แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สัญญาซื้อขายระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ผู้ซื้อ ข้อ 3 ระบุว่ากรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อเมื่อผู้ซื้อชำระราคาตามเงื่อนไขครบถ้วน ข้อ 6 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดขาดการชำระเงินงวดใด จำนวนใด ผู้ขายย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลืออยู่ในขณะนั้นเสียโดยครบถ้วนโดยพลันก็ได้นั้นมีสาระสำคัญแตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572,574 จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไข เมื่อในระหว่างที่ยังชำระเงินค่างวดอยู่รถยนต์ที่ซื้อขายได้สูญหายไปเพราะถูกคนร้ายลัก แม้จะไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันสัญญาดังกล่าวต้องร่วมรับผิดด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ได้ซื้อรถยนต์จากโจทก์ไป 1 คันราคา 199,900 บาท ชำระเงินในวันทำสัญญา 40,000 บาท ที่เหลือผ่อนชำระ 30 เดือน เดือนละ 5,330 บาท จำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ผ่อนชำระเงินได้งวดเดียวก็ผิดนัด ต่อมาจำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ทราบว่ารถยนต์ได้สูญหายไป โจทก์เห็นว่า จำเลยที่ 1 ยังต้องรับผิดที่รถยนต์สูญหายตามสัญญา และโจทก์ได้รับเงินจากบริษัทประกันภัยมาแล้ว 100,000 บาท ยังคงค้างอยู่อีก 54,570 บาท ขอให้จำเลยทั้งสองรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า ความจริงสัญญาที่จำเลยที่ 1 ทำกับโจทก์เป็นสัญญาเช่าซื้อ รถยนต์ที่สูญหายไปเพราะเหตุสุดวิสัยจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิด จำเลยที่ 2 ก็ไม่ต้องรับผิดด้วย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงิน 17,670 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ย โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินให้แก่โจทก์ 54,570 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2529 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาซื้อรถยนต์กระบะยี่ห้ออีซูซุไปจากโจทก์ 1 คัน ในราคา 199,900 บาท จำเลยที่ 2เป็นผู้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตามสัญญาเอกสารหมาย จ.4 ชำระเงินในวันทำสัญญา 40,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเดือนละ 1 งวด จำนวนเงิน 5,330 บาท รวม 30 งวดจำเลยที่ 1 ได้ผ่อนชำระค่างวดให้โจทก์เพียงงวดเดียวรถยนต์ก็ถูกคนร้ายลักไป บริษัทประกันภัยได้ชดใช้เงินให้โจทก์ตามสัญญาประกันภัยจำนวน 100,000 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสองร่วมรับผิดต่อโจทก์อีก 54,570 บาท แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย คดีมีปัญหาว่าสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสัญญาซื้อขายโดยมีเงื่อนไขหรือเป็นสัญญาเช่าซื้อ และโจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์ข้อความในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แล้ว ข้อ 3 ระบุว่า กรรมสิทธิ์ในรถยนต์จะตกไปอยู่แก่ผู้ซื้อ เมื่อผู้ซื้อชำระราคาตามเงื่อนไขครบถ้วน ข้อ 6 ระบุว่า ในกรณีที่ผู้ซื้อผิดนัดขาดการชำระเงินงวดใด จำนวนใดตามที่มีหน้าที่ต้องชำระโดยสัญญาฉบับนี้และหรือสัญญาฉบับอื่นใดที่ผู้ซื้อได้ทำไว้แก่ผู้ขายก็ดี…ก็ย่อมมีสิทธิที่จะเรียกให้ผู้ซื้อชำระราคาที่เหลืออยู่ในขณะนั้นเสียโดยครบถ้วนโดยพลันก็ได้…ซึ่งแตกต่างกับข้อความในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 572 ซึ่งบัญญัติว่า “อันว่าเช่าซื้อนั้น คือสัญญาซึ่งเจ้าของเอาทรัพย์สินออกให้เช่า และให้คำมั่นว่าจะขายทรัพย์สินนั้น หรือว่าจะให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นสิทธิแก่ผู้เช่า โดยเงื่อนไขที่ผู้เช่าได้ใช้เงินเป็นจำนวนเท่านั้นเท่านี้คราว…” และมาตรา 574บัญญัติว่า “ในกรณีผิดนัดไม่ใช้เงินสองคราวติด ๆ กัน หรือกระทำผิดสัญญาในข้อที่เป็นส่วนสำคัญ เจ้าของทรัพย์สินจะบอกเลิกสัญญาเสียก็ได้ ถ้าเช่นนั้นบรรดาเงินที่ได้ใช้มาแล้วแต่ก่อน ให้ริบเป็นของเจ้าของทรัพย์สิน…” สาระสำคัญของข้อความในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แตกต่างกับสัญญาเช่าซื้อดังกล่าว จึงเป็นสัญญาซื้อขายมีเงื่อนไขดังที่ระบุในสัญญานั้นเอง ส่วนเรื่องอำนาจฟ้องนั้นปรากฏจากข้อความในหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.3 ว่าโจทก์มอบอำนาจให้นางสาวมัลลิกา วงศ์ดาราพานิช มีอำนาจกระทำการจดทะเบียนและโอนทะเบียนรถยนต์ไปยังผู้ซื้อแทนห้างโจทก์ได้ ฉะนั้นนางสาวมัลลิกาจึงมีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของโจทก์ในฐานะผู้ขายในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.4 แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง เมื่อปรากฏว่า รถยนต์ที่ซื้อขายได้สูญหายไปเพราะถูกคนร้ายลัก แม้จะไม่ใช่ความผิดของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ก็ต้องรับผิดตามสัญญาข้อ 5 โดยจำเลยที่ 2 ผู้ค้ำประกันต้องร่วมรับผิดด้วย”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น