แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากสินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหาย หรือมีการส่งมอบชักช้านั้น ไม่จำเป็นต้องเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งเสมอไป ผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบจึงย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากผู้ขนส่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ส่งมอบใบตราส่งซึ่งระบุชื่อผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ก็ปรากฏตามใบตราส่งว่ามีการลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัท ฮ. ผู้มีชื่อเป็นผู้รับตราส่งที่ด้านหลังใบตราส่งและไม่ได้เวนคืนใบตราส่งแก่จำเลย แต่ได้ส่งมอบใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ ถือว่าผู้ซื้อได้มีการสลักหลังลอยลงในใบตราส่งโอนสิทธิตามใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาจากจำเลยผู้ขนส่งได้ไม่ว่าโจทก์จะเป็นคู่สัญญาในสัญญารับขนของทางทะเลหรือไม่ก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 36 เป็นเรื่องที่ผู้ส่งของสั่งผู้ขนส่งให้งดการส่งของ ส่งกลับคืนมา ระงับการส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง หรือจัดการของนั้นเป็นประการอื่นใดก่อนจะขนส่งออกไปถึงท่าปลายทางหรือก่อนจะส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งผู้ส่งของต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแก่ผู้ขนส่ง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการขนส่งตามสัญญาที่ระบุในใบตราส่งอันถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล การใช้สิทธิของผู้ส่งของตามมาตรา 36 นี้ ผู้ส่งของต้องยังเป็นผู้ยึดถือครอบครองใบตราส่งอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่อาจจะมีใบตราส่งเวนคืนแก่ผู้ขนส่งได้ มาตรา 36 ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการที่ของหรือสินค้าที่ขนส่งสูญหายซึ่งปรากฏเมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วอย่างในคดีนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 36 ที่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้แก่ผู้ขนส่ง
โจทก์ผู้ส่งของได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางปรากฏว่าสินค้าสูญหายไปทั้งหมด ถือว่าเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลย และไม่ปรากฏเหตุตามมาตรา 51 ถึงมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดของจำเลยในฐานะผู้ขนส่ง จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงใบตราส่ง ตามมาตรา 39 และ 43 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าว
การรับขนส่งสินค้าของจำเลยเป็นแบบ “CFS/CFS” ที่จำเลยมีหน้าที่นำสินค้าเข้าบรรจุในตู้สินค้า และสินค้าตามคำฟ้องมีจำนวนน้อย มีโอกาสที่จะมีการบรรจุสินค้าของบุคคลอื่นอีกจำนวนมากที่นำเข้ารวมไว้ในตู้สินค้านี้ ความผิดพลาดในการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าจึงอาจเกิดขึ้นได้ การไม่ได้นำสินค้าบรรจุเข้าตู้สินค้าจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือตัวแทนซึ่งจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิด แต่เมื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงว่าจำเลยหรือตัวแทนมีพฤติการณ์อื่นใดที่ถึงขนาดเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะรับฟังได้ว่า เป็นการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ในการดูแลรักษาสินค้าที่ขนส่ง จึงไม่อาจถือได้ว่าการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งเป็นผลมาจากการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยหรือตัวแทนทั้งที่รู้ว่าการสูญหายของสินค้าอาจเกิดขึ้นได้ ตาม พ.ร.บ.การรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) ความรับผิดของจำเลยจึงอยู่ในบังคับของมาตรา 58 จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์เพียงจำนวนเงินตามข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดคือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนดเวลาที่จำเลยควรส่งมอบสินค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 1,097,788.40 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 1,037,258 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยยื่นคำร้องขอให้เรียกบริษัทฮันจินชิปปิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม โดยอ้างว่าหากจำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์แล้ว จำเลยมีสิทธิไล่เบี้ยเอาแก่บริษัทดังกล่าวได้ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งอนุญาต และให้หมายเรียกบริษัทฮันจินชิปปิ้ง จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3)
จำเลยร่วมให้การ ขอให้ยกฟ้องในส่วนของจำเลยร่วม
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,037,258 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท สำหรับส่วนที่เกี่ยวกับจำเลยร่วมให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในส่วนนี้ให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า การที่โจทก์ผู้ขายกับบริษัทฮานส์เครมล์ฮานส์เทคนิค จีเอ็มบีเอช ผู้ซื้อตกลงใช้เงื่อนไขเอฟโอบีอันเป็นเงื่อนไขของอินโคเทอมส์ (Incoterms) เป็นข้อตกลงในการซื้อขายสินค้าตามคำฟ้องนั้น เป็นเรื่องข้อตกลงในการซื้อขายสินค้าระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายตามสัญญาซื้อขาย ไม่ใช่ข้อตกลงระหว่างผู้ขนส่งกับผู้ส่งของตามสัญญารับขนส่งสินค้า แม้ว่าเงื่อนไขเอฟโอบีตามปกติจะกำหนดให้ผู้ซื้อมีหน้าที่จัดหาผู้ขนส่ง เข้าทำสัญญาขนส่งสินค้ากับผู้ขนส่ง และเป็นผู้รับผิดชอบในค่าระวางการขนส่งตามที่จำเลยนำสืบก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติผู้ซื้อและผู้ขายอาจมีข้อตกลงเพิ่มเติมแตกต่างจากเงื่อนไขเอฟโอบีตามปกติก็เป็นได้ ขึ้นกับความประสงค์ของคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย บางกรณีผู้ซื้อและผู้ขายอาจใช้เงื่อนไขต่าง ๆ ตามอินโคเทอมส์เพียงเพื่อกำหนดราคาสินค้าและภาระค่าใช้จ่ายระหว่างกันเท่านั้น หรือแม้เหตุที่สินค้าที่ซื้อขายสูญหายหรือเสียหายจะเกิดขึ้นในระหว่างการขนส่งและความเสี่ยงภัยจะตกอยู่แก่ผู้ซื้อตามเงื่อนไขเอฟโอบี ตามปกติแล้วก็ตาม แต่ผู้ซื้อและผู้ขายก็อาจตกลงกันภายหลังจากที่สินค้าที่ซื้อขายสูญหายหรือเสียหายโดยให้การสูญหายหรือเสียหายนี้ตกเป็นพับแก่ผู้ขายได้เช่นกัน เป็นเรื่องความตกลงระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อดังกล่าวแล้วข้างต้น ไม่เกี่ยวกับจำเลยผู้ขนส่งโดยตรง อย่างไรก็ตามไม่ว่าความตกลงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายจะเป็นอย่างไรการใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้ขนส่งตามสัญญารับขนของทางทะเลเนื่องจากสินค้าที่ขนส่งสูญหาย เสียหายหรือมีการส่งมอบชักช้านั้น ผู้มีสิทธิที่จะใช้สิทธิเรียกร้องไม่จำเป็นต้องเป็นคู่สัญญากับผู้ขนส่งเสมอไป โดยเฉพาะในการรับขนของทางทะเลที่มีการออกใบตราส่ง เพราะใบตราส่งถือเป็นใบรับสินค้า เป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล และเป็นเอกสารสิทธิในสินค้าที่ขนส่ง ตามความหมายในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 และการที่ใบตราส่งตามปกติถือเป็นเอกสารสิทธิในสินค้าที่ขนส่งซึ่งสามารถโอนเปลี่ยนมือได้โดยวิธีการสลักหลังและส่งมอบ ผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบจึงย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากผู้ขนส่งได้ ดังนั้น แม้โจทก์จะได้ส่งมอบใบตราส่ง ซึ่งระบุชื่อผู้ซื้อเป็นผู้รับตราส่งให้แก่ผู้ซื้อแล้ว แต่ก็ปรากฏตามใบตราส่งว่า มีการลงลายมือชื่อและประทับตราของบริษัทฮานส์เครมล์ฮานส์เทคนิค จีเอ็มบีเอช ผู้มีชื่อเป็นผู้รับตราส่งที่ด้านหลังใบตราส่ง และได้ความว่าบริษัทผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งขณะนั้นไม่ได้เวนคืนใบตราส่งแก่จำเลย แต่ผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้รับตราส่งได้ส่งมอบใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ ถือว่าผู้ซื้อได้มีการสลักหลังลอยลงในใบตราส่งโอนสิทธิตามใบตราส่งนั้นให้แก่โจทก์ แม้จะไม่ได้ระบุชื่อโจทก์ไว้ในการสลักหลังว่าเป็นผู้รับสลักหลังก็ตาม โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งโดยชอบแล้ว โจทก์ย่อมเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายเอาแก่ผู้ขนส่งได้ไม่ว่าโจทก์จะเป็นคู่สัญญาในสัญญารับขนของทางทะเลหรือไม่ก็ตาม โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ทำนองว่า ในคดีนี้มีการออกใบตราส่งต้นฉบับมากกว่า 1 ฉบับ เมื่อผู้ซื้อได้นำใบตราส่งฉบับหนึ่งไปเวนคืนที่ท่าปลายทางแล้ว ใบตราส่งฉบับอื่นย่อมสิ้นผลตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 29 นั้น ก็ไม่ปรากฏว่าจำเลยได้นำใบตราส่งที่ผู้ซื้อเวนคืนแก่จำเลยมาแสดงต่อศาล จึงไม่อาจรับฟังได้ว่าได้มีการเวนคืนใบตราส่งตามที่จำเลยกล่าวอ้าง กรณีย่อมไม่ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 29 ดังกล่าวที่จะทำให้ใบตราส่งที่โจทก์เป็นผู้ทรงสิ้นผล และที่จำเลยอุทธรณ์ว่าหากโจทก์จะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายจากจำเลยผู้ขนส่ง โจทก์ต้องนำใบตราส่งครบชุดมาแสดงตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 36 นั้น เห็นว่า มาตรา 36 บัญญัติว่า “ในระหว่างที่ของอยู่ในความดูแลของผู้ขนส่ง ผู้ส่งของจะสั่งให้ผู้ขนส่งงดการส่งของนั้นไป ส่งกลับคืนมา ระงับการส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง หรือจัดการแก่ของนั้นเป็นประการอื่นก็ได้ แต่ต้องเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้แก่ผู้ขนส่ง ในกรณีเช่นนี้ผู้ขนส่งมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายที่ได้เสียไปเพื่อจัดการในการขนส่ง หรือตามคำสั่งของผู้ส่งของและมีสิทธิได้รับค่าระวางตามส่วนแห่งระยะทางที่ได้จัดการขนส่งไปแล้ว ถ้าได้จัดการไปตามคำสั่งของผู้ส่งของโดยยังไม่ได้รับเวนคืนต้นฉบับใบตราส่งทั้งหมด ผู้ขนส่งต้องรับผิดต่อผู้รับตราส่งซึ่งมีใบตราส่งฉบับที่ยังไม่ได้เวนคืน” มาตรา 36 นี้เป็นเรื่องที่ผู้ส่งของสั่งผู้ขนส่งให้งดการส่งของ ส่งกลับคืนมา ระงับการส่งมอบแก่ผู้รับตราส่ง หรือจัดการของนั้นเป็นประการอื่นใดก่อนจะขนส่งออกไปถึงท่าปลายทางหรือก่อนจะส่งมอบของแก่ผู้รับตราส่ง ซึ่งผู้ส่งของต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดแก่ผู้ขนส่ง เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในการขนส่งตามสัญญาที่ระบุในใบตราส่งอันถือเป็นหลักฐานแห่งสัญญารับขนของทางทะเล อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิของผู้ส่งของตามมาตรา 36 นี้ ผู้ส่งของต้องยังเป็นผู้ยึดถือครอบครองใบตราส่งอยู่ มิฉะนั้นก็ไม่อาจจะมีใบตราส่งเวนคืนแก่ผู้ขนส่งได้ ซึ่งมาตรา 36 นี้ ไม่ได้ใช้บังคับในกรณีที่โจทก์ในฐานะผู้ทรงใบตราส่งจะใช้สิทธิเรียกร้องเอาค่าเสียหายเนื่องจากการที่ของหรือสินค้าที่ขนส่งสูญหายซึ่งปรากฏเมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางแล้วอย่างในกรณีคดีนี้ การใช้สิทธิเรียกร้องของโจทก์ดังกล่าวจึงไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติมาตรา 36 ดังกล่าวที่ต้องเวนคืนใบตราส่งทั้งหมดที่ออกให้แก่กันไว้แก่ผู้ขนส่ง อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ตามคำฟ้องหรือไม่ จำเลยอ้างเหตุที่ไม่ต้องรับผิดไว้ 2 ประการ คือ ประการแรก จำเลยไม่ใช่ผู้ขนส่งแต่เป็นเพียงตัวแทนของบริษัททีซีไอทรานส์คอนเทนเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ผู้ขนส่ง ในการติดต่อกับโจทก์เท่านั้น และประการที่ 2 พยานหลักฐานของโจทก์ก็ไม่อาจรับฟังได้ว่าสินค้าที่ขนส่งได้สูญหายไปจริงตามคำฟ้อง เห็นว่า โจทก์มีนางสาวสุปรียา และนางอ้อมใจ มาเบิกความเป็นพยานตอบคำถามค้านประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานทำนองเดียวกันว่า โจทก์ว่าจ้างจำเลยให้ขนส่งสินค้าโดยติดต่อผ่านบริษัทลีโอทรานสปอร์ตคอร์ปอเรชั่น จำกัด ตัวแทนของจำเลย ส่วนตัวแทนของจำเลยที่ปลายทางคือบริษัททีซีไอทรานส์คอนเทนเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช นายพรชัย ผู้จัดการบริษัทลีโอทรานสปอร์ตคอร์ปอเรชั่น จำกัด พยานจำเลยเองก็มาเบิกความเป็นพยานตอบคำถามค้านประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานว่า บริษัทลีโอสปอร์ตคอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้รับการติดต่อว่าจ้างจากโจทก์ให้จัดการขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยเป็นผู้ออกใบตราส่งโดยระบุชื่อบริษัททีซีไอทรานส์คอนเทนเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตัวแทนของจำเลยที่ท่าปลายทางให้เป็นผู้ส่งมอบสินค้าสอดคล้องกับคำเบิกความประกอบบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของพยานโจทก์ แต่ขัดแย้งกับคำเบิกความของพยานจำเลยเองที่อ้างว่า ผู้ซื้อเป็นผู้ว่าจ้างบริษัททีซีไอทรานส์คอนเทนเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ให้ดำเนินการขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง จำเลยเป็นเพียงผู้ได้รับมอบหมายจากบริษัททีซีไอทรานส์คอนเทนเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ประกอบกับพฤติการณ์ที่เมื่อหลังเกิดเหตุคดีนี้ โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายหลายฉบับ ส่วนจำเลยก็มีหนังสือตอบโจทก์รวมหลายฉบับเช่นกัน ตามสำเนาหนังสือและสำเนาหนังสือพร้อมคำแปล ซึ่งมีใจความสรุปว่า โจทก์เรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยเต็มจำนวนความเสียหาย แต่จำเลยเสนอจะจ่ายค่าเสียหายแก่โจทก์ต่ำกว่าจำนวนที่โจทก์เรียกร้องโดยจำเลยไม่เคยปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยไม่ใช่ผู้ขนส่ง และจำเลยก็ไม่ได้นำสืบหักล้างว่าเอกสารต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ถูกต้องไม่ตรงตามความเป็นจริงอย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักและเหตุผลให้รับฟังมากกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้ขนส่งที่รับขนส่งสินค้าตามคำฟ้อง ส่วนปัญหาว่าสินค้าที่ขนส่งสูญหายไปหรือไม่นั้น โจทก์มีพยานหลักฐานมาแสดงถึงการส่งมอบสินค้าแก่จำเลยผู้ขนส่งหรือตัวแทนตามลำดับขั้นตอน และการขนส่งสินค้าเป็นแบบ “CFS/CFS” ที่โจทก์ส่งมอบสินค้าให้จำเลยหรือตัวแทนนำไปบรรจุเข้าตู้สินค้าเอง สินค้าที่โจทก์ส่งมอบบรรจุอยู่ในกล่อง (carton) เรียบร้อยแล้วมีจำนวนเพียง 10 กล่อง น้ำหนักสุทธิรวม 256.30 กิโลกรัม ตามที่ปรากฏในใบตราส่ง ใบขนสินค้าขาออก รายงานการส่งของออก (แบบ ธ.ต. 1) และใบกำกับคอนเทนเนอร์แอลซีแอล ซึ่งนับว่าเป็นจำนวนไม่มาก จำเลยหรือตัวแทนผู้รับมอบย่อมสามารถตรวจสอบจำนวนสินค้าได้โดยง่าย แม้โจทก์จะไม่ได้มีหลักฐานเอกสารจากท่าเรือปลายทางแสดงถึงการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม แต่หากสินค้าไม่ได้สูญหายไปจำเลยหรือบริษัททีซีไอทรานส์คอนเทนเนอร์อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ย่อมต้องมีสินค้าส่งมอบ หรือถ้าบริษัทฮานส์เครมล์ฮานส์เทคนิค จีเอ็มบีเอช ผู้ซื้อสินค้าซึ่งเป็นผู้รับตราส่งได้รับสินค้าไปแล้ว จำเลยย่อมต้องมีหลักฐานการรับมอบสินค้ามาแสดงต่อศาล แต่จำเลยกลับไม่มีพยานหลักฐานใดเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแสดงทั้งที่อยู่ในวิสัยและฐานะที่จะทำได้หากข้อเท็จจริงเป็นดังที่จำเลยกล่าวอ้าง ทั้งหลังเกิดเหตุเมื่อโจทก์ติดต่อจำเลยเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายเนื่องจากการสูญหายของสินค้าที่ขนส่ง จำเลยก็ไม่เคยโต้แย้งโดยปฏิเสธว่าสินค้าที่ขนส่งไม่ได้สูญหาย เพียงแต่จำเลยเสนอชดใช้ค่าเสียหายเป็นจำนวนต่ำกว่าที่โจทก์เรียกร้องเท่านั้น ตามหนังสือและหนังสือพร้อมคำแปล ดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้น พยานหลักฐานของโจทก์ในเรื่องนี้มีน้ำหนักและเหตุผลดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า โจทก์ผู้ส่งของได้ส่งมอบสินค้าที่ขนส่งแก่จำเลยหรือตัวแทนของจำเลยครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อเรือที่ขนส่งสินค้าถึงปลายทางปรากฏว่าสินค้าที่ขนส่งสูญหายไปทั้งหมด ถือว่าเหตุแห่งการเสียหายของสินค้าที่ขนส่งเกิดขึ้นในระหว่างที่สินค้าอยู่ในความดูแลของจำเลยผู้ขนส่งหรือตัวแทนหรือลูกจ้างของจำเลย และไม่ปรากฏเหตุตามมาตรา 51 ถึงมาตรา 57 แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ที่เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดอันเป็นผลให้จำเลยในฐานะผู้ขนส่งจะไม่ต้องรับผิด จำเลยจึงต้องรับผิดต่อโจทก์ผู้ทรงใบตราส่ง ตามมาตรา 39 และ 43 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อสุดท้ายว่า จำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เต็มจำนวนความเสียหายเนื่องจากการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งเป็นผลจากการที่จำเลยหรือตัวแทนละเลยหรือไม่เอาใจใส่ทั้งที่รู้ว่าการสูญหายของสินค้านั้นอาจเกิดขึ้นได้ ตามมาตรา 60 (1) แห่งพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 ดังที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษา หรือจำเลยต้องรับผิดโดยจำกัดจำนวนตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวดังที่จำเลยอุทธรณ์ เห็นว่า ในกรณีที่ผู้ขนส่งต้องรับผิดเนื่องจากสินค้าที่ขนส่งสูญหาย หรือเสียหาย โดยหลักผู้ขนส่งจะรับผิดจำกัดจำนวนตามมาตรา 58 คือ กรณีที่สินค้าที่ขนส่งสูญหายหรือเสียหาย ผู้ขนส่งต้องรับผิดตามจำนวนความเสียหายที่แท้จริง แต่ไม่เกินจำนวน 10,000 บาท ต่อ 1 หน่วยการขนส่ง หรือจำนวน 30 บาท ต่อน้ำหนักสุทธิแห่งสินค้า 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน เว้นแต่จะมีเหตุตามมาตรา 60 ซึ่งผู้ใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้ขนส่งมีภาระการพิสูจน์ที่ต้องนำพยานหลักฐานมาสืบให้ปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นเหตุตามมาตรา 60 อันจะไม่นำข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มาใช้บังคับ แต่ปรากฏว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบในประเด็นนี้ มีแต่เพียงบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงของนางสาวสุปรียาพยานโจทก์ที่ระบุความว่า การสูญหายของสินค้าเกิดขึ้นในช่วงเวลาการบรรจุสินค้าจนถึงก่อนปิดตู้สินค้าและผนึกดวงตรา (seal) ที่ตู้สินค้านั้น การสูญหายของสินค้าจึงเป็นผลมาจากจำเลยหรือตัวแทนของจำเลยกระทำหรืองดเว้นกระทำโดยเจตนาจะให้เกิดการสูญหายหรือละเลยหรือไม่เอาใจใส่ ทั้งที่รู้ว่าในช่วงเวลาการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าก่อนที่จะปิดประตูตู้สินค้าและผนึกดวงตราตะกั่วที่บานประตูตู้สินค้า อาจจะเกิดการสูญหายของสินค้าได้ แต่เมื่อพิจารณาถึงพฤติการณ์ที่การรับขนส่งสินค้าของจำเลยเป็นแบบ “CFS/CFS” ที่จำเลยมีหน้าที่นำสินค้า เข้าบรรจุในตู้สินค้าและข้อเท็จจริงจากใบกำกับสินค้าหรือบัญชีราคาสินค้า (Invoice) ใบตราส่ง ใบกำกับคอนเทนเนอร์แอลซีแอล กับบัญชีตรวจนับสินค้า (Tally Sheet) ที่แสดงให้เห็นว่าจะต้องมีการบรรจุสินค้าตามคำฟ้องรวมกับสินค้าของบุคคลอื่น ซึ่งสินค้าตามคำฟ้องมีจำนวนเพียง 10 กล่อง น้ำหนักรวม 267.80 กิโลกรัม น้ำหนักสุทธิ 256.30 กิโลกรัม กล่องแต่ละกล่องมีขนาด 43 x 52.50 x 29.50 เซนติเมตร ปริมาตรรวม 0.686 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งเมื่อเทียบขนาดกับตู้สินค้าหมายเลข เอชเจจียู 1218258 ที่จะใช้บรรจุสินค้าเป็นตู้สินค้าซึ่งมีขนาด 40 ฟุต แล้ว นับว่าสินค้าตามคำฟ้องมีจำนวนน้อย มีโอกาสที่จะมีการบรรจุสินค้าของบุคคลอื่นอีกจำนวนมากที่นำเข้ารวมไว้ในตู้สินค้านี้ความผิดพลาดในการบรรจุสินค้าเข้าตู้สินค้าจึงอาจเกิดขึ้นได้ การที่ไม่ได้นำสินค้าตามคำฟ้องมาบรรจุเข้าตู้สินค้าแม้จะถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือตัวแทนซึ่งจำเลยในฐานะผู้ขนส่งต้องรับผิดดังได้วินิจฉัยแล้วก็ตาม แต่เมื่อตามพยานหลักฐานของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอื่นใดที่แสดงว่าจำเลยหรือตัวแทนมีพฤติการณ์อื่นใดที่ถึงขนาดเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันจะรับฟังได้ว่า เป็นการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ในการดูแลรักษาสินค้าที่ขนส่ง จึงไม่อาจถือได้ว่าการสูญหายของสินค้าที่ขนส่งเป็นผลมาจากการละเลยหรือไม่เอาใจใส่ของจำเลยหรือตัวแทนทั้งที่รู้ว่าการสูญหายของสินค้าอาจเกิดขึ้นได้ ตามพระราชบัญญัติการรับขนของทางทะเล พ.ศ.2534 มาตรา 60 (1) กรณีความรับผิดของจำเลยจึงอยู่ในบังคับของมาตรา 58 เมื่อพิจารณาใบตราส่ง ระบุหน่วยการขนส่งเป็นกล่อง (carton) รวมจำนวน 10 กล่อง และระบุน้ำหนักสุทธิของสินค้าเป็นน้ำหนักรวม 256.30 กิโลกรัม โดยไม่ได้ระบุน้ำหนักของสินค้าแต่ละกล่อง อย่างไรก็ตาม เมื่อคำนวณตามข้อจำกัดความรับผิดโดยหน่วยการขนส่งเปรียบเทียบกับการคำนวณโดยน้ำหนักสุทธิของสินค้าไม่ว่าจะเฉลี่ยน้ำหนักของสินค้าแต่ละกล่องหรือแม้แต่คำนวณจากน้ำหนักรวมทั้งหมดแล้ว ความรับผิดที่คำนวณโดยหน่วยการขนส่งก็เป็นจำนวนที่มากกว่า จึงต้องใช้หน่วยการขนส่งในการคำนวณจำนวนเงินตามข้อจำกัดความรับผิดของจำเลยผู้ขนส่ง กล่าวคือ จำนวน 10,000 บาท ต่อ 1 กล่อง ซึ่งถือเป็นหน่วยการขนส่งดังกล่าว รวมจำนวน 10 กล่อง เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท เมื่อเปรียบเทียบจำนวนความเสียหายของสินค้าที่สูญหายไปทั้งหมด แม้คิดคำนวณจากราคาสินค้าในราคาซื้อขายตามเงื่อนไข เอฟโอบี ในราคารวมจำนวน 21,400 ยูโร ที่ยังไม่รวมค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ นับแต่ท่าต้นทาง ซึ่งย่อมน้อยกว่าราคาที่สินค้านั้นจะพึงมีในเวลาที่พึงส่งมอบ ณ ท่าปลายทางตามมาตรา 61 (1) หากคิดเป็นเงินไทยในอัตราแลกเปลี่ยน 1 ยูโร เท่ากับ 48.47 บาท ตามคำฟ้อง ซึ่งจำเลยไม่ได้โต้แย้งคัดค้านแล้ว จะได้เป็นจำนวนถึง 1,037,258 บาท หรือแม้จะคิดเฉลี่ยราคาสินค้าแต่ละกล่องเนื่องจากตามพยานหลักฐานไม่ปรากฏราคาสินค้าแต่ละกล่อง ก็จะมีราคาเฉลี่ยกล่องละ 103,725.80 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าจำนวนเงินที่ให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งตามมาตรา 58 มาก จำเลยจึงรับผิดต่อโจทก์เพียงจำนวนเงินตามข้อจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่ง คือ กล่องละ 10,000 บาท รวมจำนวน 10 กล่อง เป็นเงินจำนวน 100,000 บาท ดังกล่าวเท่านั้น กับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยผิดนัดคือนับแต่วันที่ล่วงเลยกำหนด เวลาที่จำเลยควรส่งมอบ ไม่ใช่นับแต่วันที่โจทก์ทราบถึงการสูญหายของสินค้าตามคำฟ้อง และไม่ใช่วันที่ 2 มีนาคม 2547 ซึ่งเป็นวันถัดจากวันที่ทนายโจทก์มีหนังสือทวงถามฉบับสุดท้ายไปยังจำเลยให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2547 แต่เมื่อโจทก์ไม่อุทธรณ์ในปัญหานี้ การกำหนดวันเริ่มคิดดอกเบี้ยอันเป็นวันผิดนัดจึงต้องเป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางที่ให้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2547 อย่างไรก็ดี ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยและพิพากษาให้จำเลยรับผิดโดยไม่จำกัดจำนวนนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศดังที่ได้วินิจฉัยแล้วข้างต้น อุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางแทนโจทก์ สำหรับค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนในทุนทรัพย์เท่าที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ