คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13379/2555

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุม ท. ได้ขณะลักลอบขนยาเสพติดให้โทษจากจังหวัดมุกดาหารเพื่อจะไปส่งมอบให้ จ. และจำเลย ผู้ร่วมขบวนการซึ่งกำลังรอรับยาเสพติดให้โทษอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ถือได้ว่า ท. จ. และจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดด้วยกันอยู่แล้ว การที่เจ้าพนักงานตำรวจนำตัว ท. เดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานครเพื่อนำยาเสพติดให้โทษไปส่งมอบให้ จ. และจำเลย จึงเป็นวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมกระทำความผิด มิใช่เป็นการล่อให้บุคคลที่มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดอยู่ก่อนให้หลงกระทำความผิด การดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อขยายผลจับกุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจ จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย
เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในขณะกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้าโดยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองจึงไม่ต้องมีหมายจับ ส่วนการที่ผู้จับกุมไม่ใส่กุญแจมือจำเลยย่อมเป็นดุลพินิจในการใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้หลบหนี
ความผิดฐานร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งมีผู้ร่วมกระทำความผิดสองคน ซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในหลายท้องที่ จากที่ผู้ต้องหาคนหนึ่งนำยาเสพติดให้โทษติดตัวในขณะเดินทางผ่านอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อมายังกรุงเทพมหานคร เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมผู้ต้องหาคนแรกได้ก่อนในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วซึ่งเป็นท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้ก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมควบคุมตัวจำเลยและ ท. พร้อมด้วยยาเสพติดให้โทษของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วทำการสอบสวน จึงชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 66, 100/1, 102 ริบเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์น้ำหนัก 105.63 กรัม โทรศัพท์เคลื่อนที่ 2 เครื่อง และรองเท้าหนัง 1 คู่ ของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 66 วรรคสาม ลงโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับ 1,000,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 (ที่ถูก ประกอบมาตรา 53) คงจำคุก 33 ปี 4 เดือน และปรับ 666,666.66 บาท ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 08 4785 2561 ของกลาง ส่วนเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการตรวจพิสูจน์และรองเท้าของกลาง (ที่ถูก และโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย หมายเลข 08 6016 2967) ศาลมีคำสั่งให้ริบในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 1353/2550 (คดีหมายเลขแดงที่ 1745/2550) ของศาลชั้นต้นแล้ว จึงไม่ต้องริบอีก ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งในชั้นฎีการับฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมท้าวแอวิจิตรชายสัญชาติลาว และมีการตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 1,193 เม็ด คำนวณเป็นน้ำหนักสารบริสุทธิ์ได้ 22.926 กรัม และยึดโทรศัพท์เคลื่อนที่ยี่ห้อโนเกีย 2 เครื่อง หมายเลข 08 6016 2967 และ 08 4785 2561 เป็นของกลาง
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า จำเลยกระทำความผิดฐานร่วมกับท้าวแอวิจิตรมีเมทแอมเฟตามีน 1,193 เม็ด ของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พันตำรวจตรีอภิชาตและสิบตำรวจเอกพัลลภต่างเบิกความได้สอดคล้องเชื่อมโยงสมเหตุสมผลมีรายละเอียดข้อเท็จจริงต่อเนื่องนับแต่การวางแผนจับกุมท้าวแอวิจิตร จนขยายผลให้ท้าวแอวิจิตรติดต่อนัดหมายทางโทรศัพท์เพื่อส่งมอบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้แก่จำเลย จนกระทั่งมีการส่งมอบและจับกุมจำเลยได้ตามแผนการที่วางไว้ พยานโจทก์ล้วนเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติการไปตามอำนาจหน้าที่ ไม่เคยรู้จักและไม่มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน จึงไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัยว่าจะกลั่นแกล้งปรักปรำจำเลยให้ต้องรับโทษโดยปราศจากมูลความจริง เชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความไปตามความเป็นจริงตามที่ได้ปฏิบัติการ พยานโจทก์ดังกล่าวจึงมีน้ำหนักในการรับฟัง ที่จำเลยฎีกาอ้างว่า จำเลยรู้จักกับท้าวแอวิจิตรเพราะท้าวแอวิจิตรเคยใช้บริการรถแท็กซี่ของจำเลย ในวันเกิดเหตุท้าวแอวิจิตรโทรศัพท์มาหาจำเลย เนื่องจากต้องการว่าจ้างรถของจำเลยแต่จำเลยไม่ว่าง ท้าวแอวิจิตรพูดจาหว่านล้อมอ้างว่ามีธุระจำเป็นจะคุยกับจำเลย ขอให้จำเลยออกไปพบที่บริเวณปากซอยอินทามระ 20 จำเลยจึงเดินออกไปจนถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวโดยไม่มีการนัดส่งมอบยาเสพติดให้โทษใด ๆ นั้น เป็นการยกข้ออ้างขึ้นลอย ๆ โดยจำเลยไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุนให้ข้ออ้างของจำเลยน่าเชื่อถือ และที่จำเลยฎีกาอ้างว่าเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมท้าวแอวิจิตรควรต้องควบคุมตัวท้าวแอวิจิตรพร้อมนำยาเสพติดให้โทษของกลางส่งแก่พนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดี แต่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมกลับคืนยาเสพติดให้โทษของกลางแก่ท้าวแอวิจิตร เพื่อให้ท้าวแอวิจิตรนำมาล่อซื้อที่กรุงเทพมหานคร จึงต้องถือว่าเจ้าพนักงานตำรวจแสวงหาหลักฐานด้วยการกระทำผิดต่อกฎหมายเสียเอง เห็นว่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมท้าวแอวิจิตรได้ขณะที่ลักลอบขนยาเสพติดให้โทษของกลางจากจังหวัดมุกดาหารเพื่อจะไปส่งมอบให้บุคคลอื่นต่อที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นผู้ร่วมขบวนการ อันได้แก่นายจ่อยและชายอีกคนหนึ่งคือจำเลยซึ่งกำลังรอรับยาเสพติดให้โทษอยู่ ถือว่าท้าวแอวิจิตร นายจ่อยและจำเลยมีเจตนาร่วมกระทำความผิดด้วยกันอยู่แล้ว การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมวางแผนขยายผลโดยนำตัวท้าวแอวิจิตรเดินทางต่อไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อนำยาเสพติดให้โทษไปส่งมอบให้นายจ่อยและจำเลย จึงเป็นวิธีการแสวงหาหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความผิดของผู้ร่วมขบวนการ มิใช่เป็นการล่อให้บุคคลที่มิได้มีเจตนาในการกระทำความผิดอยู่ก่อนให้หลงมากระทำความผิดแต่อย่างใด การดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพื่อขยายผลจับกุมจำเลยของเจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมในคดีนี้ จึงไม่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์ที่ได้มาโดยวิธีดังกล่าวจึงรับฟังลงโทษจำเลยได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมหรือพนักงานสอบสวนคดีนี้ไม่มีเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์ติดต่อกันระหว่างท้าวแอวิจิตรกับจำเลยมาแสดง จึงไม่อาจรับฟังได้ว่ามีการนัดหมายส่งมอบยาเสพติดให้โทษนั้น เห็นว่า ข้อมูลซึ่งนำมาสู่การจับกุมจำเลยได้ในภายหลังไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับวันเวลาและสถานที่ที่นัดหมายส่งมอบยาเสพติดให้โทษ เจ้าพนักงานตำรวจไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้มาก่อน แต่เป็นข้อมูลที่ได้จากการโทรศัพท์ติดต่อนัดหมายระหว่างท้าวแอวิจิตรกับจำเลยทั้งสิ้นอันแสดงว่าได้มีการติดต่อกันจริง ดังนั้น แม้โจทก์ไม่มีรายการการใช้โทรศัพท์ของบุคคลดังกล่าวมาแสดงต่อศาล ก็ไม่เป็นพิรุธแต่อย่างใด ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมตัวจำเลยโดยไม่มีหมายจับ ไม่แจ้งข้อกล่าวหา และไม่ใส่กุญแจมือจำเลย อีกทั้งไม่มีเจ้าพนักงานตำรวจในท้องที่กรุงเทพมหานครร่วมจับกุมด้วย หลังจับกุมจำเลยก็ไม่ส่งตัวจำเลยต่อพนักงานสอบสวนในกรุงเทพมหานครอันเป็นท้องที่ที่เกิดเหตุ แต่กลับควบคุมตัวจำเลยส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ให้ทำการสอบสวนเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยในขณะที่จำเลยกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้าโดยมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองจึงไม่ต้องมีหมายจับ และตามบันทึกการจับกุมมีข้อความระบุไว้ชัดแจ้งว่า เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมได้แจ้งข้อกล่าวหาให้จำเลยทราบแล้วในขณะจับกุม ส่วนการที่ผู้จับกุมไม่ใส่กุญแจมือจำเลยย่อมเป็นดุลพินิจในการใช้วิธีควบคุมผู้ถูกจับเท่าที่จำเป็นเพื่อมิให้หลบหนีจึงชอบแล้ว และเมื่อความผิดคดีนี้ผู้ต้องหาที่เป็นตัวการกระทำความผิดด้วยกันมีสองคน คือ ท้าวแอวิจิตรกับจำเลย โดยได้ร่วมกันมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งเป็นความผิดต่อเนื่องและกระทำต่อเนื่องกันในหลายท้องที่ จากการที่ผู้ต้องหาคนหนึ่งนำยาเสพติดให้โทษติดตัวในขณะที่เดินทางผ่านอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา เพื่อต่อมายังกรุงเทพมหานคร พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วที่เกี่ยวข้องจึงมีอำนาจสอบสวน และเมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมท้าวแอวิจิตรผู้ต้องหาคนแรกได้ก่อนในท้องที่ของสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้ว พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วซึ่งเป็นท้องที่ที่จับผู้ต้องหาได้ก่อน จึงเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานตำรวจชุดจับกุมควบคุมตัวจำเลยและท้าวแอวิจิตรพร้อมด้วยยาเสพติดให้โทษของกลางส่งพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสีคิ้วทำการสอบสวน จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถือได้ว่าคดีนี้มีการสอบสวนโดยชอบ พนักงานอัยการโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษปรับจำเลย 666,666.66 บาท โดยไม่ได้สั่งให้กักขังแทนค่าปรับได้เกินกว่าหนึ่งปี จึงไม่อาจกักขังจำเลยแทนค่าปรับได้เกินกว่าหนึ่งปี ศาลฎีกาเห็นควรมีคำสั่งให้ชัดเจน
พิพากษายืน ในกรณีกักขังแทนค่าปรับให้กักขังได้ไม่เกินหนึ่งปี

Share