คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1551/2503

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยซึ่งเป็นครูใหญ่ประชาบาลกล่าวว่าผู้เสียหายซึ่งเป็นนายอำเภอว่าไม่เป็นประชาธิปไตย โดยบังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกคนที่ผู้เสียหายชอบ ถ้าใครไม่เลือกก็ไม่ขอเงินเดือนขึ้นให้ นั้น ถ้อยคำที่กล่าวนี้ ถ้าเป็นความจริง ก็ถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณชนเพราะการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอันเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยนี้ต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
อนึ่ง ที่จำเลยกล่าวว่า “การทำทำนบผู้เสียหายไม่ทำตามคำพูด ทำงานไม่ขาวสอาด” นั้น เมื่อได้ความว่าผู้เสียหายเป็นกรรมการขุดบ่อน้ำ ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินขุดสระแต่ใช้ไปครึ่งเดียว จำเลยซึ่งเป็นกรรมการร่วมด้วยรวมทั้งผู้ใหญ่บ้านได้ขอให้ผู้เสียหายนำเงินที่เหลือมาทำทำนบเพื่อกักน้ำไว้บริโภคโดยผู้เสียหายตกลงจะซื้อปูนซิเมนต์ส่งมาให้ แต่ผู้เสียหายได้เอาเงินที่เหลือไปใช้จ่ายทางอื่นโดยมิได้ให้จำเลยทราบ การทำทำนบจึงไม่เสร็จ ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวจึงเป็นการกล่าวโดยสุจริตและอยู่ในวิสัยของการติชม ไม่เป็นผิดฐานหมิ่นประมาท
การกล่าวที่จะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136 ต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ถ้าเป็นการนอกหน้าที่แล้ว กรณีหาเข้ามาตรานี้ไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้บังอาจกล่าววาจาหมิ่นประมาทใส่ความนายแคล้ว โกศลวรรธนะ นายอำเภอท่าลี่ซึ่งหน้าและต่อหน้าผู้มีชื่ออีกหลายคน และได้บังอาจร่วมกับราษฎรอีก 9 คน ยื่นคำร้องทุกข์โฆษณากล่าวโทษหมิ่นประมาทใส่ความนายแคล้วต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328, 136, 90, 91 และ 322(2)

จำเลยให้การปฏิเสธ ต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 136, 326 วางโทษจำคุก 2 เดือน ปรับ 600 บาท คำให้การของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดี ปรานีลดโทษให้กึ่งหนึ่งคงจำคุก1 เดือน ปรับ 300 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี

โจทก์จำเลยต่างอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า ถ้อยคำของจำเลยที่กล่าวตามที่ศาลล่างฟังมา คือ

1. ผู้เสียหายไม่เป็นประชาธิปไตย โดยบังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกคนที่ผู้เสียหายชอบ ถ้าใครไม่เลือกก็ไม่ขอเงินเดือนขึ้นให้ นั้น เห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยกล่าวนี้ ถ้าเป็นความจริงก็ถือได้ว่าเป็นประโยชน์แก่สาธารณชน เพราะการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรอันเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของราษฎรผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตามที่จำเลยนำสืบ มีเหตุผลให้น่าเชื่อว่าเป็นความจริง จำเลยจึงควรได้รับการยกเว้นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 330

2. ส่วนข้อที่จำเลยกล่าวว่า การทำทำนบ ผู้เสียหายไม่ทำตามคำพูด ทำงานไม่ขาวสะอาดนั้นเล่า ตามท้องสำนวนก็ได้ความว่า จำเลยเป็นครูใหญ่โรงเรียนประชาบาลบ้านโคกใหญ่ และเป็นกรรมการหมู่บ้านช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้านด้วย ส่วนผู้เสียหายก็เป็นกรรมการดำเนินการขุดบ่อน้ำ สระน้ำ และเป็นเจ้าพนักงานควบคุมดูแลราชการบริหารส่วนท้องที่ ในปี พ.ศ. 2498 ผู้เสียหายได้รับอนุมัติให้ใช้เงินจัดระบบอาชีพจำนวน 4,000 บาท ทำการขุดสระที่บ้านโคกใหญ่ได้ใช้จ่ายเงินไปเพียง 2,000 บาท ซึ่งจำเลยนี้ก็ได้เป็นกรรมการอยู่ด้วยจำเลยและผู้ใหญ่บ้านโคกใหญ่ได้ร้องขอผู้เสียหายให้นำเงินที่เหลือมาทำทำนบเพื่อกักน้ำไว้บริโภค แต่โดยเหตุที่ผู้เสียหายได้กันเอาเงินที่เหลือจากการขุดสระไปทำการขุดบ่อน้ำที่อื่น จึงจัดซื้อปูนส่งมาทำทำนบรายนี้ได้เพียง 20 ถุง และผู้เสียหายก็มิได้แจ้งเหตุให้จำเลยและราษฎรบ้านโคกใหญ่ทราบว่าเงินที่เหลือจากการขุดสระน้ำได้ใช้จ่ายไปทางอื่น ถ้อยคำที่จำเลยกล่าวถือได้ว่าเป็นการกล่าวโดยสุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 และอยู่ในวิสัยของการติชมตามมาตรานั้นด้วย การกระทำของจำเลยหาเป็นผิดฐานหมิ่นประมาทไม่

ส่วนในปัญหาที่ว่า การพูดของจำเลยจะเป็นการดูหมิ่นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 หรือไม่นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าที่จะเป็นความผิดตามมาตรานี้ ต้องเป็นเรื่องเจ้าพนักงานกระทำการตามหน้าที่หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ แต่ในเรื่องเลือกตั้งนายแคล้ว โกศลวรรธนะ ได้บังคับให้ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเลือกตั้งคนที่ผู้เสียหายต้องการ การกระทำเช่นนี้เป็นการนอกหน้าที่จึงหาเข้ามาตรา 136 ไม่ ส่วนที่จำเลยพูดเรื่องทำนบก็เป็นการกล่าวโดยสุจริตและอยู่ในวิสัยของการติชมธรรมดาในฐานะที่ผู้เสียหายก็เป็นกรรมการอยู่ด้วย ไม่ต้องด้วยมาตรา 136เช่นเดียวกัน

จึงพิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์

Share