แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาต้องกันให้ปรับจำเลยเพียงแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกคำขอที่สั่งให้จำเลยออกไปจากป่าที่จำเลยยึดถือครอบครองเสียเท่านั้น คำขอส่วนนี้เป็นวิธีการอุปกรณ์ของโทษ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช 2484มาตรา 72 ตรี ซึ่งศาลมีอำนาจใช้ ดุลพินิจสั่งได้ เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ข้อนี้ย่อมถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย
ศาลอุทธรณ์มิได้แก้บทความผิดเพียงแต่แก้โทษปรับให้ต่ำกว่าที่ศาลชั้นต้นลงไว้ และมิได้วางโทษจำคุกแล้วรอไว้ดังที่ศาลชั้นต้นพิพากษา กับแก้ในข้อที่ศาลชั้นต้นสั่งให้จำเลยออกไปจากป่าที่จำเลยยึดถือครอบครองเป็นให้ยกเสีย ดังนี้ เป็นเพียงการแก้ไขเล็กน้อย
ย่อยาว
คดี ๕ สำนวนนี้ ศาลพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยโจทก์ฟ้องเป็นใจความทำนองเดียวกันว่า จำเลยบังอาจเข้าไปยึดถือครอบครองที่ดินของรัฐอันเป็นที่ป่า ที่ป่าแก่งกุลาในเขตตำบลแก่งโสภา แล้วทำการก่อสร้างแผ้วถางและเผาป่าดังกล่าว อันเป็นการทำลายป่า ซึ่งมิใช่เป็นการกระทำภายในเขตรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษา โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และมิได้มีสิทธิครอบครองตามกฎหมายขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๔, ๕๕,๗๒, ๗๒ ตรี;(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๑, ๑๖ ประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา ๙, ๑๐๘ และสั่งให้จำเลยออกจากป่าที่จำเลยเข้ามากระทำผิดด้วย
จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยทั้ง ๕ คน มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๔, ๕๕, ๗๒, ๗๒ ตรี;(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๑, ๑๖ ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙,๑๐๘ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๑๑, ๑๖ อันเป็นบทหนักให้จำคุกนายโล่และนายโมจำเลยคนละ๖ เดือน และปรับคนละ ๓,๐๐๐ บาท ให้รอการลงโทษไว้คนละ ๒ ปี ให้ปรับนายลีและนายพุฒจำเลยคนละ ๑,๐๐๐ บาท และปรับนายกรรมจำเลย๑,๕๐๐ บาท และให้จำเลยทั้ง ๕ คนออกจากป่าที่จำเลยเข้ามากระทำผิดนี้ด้วย
จำเลยทั้ง ๕ คนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยทั้ง ๕ คน ได้ซื้อที่ดินจากเจ้าของเดิมซึ่งได้ก่อสร้างและครอบครองที่ดินนั้นก่อนพระราชบัญญัติป่าไม้(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ และประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้ และได้แจ้งการครอบครองไว้ ทั้งยังได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมา จึงลงโทษจำเลยผู้รับโอนที่ดินส่วนที่เจ้าของเดิมแจ้งการครอบครองไว้แล้วไม่ได้ จำเลยสำนวนที่ ๒ ครอบครองที่ดินเท่าจำนวนเนื้อที่ที่แจ้งการครอบครอง จึงไม่มีความผิด จำเลยนอกนั้นครอบครองที่ดินเกินกว่าจำนวนที่ปรากฏในแบบแจ้งการครอบครอง จึงต้องสันนิษฐานว่าจำเลยนอกนั้นแผ้วถางป่าส่วนที่เกินจากที่แจ้งการครอบครองไว้ ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๕ ส่วนที่โจทก์ขอให้สั่งให้จำเลยออกจากป่าที่จำเลยเข้ามากระทำผิดนั้น ยังฟังยุติไม่ได้ว่า ส่วนที่เจ้าของเดิมแจ้งการครอบครองไว้โดยชอบแล้วอยู่ตรงไหน และส่วนที่จำเลยดังกล่าวแผ้วถางหลังจากนั้นอยู่ตรงไหนเฉพาะคดีนี้จึงไม่ควรบังคับให้จำเลยออกจากป่าที่จำเลยยึดถือครอบครองพิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยสำนวนแรก สำนวนที่สาม สำนวนที่สี่และสำนวนที่ห้า มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔มาตรา ๕๔, ๕๕ และ ๗๒ ตรี;(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๑, ๑๖และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙, ๑๐๘ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๕๔ และ ๗๒ ตรี;(ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓มาตรา ๑๑, ๑๖ ซึ่งเป็นบทหนัก ให้ปรับนายโล่และนายพุฒจำเลยคนละ๑,๐๐๐ บาท ปรับนายโมและนายกรรมจำเลยคนละ ๑,๕๐๐ บาท ยกฟ้องโจทก์เฉพาะนายลีจำเลย และให้ยกคำขอที่ขอให้จำเลยทั้งห้าสำนวนออกจากป่าที่จำเลยยึดถือครอบครอง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้ง ๕ สำนวนตามฟ้อง และสั่งให้จำเลยออกไปจากที่ดินที่จำเลยเข้ามากระทำผิด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนายพุฒกับคดีนายกรรมจำเลย ศาลพิพากษาต้องกันให้ปรับจำเลย ๑,๐๐๐ บาทและ ๑,๕๐๐ บาทตามลำดับ เพียงแต่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ยกคำขอให้สั่งจำเลยออกไปจากป่าที่จำเลยยึดถือครอบครองเสียเท่านั้น คำขอส่วนนี้เป็นวิธีการอุปกรณ์ของโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พุทธศักราช ๒๔๘๔ มาตรา ๗๒ ตรี ซึ่งเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๖ วรรค ๓ของมาตรา ๗๒ ตรี นี้ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้ผู้กระทำความผิดตามมาตรานี้ออกไปจากป่าที่ยึดถือครอบครองได้ด้วย การที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ข้อที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งในเรื่องวิธีการอุปกรณ์ของโทษเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นการแก้ไขเล็กน้อย คู่ความต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ ส่วนคดีนายโล่จำเลยกับคดีนายโมจำเลยนั้นศาลอุทธรณ์มิได้พิพากษาแก้บทความผิดเพียงแต่แก้โทษ คือ ลงโทษปรับต่ำกว่าที่ศาลชั้นต้นลงไว้เพียงสถานเดียว โดยมิได้วางโทษจำคุกแล้วให้รอการลงโทษไว้ด้วยดังคำพิพากษาศาลชั้นต้น กับแก้ในข้อที่ศาลชั้นต้นใช้ดุลพินิจสั่งให้จำเลยออกไปจากป่าที่จำเลยยึดถือครอบครองเท่านั้น การพิพากษาแก้ดังนี้ถือได้ว่าเป็นเพียงแต่แก้ไขเล็กน้อย คู่ความต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามมาตรา ๒๑๘นั้นเช่นกัน ฎีกาของโจทก์สำหรับจำเลยทั้งหมด เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกา สำหรับจำเลย ๔ สำนวนที่กล่าวแล้วคงมีแต่ฎีกาของโจทก์เฉพาะคดีนายลีจำเลยเท่านั้น ที่ศาลฎีกาต้องวินิจฉัยให้เพราะศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น
สำหรับนายลีจำเลยนั้น ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ดินที่นายลีจำเลยกับพวกครอบครองอยู่มีสภาพเป็นหมู่บ้าน และเป็นที่ทำกินถาวรมาช้านานจนทางราชการรับรู้เห็น ให้มีผู้ใหญ่บ้าน กำนันปกครอง นายลีจำเลยเคยนำ ส.ค. ๑ ไปแสดงต่อทางอำเภอ เป็น ส.ค. ๑ ที่นายจวนกับนายอวนแจ้งการครอบครองไว้เมื่อ ๕ เมษายน ๒๔๙๘ ซึ่งระบุว่าคนทั้งสองได้บุกเบิกเองก่อนแจ้ง ส.ค. ๑ เป็นเวลา ๓ ปี และ ๖ ปีตามลำดับและเป็นเวลาก่อนพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓และประมวลกฎหมายที่ดินประกาศใช้ นายลีซื้อที่ดินดังกล่าวจากนายจวนและนายอวนแล้วครอบครองต่อมา ศาลฎีกาเชื่อว่านายลีจำเลยได้ซื้อที่ดินรายนี้มาและเข้ายึดถือครอบครองโดยสุจริต หาได้มีเจตนาฝ่าฝืน มาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน อันจะเป็นความผิดอาญาดังโจทก์ฟ้องไม่
พิพากษายืนสำหรับคดีนายลีจำเลย พิพากษายกฎีกาโจทก์สำหรับจำเลยอื่น