คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2534

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ไปเก็บจากลูกค้าเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2526 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2526 และวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 รวมเป็นเงิน 28,989.20 บาท จำเลยที่ 1ได้ชื่อว่าผิดนัดตั้งแต่วันดังกล่าว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 206 โจทก์จึงอาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์รับผิดใช้เงินดังกล่าวนับแต่วันเกิดเหตุตามมาตรา 686อันเป็นวันที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงเริ่มนับแต่วันนั้นมิใช่เริ่มนับตั้งวันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์เมื่อนับถึงวันฟ้องยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชดใช้เงินจำนวน32,664.20 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 28,969.20 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่ายะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดตามสัญญาค้ำประกันเมื่อพ้นกำหนด 10 ปี ฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน32,664.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 28,969.20 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินแก่โจทก์32,664.20 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 28,969.20 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า กำหนดอายุความตามกฎหมายนั้น ให้นับเริ่มแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไป ข้อเท็จจริงได้ความว่าจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันตามเอกสารหมาย จ.4 ยอมรับผิดต่อโจทก์ว่าจหากจำเลยที่ 1 กระทำการบกพร่องอย่างใด ๆ ละเว้นไม่ปฏิบัติการตามหน้าที่หรือละเว้นไม่กระทำการงานที่โจทก์มอบหมายให้กระทำหรือกระทำผิดสัญญาตั้งตัวแทน ทำให้โจทก์เสียหาย เมื่อโจทก์เรียกร้องเอาเงินต่าง ๆ ดังกล่าวจากจำเลยที่ 1 ไม่ได้ จำเลยที่ 1 ยอมรับผิดชอบใช้แทน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ทุจริตยักยอกเงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ไปเก็บจากลูกค้าเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2526 วันที่22 กุมภาพันธ์ 2526 และวันที่ 6 กรกฎาคม 2526 รวมเป็นเงิน 28,989.20บาท จำเลยที่ 1 ได้ชื่อว่าผิดนัดมาตั้งแต่วันดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ดังนั้นโจทก์จึงอาจเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 รับผิดใช้เงินของโจทก์ที่จำเลยที่ 1 ทุจริตยักยอกไปได้ นับแต่วันที่เกิดเหตุดังกล่าวตามมาตรา 686 อันเป็นขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ อายุความจึงนับตั้งแต่นั้นมิใช่นับเริ่มแต่วันที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 วันที่ 29 พฤศจิกายน 2527ยังไม่พ้นกำหนด 10 ปี คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน.

Share