แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนศาลพิพากษาให้จำเลยในฐานะทายาทผู้รับมรดกของ พ.ชำระหนี้เงินกู้แก่โจทก์ จำเลยและผู้ร้องขัดทรัพย์ได้จดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้รับมรดกที่ดินของ พ. เช่นนี้ แม้จำเลยและผู้ร้องจะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแทน พ. เจ้ามรดกแล้วก็ตาม แต่ที่พิพาทก็ยังเป็นทรัพย์ในกองมรดกของ พ. อยู่นั่นเอง โจทก์ชอบที่จะยึดมาชำระหนี้ได้
แม้จะฟังว่าจำเลยที่ 1 และผู้ร้องมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมในโฉนดที่ดินแปลงที่โจทก์ยึดก็ตาม แต่เมื่อยังไม่มีการแบ่งแยกโฉนดเป็นสัดส่วน จำเลยจึงยังมีส่วนเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ด้วยโจทก์มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินแปลงนั้นได้
ย่อยาว
คดีนี้ เดิมโจทก์ฟ้องจำเลยในฐานะเป็นทายาทผู้รับมรดกของนางพร้อม ขันธมิตรให้ชำระเงินตามหนังสือสัญญากู้ ซึ่งก่อนตายนางพร้อมได้กู้เงินไปจากโจทก์รวมทั้งดอกเบี้ย 8,400 บาท ต่อมาโจทก์ถอนฟ้องเฉพาะจำเลยที่ 2 ที่ 3 คงดำเนินคดีกับจำเลยที่ 1ต่อไปศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินกู้ตามฟ้อง เมื่อครบกำหนดเวลาตามคำบังคับ จำเลยที่ 1 ไม่ชำระเงินให้โจทก์ โจทก์จึงนำยึดที่ดินโฉนดที่ 4586 กับที่ 4568 ตำบลขยาย อำเภอบางปะหันจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยอ้างว่าเป็นทรัพย์ในกองมรดกของนางพร้อม
ผู้ร้องทั้งสามคือจำเลยที่ 2 ที่ 3 กับจ่าสิบเอกนคร ยื่นคำร้องขัดทรัพย์ว่าผู้ร้องและจำเลยที่ 1 เป็นทายาทของนางพร้อมเจ้ามรดกได้จดทะเบียนลงชื่อผู้ร้องและจำเลยที่ 1 รับมรดกที่ดินที่โจทก์นำยึดต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ขอให้ปล่อยการยึดเฉพาะส่วนของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นสั่งว่า ผู้ร้องขัดทรัพย์อ้างว่า ที่ดินที่โจทก์นำยึดทั้งสองโฉนดเป็นทรัพย์ที่ผู้ร้องขัดทรัพย์ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษา ฉะนั้น ผู้ร้องขัดทรัพย์จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์ที่ยึดหาได้ไม่ จึงให้ยกคำร้องของผู้ร้องขัดทรัพย์เสีย แต่ไม่ตัดสิทธิที่ผู้ร้องขัดทรัพย์จะเรียกให้จัดการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีปัญหาว่าผู้ร้องขัดทรัพย์จะร้องขอให้ปล่อยทรัพย์เฉพาะส่วนของผู้ร้องได้หรือไม่ เห็นว่า การร้องขอให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นนี้ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 288 บัญญัติว่า ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งมาตรา 55 ถ้าบุคคลใดกล่าวอ้างว่า จำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ใช่เจ้าของทรัพย์สินที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้ ก่อนที่ได้เอาทรัพย์สินเช่นว่านี้ออกขายทอดตลาดหรือจำหน่ายโดยวิธีอื่น บุคคลนั้นอาจยื่นคำร้องขอต่อศาลที่ออกหมายบังคับคดีให้ปล่อยทรัพย์สินเช่นว่านั้นได้ แต่คดีนี้ปรากฏตามคำร้องของผู้ร้องว่า จำเลยที่ 1 คือลูกหนี้ตามคำพิพากษามีชื่อเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับผู้ร้องทั้งสามในที่ดินโฉนดเลขที่ 4586 และ 4568 ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดียึดไว้นั้น เดิมเป็นที่ดินของนางพร้อมเจ้ามรดก ผู้ร้องและจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนลงชื่อเป็นผู้รับมรดกขณะที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทผู้รับมรดกของนางพร้อมชำระหนี้แก่โจทก์ แม้ผู้ร้องจะมีชื่อถือกรรมสิทธิ์ที่พิพาทแทนนางพร้อมเจ้ามรดกแล้วก็ตาม แต่ที่พิพาทยังเป็นทรัพย์ในกองมรดกของนางพร้อมอยู่นั่นเองโจทก์ชอบที่จะยึดมาชำระหนี้ได้ตามนัยฎีกาที่ 193/2510 ระหว่าง นายคำ เทียนอำไพ โจทก์ นางใจ รักษาพล จำเลย นางชลอ ลัพบุตร กับพวก ผู้ร้องกรณีจึงไม่ต้องตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 288 แม้จำเลยที่ 1 จะมีชื่อเป็นเจ้าของร่วมในที่ดินโฉนดดังกล่าวกับผู้ร้อง ผู้ร้องก็ไม่มีสิทธิที่จะขอให้ปล่อยทรัพย์นั้นได้ เพราะยังไม่ปรากฏว่าได้มีการแบ่งแยกโฉนดกันออกเป็นส่วนสัดอย่างไร จำเลยจึงยังมีส่วนเป็นเจ้าของอยู่ด้วยในที่ดินทั้งสองแปลงนั้น และโจทก์มีสิทธินำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์นั้นได้ ตามนัยแห่งคำพิพากษาฎีกาที่ 1750/2500 ระหว่างนางเย็น แป้นประเสริฐ โจทก์ นางเหนียง เจือเพชร จำเลย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ยกคำร้องเสียนั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ให้ผู้ร้องเสียค่าทนายชั้นฎีกา 100 บาทแทนโจทก์ด้วย