คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1543/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีก่อนโจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหาย ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยตามฟ้อง คดีถึงที่สุดแล้ว แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยได้ต่อยผู้เสียหาย และเอาอาวุธปืนจี้ที่หน้าท้องผู้เสียหายมีเสียงดังแซะกระสุนปืนไม่ลั่น แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนตบกกหูซ้ายผู้เสียหายบาดเจ็บก็ตาม ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว เมื่อโจทก์ฟ้องคดีก่อนเกี่ยวกับความผิดของจำเลยจนศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งฟ้องได้ สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไป การที่โจทก์มาฟ้องจำเลยฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายเป็นคดีนี้ จึงเป็นการฟ้องซ้ำต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา มาตรา 39 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยใช้อาวุธปืนพยายามฆ่าผู้เสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๐, ๒๘๘
จำเลยให้การปฏิเสธ และว่าฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๒๓๘/๒๕๑๙ ของศาลแขวงชลบุรี
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยในคดีนี้เป็นกรรมเดียวกันกับการกระทำของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๒๓๘/๒๕๑๙ ของศาลแขวงชลบุรี ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้โดยอาศัยการกระทำผิดของจำเลยในคราวเดียวกับที่พนักงานอัยการศาลแขวงชลบุรีให้ฟ้องจำเลยและพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้วนั้น เป็นการฟ้องซ้ำ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยใข้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายกับการกระทำที่จำเลยทำร้ายผู้เสียหาย ถือได้ว่า เป็นกรรมเดียว เมื่อมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิด ซึ่งได้ฟ้องแล้ว สิทธิของโจทก์ที่จะนำคดีมาฟ้องย่อมระงับ ไม่จำต้องวินิจฉัยว่า จำเลยได้ใช้อาวุธปืนยิงพยายามฆ่าผู้เสียหายดังฟ้องหรือไม่ พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้ความจากคำพยานโจทก์ว่า จำเลยได้ต่อยนายสุวัฒน์ผู้เสียหาย และชักอาวุธปืนสั้นออกมาจี้หน้าท้องผู้เสียหาย และมีเสียงดังแซะทำนองกระสุนปืนไม่ลั่น แล้วจำเลยใช้อาวุธปืนตบกกหูซ้ายของผู้เสียหายบาดเจ็บ ส่วนจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยใช้ตะไบตบกกหูซ้ายผู้เสียหาย และจำเลยได้ถูกฟ้องศาลแขวงชลบุรีในข้อหาทำร้ายร่างกายในการกระทำดังกล่าว ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว โจทก์ฟ้องคดีนี้อีกไม่ได้
ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของจำเลยที่ก่อให้เกิดความผิดคดีนี้ขึ้นนั้น แม้หากจะฟ้องข้อเท็จจริงดังโจทก์นำสืบ ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องเป็นกรรมเดียว แม้จะหลายฐานความผิด ก็เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องฟ้องจำเลยเป็นคดีเดียว หาอาจแยกฟ้องคดีแต่ละฐานความผิดเป็นรายคดีไปได้ไม่ เมื่อโจทก์ร้องคดีต่อศาลแขวงชลบุรีเกี่ยวกับความผิดของจำเลยจนศาลพิพากษาลงโทษจำเลยคดีถึงที่สุดแล้ว ย่อมถือได้ว่ามีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้อง สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไป การที่โจทก์มาฟ้องอีกเป็นคดีนี้ เป็นการต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔)
พิพากษายืน

Share