คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1559/2527

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาก่อสร้างตึกแถวซึ่งจำเลยที่ 2 ทำไว้ต่อจำเลย ที่ 1 เจ้าของที่ดิน ได้ถูกจำเลยที่ 1 บอกเลิกสัญญา ทั้งนี้โดยเกิดจาก ความผิดของจำเลยที่ 2 ซึ่งทิ้งงานไม่ไปทำการก่อสร้างให้เสร็จ สิทธิของจำเลยที่ 2 ที่จะเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพร้อมตึกแถว จำนวน 2 ห้องตามสัญญาจึงหมดสิ้นไป โจทก์ผู้จะซื้อตึกแถวและ ที่ดิน ในฐานะเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 จึงไม่อาจใช้ สิทธิเรียกร้อง แทน จำเลยที่ 2 ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของที่ดิน จำเลยที่ 2 เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญายินยอมให้จำเลยที่ 2 สร้างตึกแถวจำนวน 4 คูหาลงบนที่ดินของจำเลยที่ 1 และหากจำเลยที 2 ก่อสร้างถึงขั้นสอง โดยทำการก่อฝาผนังตึกและเทพื้นเพดานเสร็จ จำเลยที่ 1 จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวหมายเลข 1 และ 2 ตามแบบแปลนให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ได้เข้าทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินพร้อมตึกแถวหมายเลข 2 ต่อจำเลยที่ 2 และได้ชำระเงินให้เป็นบางส่วนแล้วปรากฏว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ได้สร้างตึกแถวถึงชั้นที่สองแล้ว จำเลยที่ 2 เพิกถอนไม่ใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถว 2 คูหา ให้แก่ตน และจำเลยที่ 2 ก็มิได้สร้างตึกแถวให้เสร็จภายในกำหนด ถือได้ว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาทำให้โจทก์เสียหาย ขอให้พิพากษาบังคับจำเลยที่ 1 หรือจำเลยทั้งสองร่วมกันจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้ต่อจำเลยที่ 2 ให้แก่โจทก์และรับเงินส่วนที่เหลือไปจากโจทก์ หากไม่สามารถจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินที่โจทก์ชำระไปแล้วพร้อมทั้งค่าปรับและดอกเบี้ยแก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ก่อสร้างตึกแถวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 9 เดือนตามสัญญา การก่อสร้างไม่แล้วเสร็จและทำผิดแบบแปลน จำเลยที่ 1 ได้บอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 โดยชอบแล้ว จำเลยที่ 1จึงไม่มีหน้าที่ต้องโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมทั้งตึกแถวให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 เพราะโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกันสัญญาระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์ไม่ผูกพันจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินจำนวน 170,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 7 มกราคม 2523 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับชำระเงินค่าปรับจำนวน 26,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราเดียวกันนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้องให้แก่จำเลยที่ 2 แล้วให้จำเลยที่ 2 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินดังกล่าวพร้อมด้วยตึกแถวให้แก่โจทก์ และริบเงิน 195,000 บาทจากโจทก์ หากจำเลยคนหนึ่งคนใดไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาฯ ถ้าไม่สามารถโอนได้ด้วยประการใด ๆก็ให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นพร้อมทั้งดอกเบี้ยให้แก่โจทก์

จำเลยที่ 1 ฎีกา

ศาลฎีการับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 2 ทำการก่อสร้างตึกแถวให้จำเลยที่ 1เจ้าของที่ดินไม่แล้วเสร็จภายในเวลา 9 เดือนตามสัญญา โดยจำเลยที่ 2 ทิ้งงานไปไม่ทำการก่อสร้างให้เสร็จ แล้ววินิจฉัยว่า ตามสัญญาก่อสร้างข้อ 7 ระบุว่าจำเลยที่ 2 ผู้ก่อสร้าง จะต้องก่อสร้างตึกแถวดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเวลา 9 เดือนนับแต่วันทำสัญญาคือวันที่ 29 มกราคม 2522 เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้ทิ้งงานไปไม่ทำการก่อสร้างให้เสร็จภายในเวลา 9 เดือน จึงเป็นการปฏิบัติผิดสัญญาซึ่งจำเลยที่ 1 มีสิทธิบอกเลิกสัญญาเสียได้ ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้มอบให้ทนายความมีหนังสือบอกเลิกสัญญาแก่จำเลยที่ 2 แล้วโดยชอบ เมื่อมีการบอกเลิกสัญญาเสียแล้ว สิทธิของจำเลยที่ 2 ที่เรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวก็หมดไปด้วย โจทก์จึงไม่อาจใช้สิทธิแทนจำเลยที่ 2 ได้

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 1 แล้วให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share