คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6412/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาทั้งสองสำนวนว่า เหตุที่รถชนกันเกิดจากความประมาทเลินเล่อของโจทก์ที่ 2 แต่เพียงฝ่ายเดียว และค่าเสียหายสูงเกินความจริง ล้วนเป็นการฎีกาโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานและในการกำหนดค่าเสียหาย จึงเป็นฎีกาในข้อเท็จจริง เมื่อสำนวนแรกมีทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในข้อเท็จจริงตามป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
สำหรับสำนวนหลัง แม้จำเลยที่ 1 และที่ 2 จะร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์ทั้งสามเป็นคดีเดียวกันให้ชำระหนี้รวมเป็นเงิน 208,801.55บาท ก็ตาม แต่ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาที่เรียกร้องให้โจทก์ทั้งสามรับผิดต่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้ที่แบ่งแยกได้ การคิดทุนทรัพย์ที่พิพาทในคดีจึงต้องคิดทุนทรัพย์ตามฟ้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แยกต่างหากจากกัน คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องของจำเลยที่ 1 และที่ 2 แม้ว่าคดีในส่วนของจำเลยที่ 2 ซึ่งมีทุนทรัพย์ 165,801.55 บาท จะไม่ต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง แต่เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจฎีกาในข้อเท็จจริงได้ เพราะทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกิน 200,000 บาท ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง
สำหรับคดีในส่วนของจำเลยที่ 1 ซึ่งมีทุนทรัพย์เพียง 43,000 บาท เมื่อศาลชั้นต้นยกฟ้อง คดีย่อมต้องห้ามอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ.มาตรา 224 วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ย่อมเป็นการไม่ชอบเมื่อจำเลยที่ 1 ฎีกาในข้อเท็จจริงดังกล่าวต่อมาก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ต้องห้ามมิให้ฎีกาตาม ป.วิ.พ.มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

Share