คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1545-1546/2527

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จัดการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 และลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจก็ไม่ใช่ลายมือชื่อโจทก์โจทก์ผู้เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทได้ขณะจำเลยที่ 1 จำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 ที่ 4 โจทก์ยังเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์อยู่ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของการจำนองจึงไม่มีผล แม้จำเลยที่ 3 ที่ 4 รับจำนองไว้โดยสุจริตโจทก์มีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของโจทก์ได้

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นที่ไม่โต้เถียงกันรับฟังได้ว่า โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องร่วมบิดามาดาเดียวกันและเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทร่วมกันตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2 หรือใบแทนเอกสารหมาย ล.1 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2522 ได้มีการทำนิติกรรมจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 1 โดยเสน่หา โดยพนักงานเจ้าหน้าที่อาศัยหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 รวม 3 ฉบับ ซึ่งต่างมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจดทะเบียนให้ที่ดินเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจดทะเบียนให้ที่ดินเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 แล้วในวันเดียวกันนั้นเอง จำเลยที่ 1 ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นเงิน 108,800 บาท มีกำหนด 1 ปี หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสองคือหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 (แยกคนละฉบับ) ซึ่งโจทก์ทั้งสองปฏิเสธว่าไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จัดการดังกล่าว คดีคงมีปัญหาตามข้อฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองได้มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการจดทะเบียนให้ที่ดินเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 ตามหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ. จริงหรือไม่ ” ฯลฯ

“คดีนี้โจทก์ทั้งสองต่างเบิกความยืนยันว่า การโอนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองไม่ทราบเรื่อง ใครไปทำโอนก็ไม่ทราบ และเบิกความยืนยันว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสองด้วย ฝ่ายจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ต่างเบิกความซัดทอดกันและขัดกันโดยจำเลยที่ 1 เบิกความว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้นำหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ทั้งสองมามอบให้จำเลยที่ 1 ในวันนัดจดทะเบียนที่ดินพิพาท และเบิกความยอมรับว่าทราบภายหลังว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจจริง ส่วนจำเลยที่2 เบิกความว่าจำเลยที่ 1 จัดการอย่างไรเกี่ยวกับการจดทะเบียนที่ดินพิพาทจำเลยที่ 2 ไม่ทราบและจำเลยที่ 2 ไม่เคยเห็นหนังสือมอบอำนาจเอกสารหมาย จ.1 มาก่อน ศาลฎีกาเห็นว่า ตามรูปคดีดังกล่าวเมื่อโจทก์ทั้งสองนำสืบว่า โจทก์ทั้งสองไม่เคยลงชื่อมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจัดการเรื่องที่ดินพิพาทและไม่เคยยกที่ดินพิพาทส่วนของตนให้ใครและนำสืบยืนยันว่าลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสองแล้ว ฝ่ายจำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้นำสืบหักล้างโดยไม่นำสืบให้เห็นเลยว่า โจทก์ทั้งสองมีเหตุจำเป็นอย่างไรที่จะต้องทำหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้มีอำนาจจัดการเช่นนั้นและไม่ได้นำสืบยืนยันให้เห็นเลยว่า ลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 เป็นลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสองกลับนำสืบซัดทอดกันโดยไม่ยอมรับรู้ว่าหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 มีความเป็นมาอย่างไรหรือทำกันที่ไหนอันส่อแสดงให้เห็นถึงข้อพิรุธหรือการกระทำโดยทุจริตของจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าทราบภายหลังว่าโจทก์ทั้งสองไม่ได้ลงชื่อในหนังสือมอบอำนาจจริง เช่นนี้แล้วข้อเท็จจริงย่อมฟังได้ตามที่โจทก์ทั้งสองนำสืบว่าโจทก์ทั้งสองไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จัดการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 และลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองเห็นว่าคำเบิกความของโจทก์ทั้งสองเลื่อนลอยเพราะโจทก์ทั้งสองไม่ได้ขอให้ส่งลายมือชื่อที่แท้จริงของโจทก์ทั้งสองไปให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจพิสูจน์เทียบเคียงกับลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจในเอกสารหมาย จ.1 นั้นเมื่อฟังว่าโจทก์ทั้งสองไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 จัดการจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของตนแก่จำเลยที่ 1 และลายมือชื่อผู้มอบอำนาจในหนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.1 ไม่ใช่ลายมือชื่อของโจทก์ทั้งสองแล้ว โจทก์ทั้งสองผู้เป็นเจ้าของย่อมมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินที่พิพาทเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองได้ สำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 นั้น เมื่อฟังว่าขณะจำนองที่ดินโจทก์ทั้งสองยังเป็นเจ้าของที่ดินในส่วนของโจทก์ทั้งสองอยู่ จำเลยที่ 1 ไม่ใช่เจ้าของ การจำนองที่ดินพิพาทในส่วนของโจทก์ทั้งสองจึงไม่มีผล แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 3 และที่ 4 รับจำนองไว้โดยสุจริตก็ตาม โจทก์ทั้งสองย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมจำนองที่ดินพิพาทในส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสองได้ ฎีกาโจทก์ทั้งสองฟังขึ้น

พิพากษากลับ เป็นให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ที่ดินเฉพาะส่วนของโจทก์ทั้งสองกับเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินในส่วนที่เป็นของโจทก์ทั้งสองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์เอกสารหมาย จ.2 หรือใบแทนเอกสารหมาย ล.1 เสีย ให้จำเลยทั้งสี่ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความสามศาลสำนวนละ 2,000 บาท”

Share