แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์เป็นพนักงานของธนาคารจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ในบังคับของ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการพักงานตามมาตรา 116 และ 117 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 4 (2) เมื่อ พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติเรื่องการพักงานไว้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการทุจริต จำเลยย่อมมีสิทธิพักงานโจทก์เพื่อสอบสวนได้ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงาน หมวด 3 วินัยและโทษทางวินัยข้อ 7 วรรคหนึ่ง
คู่มือและระเบียบปฏิบัติงาน หมวด 3 วินัยและโทษทางวินัยข้อ 7 วรรคสอง ที่กำหนดไว้ว่า “ในระหว่างที่ถูกสั่งพักงาน ธนาคารจะควรจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นใดพี่พึงได้รับหรือไม่อย่างไร กรรมการผู้จัดการใหญ่จะเป็นผู้สั่งการ” เป็นการให้อำนาจกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้พิจารณา เมื่อกรรมการผู้จัดการใหญ่มีคำสั่งให้ไล่โจทก์ออกจากธนาคาร โดยงดจ่ายเงินพึงได้ใดๆ ให้ทั้งสิ้น ประกอบกับตาม ป.พ.พ. มาตรา 575 ลูกจ้างจะได้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์เนื่องจากมีข้อเท็จริงอันควรเชื่อว่าโจทก์มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตซึ่งเป็นคำสั่งพักงานที่ชอบโดยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์และในระหว่างพักงานโจทก์มิได้ทำงานให้แก่จำเลย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนในระหว่างพักงานจากจำเลย
อุทธรณ์ของโจทก์ที่ว่า การสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นของจำเลยไม่ชอบ เพราะรับฟังข้อเท็จจริงจากคำซัดทอดของผู้กระทำผิดที่มุ่งใส่ความโจทก์เพื่อให้ตนเองพ้นผิด รับฟังคำให้การของพยานที่ให้การเท็จโดยไม่สมเหตุผล และเป็นการสอบพยานหลักฐานฝ่ายเดียวโดยไม่ให้โอกาสโจทก์ได้คัดค้านและนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างทำให้รับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยคดี จึงทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง
โจทก์เป็นพนักงานของธนาคารจำเลยซึ่งต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเกี่ยวกับด้านการเงิน การกระทำผิดของโจทก์มีผลเสียหายต่อฐานะการเงินของจำเลย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ประชาชนนำมาฝาก อีกทั้งกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อถือของประชาชนมาก จึงเป็นการฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรง จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 46 (3) ที่ศาลแรงงานกลางอ้าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) มานั้นไม่ถูกต้อง และเมื่อโจทก์ฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
ย่อยาว
คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลแรงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 3 ตามลำดับ และให้เรียกจำเลยทั้งสามสำนวนว่าจำเลย
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เมื่อประมาณปี 2513 โจทก์ที่ 1 เข้าทำงานกับจำเลยตำแหน่งพนักงานบัญชี และได้เลื่อนตำแหน่งตลอดมาเป็นตำแหน่งผู้จัดการสาขาสิงห์บุรี ในช่วงวันที่ 1 มีนาคม 2527 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2535 และตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการเขตประจำสำนักงานเขตภาคกลาง 4 ได้รับเงินเดือนอัตราสุดท้ายเดือนละ 77,395 บาท เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเดือนละ 1,200 บาท เงินช่วยเหลือบุตรเดือนละ 100 บาท รวมค่าจ้างที่โจทก์ที่ 1 ได้รับทั้งสิ้นเดือนละ 78,695 บาท และยังได้รับเงินโบนัสงวดบัญชี 6 เดือน เท่ากับเป็นเงินเดือน 2 เดือน รวมปีละ 2 งวด เท่ากับ 4 เดือน โจทก์ที่ 2 ทำงานกับจำเลยเมื่อประมาณปี 2515 ตำแหน่งพนักงานบริการที่สาขาสิงห์บุรี ตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานระดับ 3 ประจำสำนักงานเขตภาค 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 21,835 บาท เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเดือนละ 1,200 บาท รวมค่าจ้างที่โจทก์ที่ 2 ได้รับเดือนละ 23,035 บาท และได้รับเงินโบนัสงวดบัญชี 6 เดือน เท่ากับเงินเดือน 2 เดือน รวมปีละ 2 งวด เท่ากับ 4 เดือน โจทก์ที่ 3 ทำงานกับจำเลยเมื่อประมาณปี 2513 ตำแหน่งพนักงานการเงิน ในช่วงตั้งแต่วันที่ 16 กันยายน 2530 ถึงวันที่ 22 เมษายน 2542 โจทก์ที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสิงห์บุรีตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานระดับ 6 ประจำสาขาเขตภาคกลาง 1 ได้รับค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 49,685 บาท เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเดือนละ 1,200 บาท เงินช่วยเหลือบุตรเดือนละ 50 บาท เงินช่วยเหลือการศึกษาบุตรเดือนละ 1,270 บาท รวมค่าจ้างที่โจทก์ที่ 3 ได้รับเดือนละ 52,205 บาท และโจทก์ที่ 3 ยังมีสิทธิได้รับเงินโบนัสตามงวดปิดบัญชี 6 เดือน เท่ากับเงินเดือน 2 เดือนรวมปีละ 2 งวด เท่ากับ 4 เดือน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 จำเลยได้มีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งสามและพนักงานอื่นรวม 4 คนโดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้องกับการถูกร้องเรียนกล่าวหาว่ากระทำการทุจริตในขณะโจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาสิงห์บุรี โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาสิงห์บุรี (ที่ถูกพนักงานเทเล้กซ์สาขาสิงห์บุรี) และโจทก์ที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยจัดการสาขาสิงห์บุรีและให้งดจ่ายเงินเดือน เงินช่วยเหลือดังกล่าวและเงินได้อื่นใดที่พึงได้ทั้งสิ้น ต่อมาจำเลยสอบสวนการกระทำความผิดดังกล่าว จนในที่สุดเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 จำเลยได้มีคำสั่งเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามและพนักงานอื่นรวม 4 คน ให้มีผลเลิกจ้างย้อนหลังไปถึงวันที่ 9 ธันวาคม 2542 โดยอ้างเหตุว่าโจทก์ทั้งสามกับพวกได้ร่วมมือกันพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อในลักษณะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โดยฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งธนาคารจำเลย เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ผิดวินัยพนักงานอย่างร้ายแรง ทำให้จำเลยได้รับความเสียหายจากการที่ไม่สามารถหนี้คืนจากลูกค้าของจำเลยที่สาขาสิงห์บุรีจำนวน 61 ราย เป็นเงิน 42,058,782.60 บาท และจำเลยประสงค์จะดำเนินการให้โจทก์ทั้งสามกับพวกรับผิดทางแพ่งชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลย ต่อมาโจทก์ทั้งสามได้อุทธรณ์โทษทางวินัยและความผิดทางแพ่ง แต่จำเลยมีคำสั่งยืนโทษทางวินัยและความรับผิดทางแพ่งตามเดิม กางสั่งพักงานและเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามไม่ชอบกฎหมายเพราะจำเลยทำการสอบสวนโดยรวบรัด ไม่ได้แสวงหาพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดอย่างแท้จริง เป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสาม โจทก์ทั้งสามได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามระเบียบข้อบังคับของจำเลยทุกประการ ไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายตามที่จำเลยกล่าวหา การเลิกจ้างดังกล่าวจึงเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับค่าจ้างระหว่างพักงาน สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส เงินสะสมและเงินสมทบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และค่าเสียหายเกิดจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พร้อมดอกเบี้ยของเงินดังกล่าวตามคำขอของโจทก์แต่ละสำนวน ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินดังกล่าวแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามสำนวนให้การทำนองเดียวกันว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โจทก์ทั้งสามเป็นพนักงานของจำเลย แต่จำเลยได้มีคำสั่งไล่โจทก์ทั้งสามออกเพราะเมื่อครั้งที่โจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาสิงห์บุรี โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งพนักงานเทเล็กซ์ สาขาสิงห์บุรี โจทก์ที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสิงห์บุรี ได้ร่วมกับพนักงานอื่นพิจารณาอนุมัติสินเชื่อในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวก โดยฝ่าฝืนระเบียบคำสั่งของจำเลยจนเป็นเหตุก่อให้เกิดลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระหนี้คืนรวม 61 ราย ยอดหนี้เพียงวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 เป็นเงิน 42,058,782.60 บาท การกระทำดังกล่าวของโจทก์ทั้งสามทำให้จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการแสวงหาประโยชน์จากจำเลยโดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ผิดวินัยพนักงานอย่างร้ายแรง จำเลยได้สอบสวนการกระทำของโจทก์ทั้งสามแล้วพบว่า โจทก์ทั้งสามทุจริตต่อหน้าที่และมีพฤติกรรมแสวงหาประโยชน์จากจำเลยหรือบุคคลภายนอกเพื่อตนเองหรือบุคคลอื่นและหรือทำให้จำเลยได้รับความเสียหายและมีหลักฐานปรากฏชัด ถือว่าเป็นการผิดวินัยอย่างร้ายแรง จึงมีคำสั่งไล่ออกอันเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม และเมื่อโจทก์ทั้งสามกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงจำเลยจึงงดจ่ายเงินพึงได้ใดๆ ให้แก่โจทก์ทั้งสาม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม แต่ไม่ตัดสิทธิที่โจทก์ที่ 1 และที่ 3 ฟ้องเรียกเงินสะสมจากจำเลยภายในอายุความ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ศาลแรงงานกลางรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลยโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 เป็นลูกจ้างเมื่อปี 2513 โจทก์ที่ 2 เป็นลูกจ้างจำเลยเมื่อปี 2515 โจทก์ที่ 1 มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นผู้จัดการเขตประจำสำนักงานเขตภาคกลาง 4 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 78,695 บาท โจทก์ที่ 2 มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานระดับ 3 ประจำสำนักงานเขตภาคกลาง 1 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 23,035 บาท โจทก์ที่ 3 มีตำแหน่งสุดท้ายเป็นพนักงานระดับ 6 ประจำสาขาเขตภาคกลาง 1 ค่าจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 52,205 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างให้โจทก์ทั้งสามทุกวันที่ 23 ของเดือนและโจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินโบนัสงวดปิดบัญชี 6 เดือน เท่ากับเงินเดือน 2 เดือน ของโจทก์แต่ละคนรวมปีละ 2 งวด เท่ากับ 4 เดือน เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2542 จำเลยได้สั่งพักงานโจทก์ทั้งสามและนายดำรงค์ บุญสนอง โดยอ้างว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้องกับการร้องเรียนกล่าวหาว่าทุจริตในขณะโจทก์ที่ 1 ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาสิงห์บุรี โจทก์ที่ 2 ดำรงตำแหน่งพนักงานเทเล็กซ์ และโจทก์ที่ 3 ดำรงตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการสาขาสิงห์บุรีให้งดจ่ายเงินเดือนและเงินได้อื่นใดทั้งสิน โดยก่อนที่จะมีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งสามมีนายดำรงค์ บุญสนอง และลูกค้าจำนวนหนึ่งร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตสินเชื่อ ตามเอกสารหมาย ล.8/1 จำเลยจึงมอบหมายให้นายสุวัฒน์ เจริญพานิช หัวหน้าพนักงานตรวจสอบ ฝ่ายตรวจสอบและนายวันชัย อนุภาพสโมสร หัวหน้าส่วนงานบริหารวินัย ฝ่ายสวัสดิการและแรงงานสัมพันธ์ กับพวกรวม 5 คน เป็นคณะกรรมการตรวจสอบหาความผิดตามที่ร้องเรียน คณะกรรมการดังกล่าวได้ทำการตรวจสอบโดยสอบปากคำโจทก์ทั้งสาม พนักงานของจำเลย ลูกค้า พร้อมทั้งเอกสารหมาย ล.8 (1 ชุด) แล้ว คณะกรรมการตรวจสอบได้เสนอรายงานการตรวจสอบตามเอกสารหมาย ล.13 ให้แก่จำเลย นายสุภาพ สุขพงษ์ รองผู้จัดการฝ่ายตรวจสอบจึงเสนอความเห็นต่อกรรมการผู้จัดการใหญ่ให้โจทก์ทั้งสามกับพวกรับผิดในหนี้ของลูกค้าจำเลยและรับพิจารณาโทษตามควรตามเอกสารหมาย ล.14 กรรมการผู้จัดการใหญ่ได้สั่งตั้งกรรมการพิจารณาวินัยพนักงาน ให้พิจารณาความผิดของโจทก์ทั้งสามกับพวก คณะกรรมการพิจารณาวินัยพนักงานพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า โจทก์ทั้งสามกับพวกได้ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อในลักษณะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกโดยฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของธนาคาร รวม 10 ข้อกล่าวหา เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ ผิดวินัยอย่างร้ายแรง ให้ไล่โจทก์ทั้งสามและนายดำรงค์ออกจากการเป็นพนักงานโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใดๆ ทั้งสิ้น ต่อมาในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 จำเลยโดยกรรมการผู้จัดการใหญ่จึงมีคำสั่งไล่โจทก์ทั้งสามและนายดำรงค์ออกจากการเป็นพนักงานของจำเลยโดยงดจ่ายเงินพึงได้ใดๆ ทั้งสิ้นและให้ร่วมกันรับผิดชอบทางแพ่งชดใช้ความเสียหายคืนจำเลย โดยอ้างว่าผู้กล่าวหาได้ร่วมกันพิจารณาและอนุมัติสินเชื่อในลักษณะเอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ตนเองและพวกโดยฝ่าฝืนระเบียบและคำสั่งของธนาคารรวม 9 ข้อกล่าวหา ซึ่งเป็นการผิดระเบียบ ก่อให้เกิดหนี้มีปัญหาการชำระหนี้รวม 61 ราย ยอดหนี้เพียงที่ 31 พฤษภาคม 2542 เป็นเงิน 42,058,782.60 จำเลยได้รับความเสียหาย เป็นการแสวงหาประโยชน์จากธนาคารโดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นการทุจริตต่อหน้าที่ผิดวินัยอย่างร้ายแรงให้มีผลตั้งแต่วันที่ 9 ธันวาคม 2542 ซึ่งเป็นวันพักงานตามเอกสารหมาย ล.2 โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์เรื่องลงโทษทางวินัยและความรับผิดทางแพ่ง คณะกรรมการอุทธรณ์พิจารณาแล้วมีคำสั่งยืนตามคำสั่งเดิม รวมระยะเวลาที่โจทก์ทั้งสามทำงานกับจำเลยติดต่อกันจนกระทั่งถูกไล่ออกโดยโจทก์ที่ 1 และที่ 3 ทำงานนาน 29 ปีเศษ โจทก์ที่ 2 ทำงานนาน 27 ปีเศษ โจทก์ทั้งสามมีสิทธิในวันหยุดพักผ่อนประจำปีคนละ 15 วัน สามารถสะสมได้ 2 ปี โจทก์ทั้งสามยังไม่ได้ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 30 วัน ระหว่างที่โจทก์ทั้งสามยังไม่ได้ใช้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีรวม 30 วัน ระหว่างที่โจทก์ทั้งสามเป็นลูกจ้างจำเลย โจทก์ทั้งสามเป็นสมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งจดทะเบียนแล้ว โจทก์ทั้งสามมีสิทธิได้รับเงินสะสมของโจทก์ทั้งสามคืนโดยโจทก์ที่ 2 ได้รับเงินส่วนนี้คืนไปแล้ว และโจทก์ทั้งสามกับจำเลยต่างยอมรับว่า ถ้าโจทก์ทั้งสามมิได้กระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวหา จำเลยย่อมจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี เงินโบนัส เงินสะสมกับเงินสมทบให้แก่โจทก์ทั้งสาม แต่ถ้าโจทก์ทั้งสามกระทำผิดตามที่จำเลยกล่าวหาจำเลยไม่ต้องจ่ายเงินตามที่ยอมรับ เว้นแต่จะคืนให้เฉพาะเงินสะสมของโจทก์ทั้งสามที่จำเลยได้หักไว้เท่านั้น ศาลแรงงานกลางได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนแล้วรับฟังข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัย โจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติให้นางทองปอน สุขดี กู้เงินตามเอกสารหมาย ล.10/1 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2534 และกู้ซ้ำซ้อนตลอดมาหลายครั้งจนถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2534 โดยโจทก์ที่ 1 มิได้ทำสัญญากู้เพียงแต่ตั้งบัตรบัญชีลอยเท่านั้น โจทก์ที่ 3 ได้นำนางคัมภีร์ ด้วงเงิน มากู้เงินจากจำเลยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2535 จำนวน 500,000 บาท เพื่อนำไปชำระหนี้ให้ลูกหนี้ของจำเลยตามบัญชีกระแสรายวันเอกสารหมาย ล.8/6 ชำระหนี้นายถวิล เอมอินทร์ 13,500 บาท นายพิชัย ทิมเทพย์ 86,000 บาท นายเรี่ยม หมวดรุ่ง 10,000 บาท นางสาวนพรัตน์ บุษบรรณ์ 84,000 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 4,000 บาท นายประดิษฐ์ กัณฑานุลักษณ์ 30,000 บาท นายสถิต คล้ายทอง 5,000 บาท นางสุภาพร บุญสถิตย์ ภรรยาโจทก์ที่ 2 จำนวน 120,000 บาท การชำระหนี้ดังกล่าวได้มีการชำระหนี้ให้แก่ลูกหนี้ในกลุ่มของโจทก์ที่ 2 ได้แก่ นายเรี่ยม หมวดรุ่ง นายวิชัย ทิมเทพย์ เพื่อซื้อที่ดินเก็งกำไร โดยมีโจทก์ที่ 2 ร่วมดำเนินการกับโจทก์ที่ 3 ด้วย โจทก์ที่ 2 ได้สร้างลูกหนี้ นาวสาวนพรัตน์ บุษบรรณ์และนายระเวง ขำวิบูลย์ เท็จโดยตัวลูกหนี้ไม่ประสงค์กู้เงิน แต่ได้นำเอกสารเปล่าให้ลูกหนี้เซ็นชื่อเพื่อให้กู้เงินจากธนาคารจำเลย โดยนางสาวนพรัตน์ได้ทำสัญญากู้เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2534 กู้จำนวน 150,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.9/2 และวันที่ 7 พฤศจิกายน 2534 กู้จำนวน 800,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.9/5 และนายระเวงกู้เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2533 จำนวน 800,000 บาทตามบันทึกถ้อยคำของนายระเวงเอกสารหมาย ล.11/1 โดยโจทก์ที่ 2 ประสงค์ซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร โจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติให้ภรรยาโจทก์ที่ 1 กู้เงินจากจำเลย 520,000 บาท เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2535 ตามเอกสารหมาย ล.11/3 โดยโจทก์ที่ 1 ไม่มีอำนาจให้กู้และไม่ได้ทำสัญญากู้ไว้ คงตั้งบัตรบัญชีเงินกู้ลอยหรือการ์ดบัญชีลอยและไม่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจของจำเลย การกระทำของโจทก์ที่ 1 จึงผิดระเบียบ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2535 ภรรยาโจทก์ที่ 3 ได้กู้เงินจากจำเลยโดยไม่ได้ทำสัญญากู้ไว้คงมีแต่บัตรบัญชีเงินกู้ลอยตามเอกสารหมาย ล.11/5 และมีที่ดินว่างเปล่าของภรรยาโจทก์ที่ 3 จำนองไว้ทางทะเบียนเท่านั้นโดยไม่มีสัญญาจำนองการอนุมัติให้กู้ดังกล่าว โจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติให้กู้ไปโดยไม่มีอำนาจเพราะไม่ได้รับอนุมัติจากผู้มีอำนาจ การกระทำของโจทก์ที่ 1 เป็นการผิดระเบียบ โดยมีโจทก์ที่ 3 ร่วมกระทำผิด และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกันพานายวิชัย ทิมเทพย์ นายเรี่ยม หมวดรุ่ง นายชั้น เนื้อแน่น นางแสง เนื้อแน่น มากู้เงินประจำจากจำเลยเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2533 คนละ 150,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญากู้คงมีแต่บัตรบัญชีเงินกู้ลอยตามเอกสารหมาย ล.11/7 ล.11/5 แผ่นที่ 9 ล.11/5 แผ่นที่ 10 ล.11/6 แผ่นที่ 10 ล.116 แผ่นที่ 11, 12 เพื่อนำไปจ่ายเงินให้แก่ภรรยาโจทก์ที่ 3 ตามเอกสารหมายล.11/6 แผ่นที่ 3 โดยผิดวัตถุประสงค์ในการกู้ เป็นการกระทำผิดระเบียบ โจทก์ที่ 2 ได้นำชื่อนายระเวงพนักงานจำเลยกู้เงินจำเลย 800,000 บาท ดังกล่าวข้างต้น และโจทก์ที่ 3 ได้ใช้ชื่อนายสมพร วานิชกูล กู้เงินจากจำเลยเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2533 วงเงินกู้ 800,000 บาท ตามเอกสารหมาย ล.11/8 โดยนายสมพรและนายระเวงมิได้รับเงินกู้ เป็นผู้ชำระเงินกู้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงผิดระเบียบ ในปี 2534 ถึง 2535 โจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติให้ลูกหนี้ในกลุ่มของนายดำรงค์ บุญสนอง กลุ่มโจทก์ที่ 2 และกลุ่มโจทก์ที่ 3 เบิกเกินวงเงินที่อยู่ในอำนาจของโจทก์ที่ 1 โดยเกินกำหนด 10 เปอร์เซ็นต์ ตามเอกสารหมาย ล.11/9 โดยการอนุมัติไม่ก่อให้เกิดภาระหนี้สิ้นที่โจทก์ที่ 1 จะต้องรับผิดต่อจำเลย แต่การกระทำของโจทก์ที่ 1 เป็นการผิดระเบียบตามข้อกล่าวหาข้อ 6 ของจำเลยในขณะที่โจทก์ที่ 1 เป็นผู้จัดการสำนักงานเขตภาคกลาง 2 โจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติเงินกู้รายนางภักดี บุญเกษม นายบัณฑิต บุษบรรณ์ นายบุญมี สุขสถิตย์ และนางพเยาว์ รุ่งเลิศ กลุ่มนายดำรงค์และกลุ่มโจทก์ที่ 2 รายนายพิชัย ดิษฐาน นางประเสริฐ แสงพันธ์ โดยผู้จัดการสาขาสิงห์บุรีมิได้สอบลูกหนี้ผู้กู้ก่อนซึ่งกู้เกินอำนาจผู้จัดการสาขาสิงห์บุรีและพระภิกษุเป็นผู้ค้ำประกันรายนายพิชัยผู้กู้ซึ่งโจทก์ที่ 1 ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว การกระทำของโจทก์ที่ 1 จึงกระทำผิดต่อระเบียบ โจทก์ที่ 1 ได้อนุมัติลูกหนี้จำเลยมาค้ำประกันหนี้รายอื่นและอนุมัติให้ผู้ค้ำประกันลูกหนี้จำเลยมากู้อีก การกระทำของโจทก์ที่ 1 จึงฝ่าฝืนผิดระเบียบของจำเลยตามข้อกล่าวหาข้อ 6 ของจำเลยนั้น เมื่อได้พิเคราะห์ถึงวันเดือนปีที่ได้มีการกระทำผิดระเบียบของโจทก์ทั้งสามและพฤติการณ์ของลูกหนี้จำเลยแต่ละรายที่มีความสัมพันธ์กับได้อนุมัติให้ลูกหนี้ต่างก็เกี่ยวเนื่องกันตลอด ในทางสามีภรรยา ญาติฝ่ายภรรยา ผู้ร่วมงาน การกระทำผิดระเบียบดังกล่าวย่อมรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสามได้ร่วมกันกระทำผิดระเบียบเพื่อมุ่งประสงค์ซื้อที่ดินเก็งกำไร การกระทำของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นการกระทำที่ผิดที่จำเลยได้กล่าวหาในข้อ 1 ข้อ 3 ข้อ 4 ข้อ 5 และ ข้อ 6 แม้การกระทำความผิดของโจทก์ทั้งสามบางกรณีไม่ก่อให้จำเลยเสียหาย แต่ส่วนใหญ่ก็ได้ก่อให้จำเลยเสียหายจนเป็นเหตุให้จำเลยไม่สามารถเรียกหนี้สินจากลูกหนี้ได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสามถือได้ว่าฝ่าฝืนข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานหรือระเบียบหรือคำสั่งของนายจ้างอันชอบด้วยกฎหมายและการฝ่าฝืนนั้นเป็นกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 119 (4) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งพาณิชย์ มาตรา 583 และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร มิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสาม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสาม ข้อ 2.1 ว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ทั้งสามตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 116 และ 117 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า โจทก์เป็นพนักงานของจำเลยซึ่งเป็นรัฐวิสากิจซึ่งอยู่ในบังคับของพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 จึงไม่อาจนำบทบัญญัติเรื่องการพักงานตามมาตรา 116 และ 117 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาใช้บังคับได้ตามมาตรา 4 (2) เมื่อพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มิได้บัญญัติเรื่องการพักงานไว้ จึงต้องเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลย โจทก์ทั้งสามถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการทุจริต จำเลยย่อมมีสิทธิพักงานโจทก์ทั้งสามเพื่อสอบสวนได้ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานเอกสารหมาย ล.1 หมวด 3 วินัยและโทษทางวินัยข้อ 7 วรรคหนึ่ง คงมีปัญหาว่าจำเลยต้องจ่ายค่าจ้างหรือเงินเดือนในระหว่างพักงานให้แก่โจทก์ทั้งสามหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานเอกสารหมาย ล.1 หมวด 3 วินัยและโทษทางวินัย ข้อ 7 วรรคสอง กำหนดไว้ว่า “ในระหว่างที่ถูกสั่งพักงานธนาคารจะควรจ่ายเงินเดือนหรือเงินอื่นใดที่พึ่งได้รับหรือไม่อย่างไรกรรมการผู้จัดการใหญ่จะเป็นผู้สั่งการ” ซึ่งตามคู่มือและระเบียบปฏิบัติงานดังกล่าวให้อำนาจกรรมการผู้จัดการใหญ่เป็นผู้พิจารณา เมื่อกรรมการผู้จัดการใหญ่มีคำสั่งที่ ธ.465/2543 ลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 ให้ไล่โจทก์ทั้งสามออกจากธนาคาร โดยงดจ่ายเงินพึงได้ใดๆ ให้ทั้งสิ้น ประกอบกับตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 575 ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่าจ้างแรงงานนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าลูกจ้างตกลงทำงานให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่านายจ้าง และนายจ้างตกลงจะให้สินจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้” หมายความว่า ลูกจ้างจะได้ค่าจ้างตลอดเวลาที่ลูกจ้างทำงานให้แก่นายจ้าง เมื่อจำเลยมีคำสั่งพักงานโจทก์ทั้งสามเนื่องจากมีข้อเท็จจริงอันควรเชื่อว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตซึ่งเป็นคำสั่งพักงานที่ชอบโดยไม่ได้กลั่นแกล้งโจทก์ทั้งสาม และในระหว่างพักงานโจทก์ทั้งสามมิได้ทำงานให้แก่จำเลย จึงไม่มีสิทธิได้ค่าจ้างหรือเงินเดือนในระหว่างพักงานจากจำเลย อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อ 2.2 ซึ่งโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า คำสั่งของจำเลยตามเอกสารหมาย ล.2 ที่สั่งไล่โจทก์ทั้งสามออกจากงานเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะจำเลยไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบของธนาคารจำเลยนั้น เห็นว่า ในข้อนี้โจทก์ทั้งสามฟ้องกล่าวอ้างว่าจำเลยทำการสอบสวนโจทก์ทั้งสามโดยรวบรัดไม่ได้แสวงพยานหลักฐานในการพิสูจน์ความผิดอย่างแท้จริง โจทก์ทั้งสามไม่ได้กล่าวอ้างว่าจำเลยไม่ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนตามระเบียบของจำเลยหรือไม่ อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ทั้งสามจึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่าการสอบสวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นของจำเลยก็ไม่ชอบ เพราะรับฟังข้อเท็จจริงจากคำซัดทอดของผู้กระทำผิดที่มุ่งใส่ความโจทก์ทั้งสามเพื่อให้ตนเองพ้นผิด รับฟังคำให้การของพยานที่ให้การเท็จโดยไม่สมเหตุผล และเป็นการสอบพยานหลักฐานฝ่ายเดียวโดยไม่ให้โอกาสโจทก์ทั้งสามได้คัดค้านและนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์หักล้างทำให้รับฟังข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน เป็นเหตุให้ศาลแรงงานกลางนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยคดี จึงทำให้การวินิจฉัยคดีของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง ถือเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสามข้อ 2.3 ว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) ไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 583 และเป็นการเลิกจ้างที่มีเหตุอันสมควร ไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสามนั้นเป็นคำวินิจฉัยที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ โดยโจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ว่า ศาลต้องพิจารณาว่าการกระทำของโจทก์ทั้งสามเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหรือระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานอันชอบด้วยกฎหมายและเป็นธรรมของจำเลยหรือไม่แล้วจึงพิเคราะห์ต่อไปว่าการฝ่าฝืนนั้นร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งจะต้องพิเคราะห์ในการกระทำแต่ละกรณีไป มิใช่พิจารณาสรุปรวมว่า โจทก์ทั้งสามกระทำผิดระเบียบทั้ง 9 ข้อหา และทั้งหมดทุกข้อหาเป็นการฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรงเนื่องจากบางข้อหาเกี่ยวพันโจทก์คนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ โดยที่โจทก์บางคนมิได้มีส่วนเกี่ยวข้อง หากฟังว่าโจทก์คนใดกระทำผิดโจทก์อีกคนอาจไม่ได้กระทำผิดก็ได้ แม้จะฟังว่ามีการกระทำความผิดแต่บางข้อหาอาจร้ายแรง บางข้อหาอาจไม่ร้ายแรง โจทก์บางคนอาจทำผิดในข้อหาไม่ร้ายแรงที่จำเลยจะเลิกจ้างก็ได้ และโจทก์ทั้งสามยังไม่ได้อุทธรณ์แยกเป็นข้อย่อย ข้อ 2.3.1 ถึง 2.3.6 ว่าการกระทำข้อใดไม่เป็นการฝ่าฝืน ข้อใดเป็นการฝ่าฝืนที่ไม่ร้ายแรง แต่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยรวมมาว่าเป็นการฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรง จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบนั้น คดีนี้จำเลยกล่าวหาว่าโจทก์ทั้งสามมีส่วนรวมในการทุจริตกับผู้อื่นรวม 13 ข้อหา ซึ่งเป็นการร่วมกระทำความผิดที่เชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน จึงต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำผิดทั้งหมดเกี่ยวเนื่องกัน ซึ่งศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่าโจทก์ทั้งสามกระทำผิดเพียง 9 ข้อหา โดยสรุปว่าโจทก์ทั้งสามได้อนุมัติให้มีการปล่อยกู้โดยไม่มีอำนาจ ปล่อยให้กู้ซ้ำซ้อน ปล่อยให้กู้โดยไม่ได้ทำสัญญากู้ คงมีแต่บัตรบัญชีเงินกู้ลอยนำชื่อลูกค้ามาเป็นผู้กู้จากจำเลยโดยที่ไม่ได้กู้จริง ปล่อยเงินกู้เกินอำนาจ อนุมัติให้ผู้ค้ำประกันหนี้รายอื่นแล้วมาเป็นผู้ค้ำประกันอีกเห็นว่า โจทก์ทั้งสามเป็นพนักงานของธนาคารจำเลยซึ่งต้องได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเกี่ยวกับด้านการเงิน การฝ่าฝืนดังกล่าวของโจทก์ทั้งสามมีผลเสียหายต่อฐานะการเงินของจำเลย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเงินที่ประชาชนนำมาฝาก อีกทั้งกระทบต่อชื่อเสียงและความเชื่อถือของประชาชนมาก การฝ่าฝืนของโจทก์ทั้งสามดังกล่าวจึงเป็นการฝ่าฝืนในกรณีร้ายแรง จำเลยสามารถเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2534 มาตรา 11 (1) และมาตรา 11 วรรคสอง ประกอบระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ.2534 ข้อ 46 (3) ที่ศาลแรงงานกลางอ้างพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 119 (4) มานั้นไม่ถูกต้อง และเมื่อโจทก์ทั้งสามฝ่าฝืนคำสั่งระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของจำเลยในกรณีร้ายแรง จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามโดยไม่ต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และการเลิกจ้างโจทก์ทั้งสามกรณีดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่เหตุอันสมควร จึงมิใช่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์โจทก์ทั้งสามทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.