คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1541/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

อาคารประเภทควบคุมการใช้เมื่อก่อสร้างเสร็จแล้ว ก่อนใช้จะต้องได้รับใบรับรองการก่อสร้างก่อน การที่จำเลยเปิดใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ตั้งแต่การก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จึงมีความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้าง และเมื่อเจ้าพนักงานท้องถิ่นมีคำสั่งให้จำเลยระงับการใช้จำเลยยังคงฝ่าฝืนใช้อาคารต่อไปจึงมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการก่อสร้างด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นผู้ดำเนินการโดยเป็นเจ้าของอาคารตึก 4ชั้น 1 หลัง พื้นที่อาคาร 2.640 ตารางเมตร ตั้งอยู่ที่ซอยทองหล่อ ถนนสุขุมวิท แขวงพระโขนง เขตพระโขนง กรุงเทพมหานครและเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำการก่อสร้างและครอบครองอาคารดังกล่าวสำหรับใช้เพื่อกิจการพาณิชยกรรม อันเป็นอาคารประเภทควบคุมการใช้ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติ ควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 จำเลยกับพวกอีกคนหนึ่งซึ่งหลบหนีเป็นผู้ควบคุมงานได้ร่วมกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบทหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ
ก.เมื่อระหว่างวันที่ 26 พฤศจิกายน 2530 ถึงวันที่ 20พฤษภาคม 2531 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน จำเลยกับพวกได้ร่วมกันก่อสร้างอาคารดังกล่าว ผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตกล่าวคือจำเลยกับพวกได้ทำการก่อสร้างพื้นอาคารชั้นล่าง ชั้นที่สองชั้นที่สาม ขาดเสาไปชั้นละ 4 ต้น และชั้นที่สี่ขาดเสาไป 6 ต้นโดยไม่ได้รับการยกเว้นใด ๆ ตามกฎหมาย
ข.เมื่อระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม2531 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน นายปรีชา โกศลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนลงวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ให้จำเลยกับพวกทราบคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างอาคารดังกล่าว จำเลยกับพวกทราบคำสั่งแล้วได้ร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น โดยไม่ระงับการก่อสร้างทั้งนี้ไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควรและไม่ได้รับยกเว้นใด ๆตามกฎหมาย รวมเวลาที่จำเลยกับพวกร่วมกันฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่น จำนวน 170 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ค.เมื่อระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 9 มกราคม2531 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกัน นายปรีชา โกศลซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนลงวันที่ 3 ธันวาคม 2530 ให้จำเลยทราบคำสั่งให้จำเลยแก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารซึ่งก่อสร้างผิดไปจากแบบที่ได้รับอนุญาตดังกล่าวในข้อ ก. ให้ถูกต้องตามแบบที่ได้รับอนุญาตภายในกำหนด 30 วันนับแต่วันที่ได้รับทราบคำสั่ง ซึ่งจำเลยได้ทราบคำสั่งเมื่อวันที่ 9ธันวาคม 2530 แล้ว จำเลยไม่แก้ไขเปลี่ยนแปลงอาคารภายในกำหนดเวลาดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น
ง.เมื่อระหว่างวันที่ 28 ธันวาคม 2530 ถึงวันที่ 25 พฤศจิกายน2531 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยได้ใช้หรือยินยอมให้บุคคลอื่นใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ดังกล่าวในข้อ ก. โดยใช้เป็นสำนักงานหรือที่ทำการเพื่อพาณิชยกรรมโดยเปิดดำเนินกิจการเป็นสถานบริการชื่อว่า ยัวร์เพลส์ ในอาคารควบคุมการใช้ดังกล่าวโดยไม่มีใบรับรองของเจ้าพนักงานท้องถิ่นว่า การก่อสร้างอาคารเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว รวมระยะเวลาที่จำเลยฝ่าฝืนจำนวน 291 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
จ.เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2531 เวลากลางวัน นายวิชา จิวาลัยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งแจ้งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนให้จำเลยทราบคำสั่งให้ระงับการใช้อาคาร ดังกล่าวในข้อ ก.และจำเลยได้รับทราบคำสั่งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2531 เมื่อระหว่างวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2531 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2531 เวลากลางวันและกลางคืน จำเลยได้ฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยไม่ระงับการใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้ดังกล่าวในข้อ ก.โดยใช้เป็นสำนักงานหรือที่ทำการพาณิชยกรรมโดยเปิดดำเนินการเป็นสถานบริการ ชื่อว่า ยัวร์เพลส์ ในอาคารประเภท ควบคุมการใช้นั้น โดยไม่มีใบรับรองของเจ้าพนักงานท้องถิ่นตั้งแต่วันที่ดังกล่าวข้างต้นรวมระยะเวลาที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานท้องถิ่น288 วัน อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 31, 32, 40, 43, 44, 47, 65,69, 70 กฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 368
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง, 32 วรรคสอง,40, 43, 44, 65, 69, 70 กฎกระทรวงฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2527) ออกตามความในพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 90, 91, 368 ลงโทษฐานร่วมกันก่อสร้างอาคารผิดไปจากแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31,65 วรรคหนึ่ง, 69 ปรับ 15,000 บาท ลงโทษฐานฝ่าฝืนใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่รับอนุญาต 291 วัน ตามมาตรา 32, 65 วรรคสอง,69, 70 จำคุก 6 เดือน ปรับ 2,910,000 บาท ลงโทษฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานที่สั่งให้ระงับการใช้อาคาร 288 วันตามมาตรา 32, 44, 67, 70 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี และปรับ 2,880,000 บาทรวมเป็นลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และปรับ 5,805,000 บาทจำเลยให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม จำคุก 1 ปี และปรับ3,870,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 2 ปี ตามมาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้กักขัง 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 29, 30 จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องความผิดฐานใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้างและความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองการก่อสร้าง นอกจากที่แก้ให้คงเป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่าจำเลยฝ่าฝืนใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้างและข้อสองว่า จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานท้องถิ่นให้ระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับรองการก่อสร้างหรือไม่ปัญหาข้อแรกโจทก์ฟ้องและนำสืบว่า เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2530นายธำรง จันทร์หอม นายช่างโยธา 3 เขตพระโขนง ตรวจพบว่าจำเลยได้ใช้อาคารดังกล่าวชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 เป็นสถานบริการจำหน่ายเครื่องดื่มอาหารและมีดนตรีตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2530ใช้ชื่อสถานบริการว่ายัวร์เพลส์และจำเลยได้เปิดบริการต่อมารวม291 วัน ในเรื่องนี้จำเลยก็เบิกความตอบคำถามโจทก์และได้ให้การในชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ.31 เป็นอย่างเดียวกันว่า จำเลยได้เปิดใช้อาคารเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 จนถึงปัจจุบันและได้ตรวจดูบันทึกการฝ่าฝืนคำสั่งให้ระงับการก่อสร้างตามเอกสารหมาย จ.17 แผ่นที่ 2 ได้ระบุว่าวันที่ 28 ธันวาคม 2530 ติดตั้งอุปกรณ์ตกแต่งภายใน สร้างสระน้ำหน้าภัตตาคารใช้คนงานประมาณ50 คน และวันต่อมาก็มีการก่อสร้างฉาบปูน และต่อ ๆ มาก็ยังมีคนงานทำการก่อสร้าง แสดงว่าจำเลยได้เปิดใช้อาคารตั้งแต่ก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จ จึงฟังได้ว่าจำเลยได้ฝ่าฝืนใช้อาคารประเภทควบคุมการใช้โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้างเป็นเวลา 291 วัน พระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 32 วรรคสอง บัญญัติว่า “เมื่อผู้ได้รับใบอนุญาตให้ก่อสร้าง ดัดแปลง หรือเคลื่อนย้ายอาคาร ประเภทควบคุมการใช้ได้กระทำการนั้นเสร็จแล้ว ห้ามเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารใช้หรือยินยอมให้บุคคลใดใช้อาคารนั้นเพื่อกิจการดังที่ระบุไว้ในใบอนุญาต เว้นแต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้ออกใบรับรองว่าการก่อสร้างดัดแปลงหรือเคลื่อนย้ายนั้นเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาตแล้ว” เห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าว นำมาพิจารณากรณีของจำเลยหากจำเลยได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างดัดแปลงอาคารประเภทควบคุมการใช้นั้นเสร็จแล้วจำเลยได้เปิดใช้อาคารดังกล่าวโดยที่เจ้าหนักงานท้องถิ่นยังไม่ได้ออกใบรับรองการก่อสร้างดัดแปลงอาคารดังกล่าวนั้นว่าเป็นไปโดยถูกต้องตามที่ได้รับอนุญาต จำเลยก็ต้องมีความผิดดังนั้นเมื่อได้ความว่าจำเลยได้ฝ่าฝืนเปิดใช้อาคารเป็นสถานบริการตั้งแต่ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จจำเลยก็ต้องมีความผิดตามบทมาตราดังกล่าว ปัญหาข้อสองโจทก์นำสืบว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นโดยนายวิชา จิวาลัย ได้มีคำสั่งให้จำเลยระงับการใช้อาคาร (กรณียังไม่ได้มีการรับรอง) ตามเอกสารหมาย จ.18 ซึ่งจำเลยได้รับเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2531 แต่จำเลยยังคงฝ่าฝืนคำสั่งได้ใช้อาคารดังกล่าวเป็นสถานบริการ โดยไม่มีใบรับรองการก่อสร้างจนถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2531 ตามเอกสารหมาย จ.19 เป็นเวลารวม 288 วัน เห็นว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีคำสั่งตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 มาตรา 44 ซึ่งจำเลยได้ฝ่าฝืน มาตรา 32สั่งให้จำเลยระงับการใช้อาคารที่ยังไม่ได้รับใบรับรองหรือใบอนุญาตดังกล่าวแล้ว เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจที่จะสั่งได้ เมื่อจำเลยฝ่าฝืนยังคงใช้อาคารเปิดเป็นสถานบริการต่อไป จำเลยต้องมีความผิด ที่จำเลยอ้างว่า จำเลยได้ยื่นคำขอแก้ไขดัดแปลงอาคารตามแบบแปลนเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.24 และคำขอตามเอกสารหมายล.25 เพื่อใช้เป็นภัตตาคารด้วยต่อสำนักการโยธากรุงเทพมหานครแต่เจ้าพนักงานท้องถิ่นไม่สั่งไม่อนุญาตภายใน 45 วัน จึงไม่ถูกต้องนั้น เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานสั่งอนุญาตให้แก้ไขดัดแปลงอาคารล่าช้าเป็นคนละส่วนต่างหากกันหากจำเลยได้รับความเสียหายจำเลยก็ชอบที่จะไปว่ากล่าวเป็นคดีใหม่ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share