คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 155/2501

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ระหว่างฎีกามีพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ2499 ออกใช้โทษที่จำเลยเคยรับมาก่อนเป็นอันไม่มีจึงกักกันจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2499 เวลากลางวันจำเลยบังอาจลักสายสร้อยคอทองคำหนัก 2 สลึง ราคา 250 บาท ของนางกิมเง็ก เพ็ชร์พวงซึ่งสวมอยู่ที่คอบุตรของนางกิมเง็ก เพ็ชรพวงไป เหตุเกิดที่ตำบลสามเสนใน อำเภอดุสิต จังหวัดพระนคร ก่อนคดีนี้จำเลยเคยต้องโทษมาแล้วตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง จำเลยพ้นโทษแล้วกลับมากระทำความผิดขึ้นอีกภายใน 5 ปี ขอให้เพิ่มโทษฐานไม่เข็ดหลาบด้วย และเนื่องจากจำเลยได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้ว 2 ครั้ง ปรากฏตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง ซึ่งมิใช่ความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษ และความผิดที่จำเลยกระทำมาแล้วเป็นความผิดอาญาอันเป็นเหตุร้าย ตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 4 ขอให้ลงโทษจำเลยตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288,72 และกักกันจำเลยตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 8, 9 เพิ่มขึ้นอีกโสดหนึ่ง

จำเลยให้การปฏิเสธ คงรับแต่ในข้อเคยต้องโทษและพ้นโทษตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังว่าจำเลยเป็นผู้กระทำผิดตามฟ้องพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288ให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี จำเลยเคยต้องคำพิพากษาว่ากระทำผิดมาแล้วพ้นโทษไปยังไม่พ้นกำหนด มากระทำความผิดขึ้นอีก ไม่เข็ดหลาบให้เพิ่มโทษตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 72 อีก 1 ใน 3 เป็นจำคุกจำเลย 4 ปี จำเลยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้ว 2 ครั้ง ปรากฏตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้อง ซึ่งมิใช่ความผิดฐานประมาทหรือลหุโทษความผิดของจำเลยครั้งนี้ เป็นเหตุร้ายตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 4 เมื่อพ้นโทษจากคดีนี้แล้ว ให้ส่งตัวจำเลยไปกักกันตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 8, 9 อีก 3 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่เนื่องจากเมื่อคดีมาสู่ศาลอุทธรณ์ได้ใช้ประมวลกฎหมายอาญาแล้ว และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 39, 40ได้บัญญัติให้การกักกันเป็นวิธีการเพื่อความปลอดภัยอย่างหนึ่งไม่ใช่โทษ จึงให้เปลี่ยนโทษกักกันจำเลยตามพระราชบัญญัติกักกันผู้มีสันดานเป็นผู้ร้าย พ.ศ. 2479 มาตรา 8, 9 มาเป็นการกักกันตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 41 มีกำหนด 3 ปี เท่าเดิม

จำเลยฎีกาว่า จำเลยควรได้รับยกเว้นการกักกันและการเพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499

ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ในชั้นพิจารณาฎีกานี้มีพระราชบัญญัติล้างมลทินในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ พ.ศ. 2499มาตรา 3 ซึ่งใช้บังคับ ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2500 เป็นต้นไป บัญญัติความว่า “ให้ล้างมลทินให้แก่บรรดาผู้ต้องคำพิพากษาให้ลงโทษในกรณีความผิดคดีต่าง ๆ ซึ่งเกิดขึ้นก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 และได้พ้นโทษไปแล้วก่อน หรือในวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ หรือซึ่งได้พ้นโทษไปโดยผลแห่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการพระราชทานอภัยโทษ เนื่องในโอกาสครบ 25 พุทธศตวรรษ โดยให้ถือว่าผู้นั้นมิได้เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดในคดีนั้น ๆ ” ความผิดของจำเลยในคดีก่อนตามใบแดงแจ้งโทษท้ายฟ้องเกิดขึ้น ก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499และได้พ้นโทษไปแล้วก่อนวันที่ พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ฉะนั้นโดยบทบัญญัติที่กล่าวนี้ต้องถือว่าจำเลยมิได้เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด ในคดีตามใบแดงแจ้งโทษ นั้นเลย เมื่อเช่นนี้ย่อมไม่มีความผิดที่ศาลจะนำมาพิจารณากักกัน หรือเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมายว่าด้วยการกักกันหรือเพิ่มโทษได้

อาศัยเหตุดังกล่าว จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เฉพาะความที่ให้กักกันจำเลย และเพิ่มโทษจำเลย โดยตัดออกเสีย คงให้ลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 288 เท่านั้น

Share