ็มพี เมืองเพรียว คอนสตรัคชั่น จำกัด และห้างหุ้นส่วน จำกัด ท.พิกุลทอง
7.โครงการขุดลอกคลองหนองแหน มีผู้ยื่นซองสอบราคา 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น กับห้างหุ้นส่วนจำกัด คงวิบูลย์ ซัพพลาย
หลังจากนั้นมีการอนุมัติและทำสัญญาว่าจ้างในโครงการขุดลอกคลองทั้ง 7 โครงการ โดยห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น ได้งาน 3 โครงการ คือโครงการขุดลอกคลองวังยาง คลองทับกวางและคลองหนองแหน
บริษัทเอสเอ็มพี เมืองเพรียว คอนสตรัคชั่น จำกัด ได้งาน 3 โครงการ คือ โครงการขุดลอกคลองซับสนุ่น คลองหนองโป่งเกตุ และคลองใหญ่
บริษัทแสนเมืองทอง จำกัด ได้งาน 1 โครงการ คือ โครงการขุดลอกคลองบ้านไร่
ต่อมามีกลุ่มผู้รับเหมาที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อหน่วยราชการต่าง ๆ ให้ตรวจสอบการทุจริตการจ้างเหมาขุดลอกคลองทั้ง 7 โครงการ โดยคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ไต่สวนข้อเท็จจริงแล้วมีมติชี้มูลว่า จำเลยกระทำความผิดทางอาญาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542
คดีจึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 หรือไม่ เนื่องจากการจ้างเหมาขุดลอกคลองโดยวิธีสอบราคาของโครงการชลประทานสระบุรี อันเป็นหน่วยงานของรัฐในครั้งนี้จักต้องดำเนินการให้เป็นไปตามสำเนาระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 (1) ตามคำเบิกความของนางสาวสุปราณี พยานโจทก์ผู้ดำรงตำแหน่งนิติกรชำนาญการพิเศษ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กรณีจึงมีข้อต้องพิจารณาในประการแรกว่า การที่จำเลยจัดให้บรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างมารับเอกสารประกาศสอบราคา ณ ที่ทำการของจำเลยถือเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้อง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าวหรือไม่ ในข้อนี้ ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 (1) ได้กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเผยแพร่ข่าวสารการสอบราคาโดยมีสาระสำคัญว่า ให้ส่วนราชการเจ้าของโครงการปิดประกาศสอบราคาไว้โดยเปิดเผย ณ ที่ทำการของส่วนราชการนั้นกับส่งประกาศสอบราคาไปยังผู้มีอาชีพรับจ้างก่อสร้างโดยตรงหรือโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งการส่งประกาศสอบราคาไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงนั้น นอกจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีข้างต้นจะไม่ได้วางหลักปฏิบัติว่าต้องกระทำโดยวิธีการอย่างใดแล้ว นางสาวสุปราณี พยานโจทก์ยังให้ความเห็นยืนยันว่า หากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใดมารับเอกสารประกาศสอบราคาโดยตรงที่หน่วยงานเจ้าของโครงการ ก็ถือว่าเป็นการส่งประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงแล้ว ประกอบกับในช่วงปี 2544 ที่เกิดเหตุ กรมชลประทานไม่มีงบประมาณค่าใช้จ่ายในการส่งเอกสารประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยตรงตาม คำเบิกความตอบคำถามค้านของนางวัลภา พยานโจทก์ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกองพัสดุ กรมชลประทาน ดังนี้ การที่จำเลยจัดให้บรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างมารับเอกสารประกาศสอบราคา ณ โครงการชลประทานสระบุรีซึ่งเป็นที่ทำการของจำเลย จึงถือเป็นการปฏิบัติโดยถูกต้องตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 ข้อ 41 (1) แล้ว
ปัญหาต่อไปว่า บรรดาผู้รับเหมาก่อสร้างทุกรายตามที่ปรากฏรายชื่อในสำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ชป.212 ได้รับเอกสารประกาศสอบราคาไปตามความเป็นจริงหรือไม่ ในปัญหานี้ เมื่อพิจารณาสำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ชป. 212 แล้ว จะเห็นได้ว่า รายชื่อผู้รับเหมาก่อสร้างลำดับที่ 1 ถึง ลำดับที่ 7 ตามสำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ชป.212 ทั้ง 7 โครงการ คือ ห้างหุ้นส่วนจำกัดกาญจนาสระแก้วการค้า ห้างหุ้นส่วนจำกัด โรจนาก่อสร้าง ห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.วิวัฒน์ ก่อสร้างพระพุทธบาท ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจริญวรกุล ห้างหุ้นส่วนจำกัด พรหมสวัสดิ์ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่นและบริษัทแสนเมืองทอง จำกัด ล้วนมีลำดับรายชื่อเหมือนกันทุกโครงการและรับเอกสารสอบราคาในวันเดือนปีเดียวกันโดยไม่ผิดเพี้ยน ซึ่งนับเป็นเรื่องที่ผิดปกติ มีข้อพิรุธ ไม่น่าเป็นไปได้ว่าผู้รับเหมาก่อสร้าง รวม 7 ลำดับ ใน 7 โครงการจะพร้อมใจกันมารับเอกสารสอบราคาในคราวเดียวกันและพร้อมเพรียงกันเช่นนี้ อีกทั้งผู้แทนของผู้รับเหมาก่อสร้างลำดับที่ 1 ถึงที่ 3 ได้แก่ นางชุติกาญจน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด กาญจนาสระแก้วการค้า นายธีรวัฒน์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด โรจนาก่อสร้าง และนายฉัตรชัย หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด อ.วิวัฒน์ก่อสร้างพระพุทธบาท ต่างเบิกความเป็นพยานโจทก์ให้ข้อเท็จจริงในทำนองเดียวกันว่า ห้างของพยานทั้งสามไม่เคยได้รับเอกสารประกาศสอบราคาทั้ง 7 โครงการ และลายมือชื่อของผู้รับเอกสารตามสำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ชป.212 ในหลายโครงการไม่ใช่ลายมือชื่อของพยานหรือลายมือชื่อของผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างของพยานและแม้ลายมือชื่อของผู้รับเอกสารในบางโครงการจะเป็นลายมือชื่อของพยาน แต่ก็เป็นกรณีที่พยานลงลายมือชื่อในเอกสารที่ยังไม่มีกรอกรายละเอียด จึงไม่ทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อในโครงการใด ต่อไปเมื่อตรวจสอบคำเบิกความของผู้แทนของผู้รับส่วนเหมาก่อสร้างลำดับอื่นที่มีรายชื่อในสำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ชป.212 รวม 7 โครงการ ได้แก่ นายชัยธนันท์ กรรมการผู้จัดการของบริษัท ส.ทวีพงษ์ จำกัด นายกรฤทธิ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ดี.อาร์.อาร์ นางวราภรณ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ศิลาสมบัติ นายประกิจ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด คงวิบูลย์ซัพพลาย และนายชูศักดิ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.พิกุลทอง จะเห็นได้ว่า พยานโจทก์ทั้งห้าปากดังกล่าวได้ให้ข้อมูลสอดคล้องกับผู้แทนของผู้รับเหมาก่อสร้างลำดับที่ 1 ถึงที่ 3 ว่า ห้างของพยานไม่เคยได้รับเอกสารประกาศสอบราคาในโครงการต่าง ๆ แม้บางโครงการจะมีการลงลายมือชื่อว่ารับเอกสารแต่ลายมือชื่อดังกล่าวเป็นลายมือชื่อปลอมและแม้บางโครงการ พยานจะได้ลงลายมือชื่อไว้จริง แต่ก็เป็นการลงลายมือชื่อในเอกสารที่ยังไม่มีการกรอกรายละเอียดของโครงการและวันที่รับเอกสาร นอกจากนี้ ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างที่มีรายชื่อเป็นผู้ซื้อซองสอบราคาและยื่นซองสอบราคา ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.พิกุลทอง ในโครงการขุดลอกคลองทับกวาง และห้างหุ้นส่วนจำกัด คงวิบูลย์ซัพพลาย ในโครงการขุดลอกคลองหนองแหนนั้น นายชูศักดิ์ หุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด ท.พิกุลทอง และนายประกิจ ห้างหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างหุ้นส่วนจำกัด คงวิบูลย์ซัพพลาย ได้เบิกความยืนยันตรงกันว่า ห้างของพยานทั้งสองไม่เคยซื้อซองสอบราคาและไม่เคยยื่นซองสอบราคาในโครงการขุดลอกคลองทับกวางและคลองหนองแหนแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อพิเคราะห์ถ้อยคำของพยานโจทก์ทั้งแปดปากข้างต้นแล้ว เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งหลายเบิกความให้รายละเอียดเกี่ยวกับการมีชื่อรับเอกสารประกาศสอบราคา การซื้อซองสอบราคาและการยื่นซองสอบราคาอย่างตรงไปตรงมา ไม่ส่อไปในทางให้ร้ายใส่ความจำเลย ดังจะเห็นได้จากพยานโจทก์ทุกปากมิได้กล่าวหาว่าจำเลยเป็นผู้ปลอมลายมือชื่อของพยานหรือเรียกร้องเอาผลประโยชน์จากพยาน อย่างไรก็ตามข้อเท็จจริงตามคำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งหลายนับว่ามีน้ำหนักให้รับฟังเป็นความจริงได้ว่ารายชื่อผู้รับเหมาก่อสร้างที่ถูกระบุว่าได้รับเอกสารประกาศสอบราคา ชป.212 รวม 7 โครงการ มีการจัดทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามความจริงเพื่อเอื้อประโยชน์ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ธ.ธนิดา คอนสตรัคชั่น บริษัทเอสเอ็มพี เมืองเพรียว คอนสตรัคชั่น จำกัดและบริษัทแสนเมืองทอง จำกัด ซึ่งเป็นผู้ประมูลงานได้ โดยผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นนอกเหนือจากผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งสามรายดังกล่าวต่างไม่มีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างงานขุดลอกคลอง 7 โครงการ และเนื่องจากการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการสอบราคาให้ผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหลายทราบทั้ง 7 โครงการ เป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ของจำเลยผู้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าเจ้าหน้าที่พัสดุโดยตรง จำเลยจึงไม่อาจปฏิเสธความรับผิดในส่วนนี้ได้ ที่จำเลยฎีกาว่า คณะกรรมการสอบสวนทางวินัยวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารการสอบราคาแก่ผู้รับเหมาก่อสร้าง คดีจึงไม่อาจฟังลงโทษจำเลยได้นั้น เห็นว่า ข้อวินิจฉัยของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยไม่มีผลผูกมัดการพิจารณาคดีของศาล โดยศาลมีอำนาจพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งปวงแล้วมีคำวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นแตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยได้ ที่จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่านายสุทธิวัฒน์ ผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลยเป็นผู้มอบเอกสารประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างทุกราย ทั้งนายสุทธิวัฒน์ก็มิได้ให้การปรักปรำว่าจำเลยเป็นผู้สั่งการให้ผู้รับเหมาก่อสร้างลงลายมือชื่อในสำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ชป.212 รวม 7 โครงการไว้ล่วงหน้า กรณีจึงต้องถือว่าจำเลยมิได้กระทำความผิดนั้น เห็นว่า ในชั้นที่นายสุทธิวัฒน์ไปให้การต่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินนั้น นายสุทธิวัฒน์ได้ให้ถ้อยคำโดยสรุปว่า ในโครงการขุดลอกคลองวังยาง คลองบ้านไร่และคลองหนองโป่งเกตุ นายสุทธิวัฒน์ได้ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างลงลายมือชื่อรับเอกสารประกาศสอบราคาไว้ล่วงหน้าและเมื่อมีการประกาศสอบราคาแล้วก็จะกรอกรายละเอียดเกี่ยวกับชื่อและที่อยู่ของผู้รับเหมาก่อสร้างลงในแบบ ชป.212 ภายหลัง จากนั้นได้ส่งเรื่องให้จำเลยดำเนินการต่อไป ซึ่งเมื่อพิจารณาคำให้การของนายสุทธิวัฒน์ดังกล่าวแล้วนับว่าสอดคล้องกับคำเบิกความของผู้แทนของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหลายที่เบิกความเป็นพยานโจทก์ยืนยันว่า พยานไม่เคยได้รับเอกสารประกาศสอบราคาในโครงการขุดลอกคลองทั้ง 7 โครงการ ถ้อยคำของนายสุทธิวัฒน์จึงไม่อาจนำมารับฟังให้เป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ที่จำเลยฎีกาอีกว่าพยานโจทก์ซึ่งเป็นผู้แทนของผู้รับเหมา ก่อสร้างทั้งหลายมิได้เบิกความว่าจำเลยกีดกันการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสอบราคา จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้องนั้น เห็นว่า สำเนาบัญชีขอส่งเอกสารสอบราคา ชป.212 ล้วนมีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ในตอนล่างของเอกสารว่าเป็นผู้แจกเอกสารประกาศสอบราคาให้แก่ผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งหลาย แต่เมื่อข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยเป็นลำดับมาฟังได้ว่าผู้รับเหมาก่อสร้างรายอื่นนอกเหนือจากผู้รับเหมาก่อสร้างสามรายที่ประมูลงานได้ ไม่เคยรับรู้หรือได้รับเอกสารประกาศสอบราคาจ้างเหมาก่อสร้างงานขุดลอกคลองทั้ง 7 โครงการ คดีจึงต้องถือว่า จำเลยกระทำการโดยวิธีปกปิดกีดกัน การรับรู้ข้อมูลข่าวสารการสอบราคาเป็นเหตุให้ผู้อื่นไม่มีโอกาสเข้าทำการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม อันเป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 12 ประกอบมาตรา 7 ดังฟ้อง แม้ผู้รับเหมาก่อสร้างสามรายที่ประมูลงานได้จะเสนอราคาต่ำกว่าราคากลางและปฏิบัติงานสำเร็จเรียบร้อยโดยไม่เกิดความเสียหายแก่ทางราชการดังที่จำเลยฎีกา แต่การประมูลงานได้ของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งสามรายก็เกิดจากการกระทำของจำเลยที่มุ่งหมายมิให้มีการแข่งขันราคาอย่างเป็นธรรม ความสำเร็จในการทำงานของผู้รับเหมาก่อสร้างทั้งสามราย จึงไม่อาจลบล้างความผิดของจำเลยซึ่งเกิดขึ้นก่อนถึงขั้นตอนการเสนอราคาได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า จำเลยมีความผิดและพิพากษาลงโทษจำเลยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน