คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1558/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระเบียบของจำเลยว่าด้วยเงินทุนสะสม พ.ศ. 2520 ระบุว่าเมื่อพนักงานบุคคลใดออกจากธนาคาร ให้ธนาคารจ่ายเงินสะสมแก่พนักงานบุคคลนั้น เว้นแต่ในกรณีต้องออกจากงานตามคำสั่งของธนาคาร เพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่หรือกระทำการประมาทเลินเล่อ หรือกระทำการอื่นใดเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหาย… หมายความว่าจำเลยจะไม่ต้องจ่ายเงินทุนสะสมให้แก่พนักงานถ้าพนักงานกระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายโดยตรงต่อทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของจำเลย การที่โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจาร อ. พนักงานในสำนักงานเดียวกัน แต่กระทำนอกสถานที่ทำงานเป็นการกระทำในเรื่องส่วนตัว และมิได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย ทั้งจะถือว่าการกระทำละเมิดต่อ อ. ดังกล่าวเป็นการทำละเมิดต่อจำเลยด้วยหาได้ไม่ โจทก์ไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามความหมายของระเบียบดังกล่าวอันจะทำให้จำเลยไม่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่เป็นธรรม ขอให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานตามเดิม มิฉะนั้นให้จ่ายค่าเสียหาย พร้อมค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย และดอกเบี้ย กับให้ออกหนังสือสำคัญแสดงการผ่านงานแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ได้ปลุกปล้ำลวนลามผู้ใต้บังคับบัญชาของโจทก์ต่อหน้าธานกำนัล ซึ่งเป็นการประพฤติตัวเสื่อมเสียอย่างร้ายแรง และฝ่าฝืนระเบียบ ข้อบังคับ หรือคำสั่งอันชอบด้วยกฎหมายของจำเลยอย่างร้ายแรง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมจำนวน ๖๑,๙๗๖.๖๑ บาท แก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจารนางสาวอรนุช โจทก์ย่อมเล็งเห็นผลอยู่แล้วว่าเป็นการฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของจำเลย และถือได้ว่าเป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลยเป็นเหตุให้จำเลยได้รับความเสียหายเสื่อมเสียชื่อเสียง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์นั้น เห็นว่า การที่โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจารนางสาวอรนุช จำเลยถือว่าเป็นการกระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลย เป็นการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง จึงได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากงาน การที่โจทก์กระทำผิดระเบียบข้อบังคับของจำเลยดังกล่าว หาใช่ว่าจะเป็นการกระทำให้จำเลยได้รับความเสียหายอันจะไม่ต้องจ่ายเงินสะสมด้วยเสมอไป การที่จะจ่ายเงินสะสมแก่พนักงานเมื่อออกจากงานหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาเฉพาะตามระเบียบของจำเลยว่าด้วยเงินทุนสะสม พ.ศ. ๒๕๒๐ เท่านั้น ซึ่งปรากฏจากคำปรารภของระเบียบดังกล่าวว่า “คณะกรรมการธนาคารทหารไทย จำกัด เห็นสมควรที่จะผดุงฐานะพนักงานธนาคาร เมื่อออกจากงานให้มีเงินทุนสะสมไว้เป็นบำเหน็จตามสมควร” และข้อ ๗ ระบุว่า “เมื่อพนักงานบุคคลใดออกจากธนาคาร ให้ธนาคารจ่ายเงินทุนสะสมแก่พนักงานบุคคลนั้น เว้นแต่ในกรณีดังต่อไปนี้….. ๗.๒ ต้องออกจากงานตามคำสั่งของธนาคาร เพราะกระทำการทุจริตในหน้าที่ หรือเพราะกระทำการประมาทเลินเล่อหรือกระทำการอื่นใดเป็นเหตุให้ธนาคารต้องเสียหาย…” ตามระเบียบดังกล่าวนี้เห็นได้ว่า จำเลยจะไม่ต้องจ่ายเงินทุนสะสมให้แก่พนักงานในกรณีที่พนักงานนั้นต้องออกจากงานเพราะกระทำการใดอันเป็นเหตุให้ธนาคารจำเลยต้องเสียหาย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเป็นการกระทำที่ทำให้ธนาคารจำเลยได้รับความเสียหายโดยตรง ซึ่งอาจจะเป็นความเสียหายต่อทรัพย์สินหรือชื่อเสียงของธนาคารจำเลยก็ได้ การที่โจทก์ปลุกปล้ำทำอนาจารนางสาวอรนุชซึ่งเป็นพนักงานในสำนักงานเดียวกัน แต่กระทำนอกสถานที่ทำงาน เป็นการกระทำในเรื่องส่วนตัวของโจทก์และมิได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ทั้งจะถือว่าการกระทำดังกล่าวอันเป็นการกระทำละเมิดต่อนางสาวอรนุช เป็นการทำละเมิดต่อจำเลยด้วยย่อมไม่ได้ การกระทำดังกล่าวของโจทก์จึงยังไม่ได้ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายตามความหมายของระเบียบดังกล่าวอันจะทำให้จำเลยมีสิทธิไม่ต้องจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์ ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายเงินสะสมให้แก่โจทก์มานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share