คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2224/2521

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีที่พิพาทกันในชั้นขอเฉลี่ยทรัพย์นั้น ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่คู่ความจะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์ได้ก็จะต้องเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น
คำคัดค้านของโจทก์ที่คัดค้านคำร้องขอเฉลี่ยทรัพย์อ้างว่า สัญญาจ้างว่าความที่พิพาททำขึ้นโดยฉ้อฉล แล้วกล่าวเสริมเพียงว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการขัดต่อศีลธรรมและมารยาทของทนายความตามกฎหมาย ดังนี้ ยังไม่เป็นการชัดแจ้งพอที่จะแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะยกปัญหาว่าสัญญาจ้างว่าความที่พิพาทเป็นการขัดต่อกฎหมาย(พระราชบัญญัติทนายความและข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความ)เป็นข้อคัดค้านต่อสู้ผู้ร้องด้วย ศาลจึงยกประเด็นเรื่อง สัญญาจ้างว่าความดังกล่าวเป็นการสมยอมหรือไม่ขึ้นวินิจฉัยประการเดียว

ย่อยาว

โจทก์บังคับคดียึดทรัพย์จำเลยขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษา

ผู้ร้องยื่นคำขอเฉลี่ยทรัพย์อ้างว่าเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลย

โจทก์ยื่นคำแถลงคัดค้านว่า หนี้ตามสัญญาว่าความระหว่างผู้ร้องกับจำเลยเกิดขึ้นโดยกลฉ้อฉลของคู่สัญญา ขัดต่อศีลธรรมอันดีและมารยามของทนายความตามกฎหมาย จึงไม่ผูกพันโจทก์ ขอให้ยกคำร้อง

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องได้รับการชำระหนี้โดยเฉลี่ยจากเงินซึ่งได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์สินของจำเลยในคดีนี้

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สรุปได้ใจความว่า คดีในชั้นขอเฉลี่ยหนี้นี้โจทก์ไม่จำต้องทำคำให้การ คดีไม่มีประเด็นในเรื่องการร้องขอเฉลี่ยทรัพย์ ศาลเท่านั้นเป็นผู้พิจารณาว่าสมควรจะให้หรือไม่เพียงใด (ในทำนองว่าไม่มีข้อห้ามว่าจะต้องมีประเด็นว่ากล่าวกันมาแต่ศาลชั้นต้น) และว่าโจทก์ได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ชัดเจนในคำคัดค้านของโจทก์แล้วว่า สัญญาจ้างว่าความระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยและนายเจือเป็นสัญญาที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติทนายความและข้อบังคับว่าด้วยมารยาทของทนายความ ขอให้ศาลฎีกาวินิจฉัยประเด็นข้อนี้

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ประการแรกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคแรก ได้บัญญัติไว้ว่าข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายที่คู่ความจะยกขึ้นอ้างอิงในการยื่นอุทธรณ์ได้นั้นจะต้องเป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ไม่ได้บัญญัติแบ่งแยกยกเว้นไว้ให้เป็นพิเศษสำหรับคดีที่พิพาทกันในเรื่องการขอเฉลี่ยทรัพย์สินดังเช่นในคดีนี้ไว้แต่อย่างไรเลย ฉะนั้น การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ปัญหาที่โจทก์อุทธรณ์ว่าสัญญาจ้างว่าความระหว่างผู้ร้องทั้งสองกับจำเลยและนายเจือขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความและข้อบังคับว่าด้วยมารยาทของทนายความไม่ใช่เป็นปัญหาที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วตั้งแต่ในศาลชั้นต้นและไม่รับวินิจฉัยนั้นจึงเป็นการวินิจฉัยไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 นั่นเอง ฎีกาของโจทก์ที่ว่าคดีเช่นนี้ไม่จำต้องเป็นข้อที่ว่ากล่าวในศาลชั้นต้นก็อุทธรณ์ได้จึงฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาของโจทก์จึงมีแต่เพียงว่าโจทก์ได้ยกปัญหาเรื่องสัญญาจ้างว่าความขัดต่อพระราชบัญญัติทนายความและข้อบังคับว่าด้วยมารยาททนายความไว้ในคำคัดค้านของโจทก์ด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิเคราะห์คำคัดค้านของโจทก์ข้อนี้แล้วเห็นว่า ข้อความถัดจากโจทก์อ้างว่าสัญญาจ้างว่าความที่พิพาททำขึ้นโดยกลฉ้อฉล โจทก์คงกล่าวเสริมขึ้นไว้แต่เพียงลอย ๆ ว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีและมารยาทของทนายความตามกฎหมายเท่านั้น ไม่เป็นการชัดแจ้งพอที่จะแสดงให้เห็นว่าโจทก์ประสงค์ที่จะยกปัญหาข้อที่ว่าสัญญาจ้างว่าความที่พิพาทเป็นขัดต่อกฎหมายเป็นข้อคัดค้านต่อสู้ผู้ร้องทั้งสองไว้ด้วย ฉะนั้น การที่ศาลล่างทั้งสองคงยกประเด็นเรื่องว่าเป็นการสมยอมกันหรือไม่ขึ้น วินิจฉัยประการเดียวเท่านั้น และไม่วินิจฉัยถึงประเด็นที่ว่าสัญญาจ้างว่าความขัดต่อกฎหมายหรือไม่ จึงเป็นการชอบด้วยเหตุผลแล้ว

พิพากษายืน

Share