คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1547/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมาย มิได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาแต่ประการใด ฉะนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์นั้นศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงใหม่โดยมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์เลยนั้นจึงมิชอบและแม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในเรื่องนี้มาก็ตาม แต่เมื่อเป็นปัญหาเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์ ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นอ้างได้โดยพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2517 เวลากลางวัน จำเลยรู้อยู่แล้วว่ามิได้มีการกระทำความผิดอาญาเกิดขึ้น ได้นำเอาข้อความอันเป็นเท็จไปแจ้งต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี ว่าโจทก์ทุจริตนำรถยนต์ยี่ห้อดัทสันซึ่งมิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ ไปหลอกขายให้จำเลยโดยอ้างว่าเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อยอมมอบทรัพย์ให้โจทก์เป็นการซื้อขายรถยนต์คันดังกล่าว ทำให้จำเลยเสียหาย ขอให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีกับโจทก์ ข้อความที่จำเลยแจ้งดังกล่าวเป็นความเท็จ ความจริงจำเลยรู้อยู่แล้วว่ารถยนต์คันดังกล่าวอยู่ในระหว่างที่โจทก์เช่าซื้อ ยังไม่เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ขายรถยนต์ให้จำเลยโดยให้จำเลยชำระค่าเช่าซื้อต่อไป จนครบแล้วผู้ให้เช่าซื้อจะโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์แก่จำเลย จำเลยไม่ชำระค่าเช่าซื้อ โจทก์จึงยึดรถยนต์กลับคืนมา จำเลยนำความเท็จไปแจ้งแก่พนักงานสอบสวนโดยเจตนาจะแกล้งให้โจทก์ต้องรับโทษทางอาญา ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173, 174

ศาลชั้นต้นพิจารณาคดีแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานแจ้งความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 137, 172, 173 และ 174 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 174 อันเป็นบทหนัก จำคุกจำเลย 1 ปี

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ฟัง จำเลยได้แจ้งความและให้การไปตามเรื่องราวที่เป็นจริงไม่มีความผิดฐานแจ้งความเท็จ พิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

วินิจฉัยว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง พิพากษาลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า “คำฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์ทุจริตนำเอารถซึ่งไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ไปหลอกขายให้แก่จำเลยโดยอ้างว่าเป็นของโจทก์ เป็นเหตุให้จำเลยหลงเชื่อและยอมส่งมอบทรัพย์เพื่อเป็นการซื้อรถยนต์ดังกล่าว ตามที่ถูกโจทก์หลอกลวง แต่ในรายงานเป็นเสร็จประจำวันนั้นไม่มีข้อความดังกล่าวนี้เลย มีแต่เพียง โจทก์หลอกลวงเอารถยนต์ของจำเลยไปจากนายฉลวยคนขับรถของจำเลย เมื่อคำฟ้องไม่ตรงกับคำแจ้งความของจำเลยที่แจ้งไว้กับพนักงานสอบสวนอำเภอหนองขาหย่างที่ปรากฏในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันที่จำเลยอ้างเป็นพยานติดในสำนวนคดีนี้แล้ว ศาลก็ย่อมจะได้ยกฟ้องโจทก์เสีย” ส่วนโจทก์ไม่ได้แก้อุทธรณ์ จำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งข้อเท็จจริงที่ศาลชั้นต้นฟังมาแต่ประการใด ฉะนั้น ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์นั้น ศาลอุทธรณ์จะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 194 การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงใหม่ โดยมิได้วินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์เลยนั้นจึงมิชอบ แม้โจทก์จะมิได้ฎีกาในเรื่องนี้มาก็ตาม แต่เมื่อเป็นปัญหาเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาว่าด้วยอุทธรณ์ศาลฎีกาชอบที่จะยกขึ้นอ้างได้

พิพากษาให้ยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาปัญหาข้อกฎหมายที่จำเลยอุทธรณ์แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share