แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการซื้อขายตามสัญญาซื้อขายที่ดิน ถ้าศาลบังคับให้ตามฟ้อง ก็จะมีผลให้โจทก์ได้ที่ดินราคา 3,000 บาทตามสัญญาซื้อขายนั้น คดีเช่นนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์ 3,000 บาท
เมื่อจำเลยยอมลงนามในสัญญาซื้อขายไปทั้ง ๆ ที่ทราบความจริงว่าโจทก์มิได้เขียนข้อกำหนดลงไว้ในสัญญาว่าโจทก์ผู้ซื้อที่ดินจะต้องปลูกสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย เช่นนี้จำเลยจะนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาซื้อขายเกี่ยวกับข้อกำหนดเช่นว่านั้นไม่ได้
เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยรับเงินค่าซื้อขายที่ดินจากโจทก์ไว้เสร็จสิ้นแล้ว ไม่ยอมไปจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินให้โจทก์ และโจทก์เตือนให้ปฏิบัติตามสัญญาแล้ว จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาโดยพลการเพื่อจะได้ไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ เช่นนี้ จำเลยเป็นฝ่ายกระทำการไม่ชอบ โจทก์ขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกันได้.
ย่อยาว
เรื่อง ผิดสัญญาซื้อขายที่ดิน
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ไปจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินตามสัญญาซื้อขายที่ทำกันไว้ และโจทก์ได้ชำระราคาที่ดินให้จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว
จำเลยต่อสู้ว่า สัญญาไม่มี วัน เดือน ปี และไม่ปรากฎว่าเป็นที่ดินแปลงใด อีกทั้งมีเงื่อนไขว่าผู้ซื้อที่ดินต้องปลูกบ้านในที่ ๆ จะซื้อขายนี้เสียก่อน จำเลยเซ็นสัญญาโดยไม่ทราบข้อความ โจทก์ยังไม่ได้ปลูกสร้างอะไรลงในที่ดิน เป็นการผิดข้อตกลงและพ้นเวลาที่ตกลงกันไว้แล้ว จำเลยทำหนังสือบอกเลิกสัญญากับโจทก์แล้ว จำเลยจึงหมดข้อผูกพันตามสัญญา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง
ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง ให้จำเลยไปจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินโฉนดที่ ๖๓๘๔ เนื้อที่ ๑๐๐ ตารางวา ให้โจทก์ตามสัญญาหมาย จ.๑
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อแรกที่จะต้องพิจารณาคือ คดีนี้เป็นคดีมีทุนทรัพย์หรือเป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์ซึ่งกำหนดลงเป็นราคาเงินมิได้ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้โจทก์จะมีคำขอท้ายฟ้องให้ศาลบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการซื้อขายที่ดินโฉนดที่ ๖๓๘๔ ให้แก่โจทก์ ซึ่งดูแต่เพียงเผิน ๆ เป็นคดีซึ่งกำหนดลงเป็นราคาเงินมิได้ก็ตาม ถ้าศาลบังคับให้ตามฟ้องก็จะมีผลให้โจทก์ได้ที่ดินราคา ๓,๐๐๐ บาทตามที่โจทก์เรียกร้องในคำฟ้องนั้นเอง คดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ ๓,๐๐๐ บาท
ที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยต่อสู้ไว้ในคำให้การว่า โจทก์เขียนสัญญาให้จำเลยโดยไม่ได้อ่านให้จำเลยฟัง จำเลยอ่านหนังสือไทยไม่ออก ก่อนเซ็นสัญญาก็ได้ตกลงกันในที่ประชุมชาวอิสลามแล้วว่าผู้ซื้อจะต้องปลูกสร้างอาคารเพื่ออยู่อาศัย แต่โจทก์ใช้กลฉ้อฉลให้จำเลยลงชื่อในสัญญาโดยมิได้เขียนข้อกำหนดนี้ไว้ในสัญญาหมาย จ. ๑ สัญญานี้จึงเป็นโมฆะโดยกลฉ้อฉลของโจทก์ จำเลยอาจนำสืบข้อเท็จจริงถึงความไม่สมบูรณ์ของสัญญาได้ตาม ป.วิ.แพ่ง มาตรา ๙๔ วรรคท้ายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อจำเลยยอมลงนามในสัญญาหมาย จ.๑ ไปทั้ง ๆ ที่ทราบความจริงอยู่เช่นนี้ จะมาต่อสู้ว่าโจทก์ทำกลฉ้อฉลเป็นเหตุให้ตนเสียเปรียบอย่างไรได้ ที่ศาลล่างทั้งสองไม่ยอมให้จำเลยนำสืบแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาหมาย จ.๑ ชอบแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การบอกเลิกสัญญาของจำเลยใช้ไม่ได้ เพราะบอกเลิกภายหลังโจทก์เตือนให้จำเลยจัดการโอนที่ให้โจทก์ และจำเลยได้รับเงินไปเสร็จแล้วนั้น เป็นการไม่ชอบ เพราะโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ลูกหนี้คือจำเลยย่อมชอบที่จะบอกเลิกสัญญาได้ ศาลฎีกาเห็นว่าฝ่ายที่ผิดสัญญาในเรื่องนี้คือจำเลย ไม่ใช่โจทก์ เมื่อจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา และโจทก์เตือนให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาแล้ว จำเลยกลับบอกเลิกสัญญาเสียโดยพลการเพื่อจะได้ไม่ต้องชำระหนี้ให้โจทก์ จำเลยเองเป็นฝ่ายกระทำการไม่ชอบ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาที่ทำไว้ต่อกันได้.