แหล่งที่มา : ADMIN
ย่อสั้น
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7) ตอนท้ายที่บัญญัติว่า ‘และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำผิดได้รับโทษ’ นั้นเป็นคำกว้างๆ. ฉะนั้นตามที่เจ้าหน้าที่บันทึกไว้ว่า ‘ผู้แจ้ง (โจทก์) เกรงว่าเช็คจะขาดอายุความ จึงได้นำความมาแจ้งไว้เป็นหลักฐาน’นั้น. จึงบ่งให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษแล้ว. และโจทก์ได้ร้องทุกข์ภายในกำหนดอายุความ. ส่วนการที่จะดำเนินคดีที่กล่าวหาเมื่อใด เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวกับโจทก์. เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการอย่างใด.จนโจทก์ไปแจ้งอีกเมื่อพ้นอายุความแล้วจึงได้ทำการสอบไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความ.
เช็คที่จำเลยสั่งจ่ายเป็นเช็คลงวันสั่งจ่ายล่วงหน้า ซึ่งถือว่าเป็นวันออกเช็คที่จำเลยจะต้องรับผิดตามเช็คนั้น.ไม่ใช่ถือเอาวันเขียนเช็คเป็นวันออกเช็ค.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันใดไม่ปรากฏชัดในเดือนเมษายน 2509เวลากลางวัน จำเลยได้บังอาจออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัดสาขาราชบุรี สั่งจ่ายเงิน 3,500 บาท ลงวันรับเงินที่ธนาคารวันที่30 พฤษภาคม 2509 มอบให้โจทก์เป็นค่าซื้อเครื่องอะไหล่รถยนต์ที่จำเลยซื้อจากโจทก์ ครั้นวันที่ 22 กรกฎาคม 2509 โจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงินจากธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชบุรีธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าว โดยให้โจทก์ไปติดต่อกับผู้สั่งจ่ายและได้แจ้งให้โจทก์ทราบด้วยว่าไม่มีเงินในบัญชีของจำเลยที่จะจ่ายให้โจทก์ตามเช็ค ทั้งนี้โดยจำเลยได้บังอาจออกเช็คด้วยเจตนาที่จะไม่ให้มีการจ่ายเงินตามเช็ค ออกเช็คโดยรู้อยู่แล้วว่าในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะให้ใช้เงินได้ และออกเช็คให้ใช้เงินเป็นจำนวนสูงกว่าเงินที่มีอยู่ในบัญชี เหตุเกิดที่ตำบลหน้าเมือง อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี เมื่อวันที่ 29สิงหาคม 2509 โจทก์ได้แจ้งความต่อพนักงานสอบสวนและมอบคดีให้ว่ากล่าว แต่พนักงานอัยการมีความเห็นไม่ฟ้องจำเลย โจทก์จึงต้องฟ้องคดีเอง เมื่อโจทก์ถูกธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คดังกล่าวโจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ให้ จำเลยผัดผ่อนอยู่เรื่อย ๆจำเลยได้กระทำผิดฐานออกเช็คโดยเจตนาจะมิให้มีการใช้เงินตามเช็คมาก่อนตามคดีอาญาแดงที่ 1280/2509 และ 1281/2509 ของศาลจังหวัดราชบุรี ซึ่งพิพากษาให้จำคุกคดีละ 3 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ภายในกำหนด 2 ปี จำเลยกระทำผิดขึ้นอีกภายใน 2 ปี ขอให้นำโทษที่รอไว้รวมลงโทษจำเลยและขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ขอให้บังคับจำเลยใช้เงินตามเช็คจำนวน 3,500 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2509 ถึงวันฟ้อง และจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จ ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้ว สั่งว่าคดีมีมูลให้รับประทับฟ้อง จำเลยให้การว่า คดีโจทก์ขาดอายุความฟ้องร้องทางอาญาส่วนทางแพ่งยอมรับตามฟ้อง ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความฟ้องร้องทางอาญา พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 3 ปรับ 10,000 บาทค่าปรับจัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ถ้าต้องกักขังแทนค่าปรับ ให้กักขังมีกำหนด 1 ปี ให้จำเลยชำระเงิน3,500 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 22 กรกฎาคม 2509 จนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยเสียค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนาย 150 บาทให้โจทก์ จำเลยอุทธรณ์ว่า คดีส่วนอาญาของโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องคดีส่วนอาญา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาขอให้ยกฟ้องคดีส่วนอาญา ศาลฎีกาได้ตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยได้ออกเช็คธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชบุรี สั่งจ่ายเงิน 3,500 บาท ลงวันที่ล่วงหน้าเป็นวันที่ 30พฤษภาคม 2509 เป็นการชำระหนี้ให้โจทก์ ครั้นวันที่ 22 กรกฎาคม2509 โจทก์นำเช็คไปขึ้นเงิน ทางธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินเพราะเงินในบัญชีจำเลยมีไม่พอจ่าย โจทก์ไปแจ้งความไว้ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 29 สิงหาคม 2509 เจ้าหน้าที่บันทึกคำแจ้งความไว้ในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันของสถานีตำรวจ มีข้อความว่า “แจ้งใช้เช็คไม่มีเงิน วันที่ 29 สิงหาคม 2509 เวลา 13.50นาฬิกา นายธงชัย (โจทก์) ฯลฯ ได้แจ้งว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม2509 นายมัด (จำเลย) ฯลฯ ได้ออกเช็คสั่งจ่ายเงินวันที่ 30 พฤษภาคม2509 จำนวนเงิน 3,500 บาท เพื่อชำระหนี้แทนเงินสด ครั้นต่อมาวันที่ 22 กรกฎาคม 2509 ผู้แจ้ง (โจทก์) ได้นำเช็คดังกล่าวไปขอรับเงิน แต่ทางธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยแจ้งมาในใบคืนเช็คว่า “โปรดติดต่อกับผู้สั่งจ่าย” ผู้แจ้ง (โจทก์) เกรงว่าเช็คจะขาดอายุความ จึงได้นำความแจ้งไว้เป็นหลักฐาน” ต่อมาวันที่ 22 ธันวาคม 2509 โจทก์ได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลย เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการสอบสวนคดีขึ้น จำเลยฎีกาว่า คำร้องทุกข์จะต้องมีข้อความว่าโจทก์มอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อจำเลย การแจ้งความของโจทก์ในวันที่29 สิงหาคม 2509 ไม่ใช่คำร้องทุกข์ เพราะต่อมาในเดือนธันวาคม2509 โจทก์ต้องร้องทุกข์ให้เจ้าหน้าที่ดำเนินคดีต่อจำเลยอีกนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 2(7)บัญญัติว่า “คำร้องทุกข์ หมายความถึงการที่ผู้เสียหายได้กล่าวหาต่อเจ้าหน้าที่ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่า มีผู้กระทำความผิดขึ้นจะรู้ตัวผู้กระทำความผิดหรือไม่ก็ตาม ซึ่งกระทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เสียหาย และการกล่าวหาเช่นนั้นได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ” ข้อความทั้งนี้เห็นได้ว่า การกล่าวหาที่ได้กล่าวโดยมีเจตนาจะให้ผู้กระทำความผิดได้รับโทษ เป็นคำกว้าง ๆ ฉะนั้นตามที่บันทึกไว้ว่าเกรงว่าเช็คจะขาดอายุความ จึงแจ้งไว้เป็นหลักฐานนี้บ่งให้เห็นว่าโจทก์ต้องการให้จำเลยได้รับโทษแล้ว ส่วนการที่จะดำเนินคดีที่กล่าวหาเมื่อใดเป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ ไม่เกี่ยวกับโจทก์ เมื่อเจ้าหน้าที่ไม่ดำเนินการอย่างใด จนโจทก์ไปแจ้งอีกในเดือนธันวาคม 2509 จึงได้ทำการสอบสวนไม่ทำให้คดีโจทก์ขาดอายุความดังจำเลยฎีกา จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหาย เพราะโจทก์รู้อยู่แล้วว่าในเดือนมีนาคมที่จำเลยเขียนเช็คให้โจทก์ ทั้งโจทก์และจำเลยรู้ดีอยู่แล้วว่าจำเลยไม่มีเงินสดในธนาคาร อันจะใช้ให้โจทก์ได้ตามเช็คโจทก์จึงร่วมกระทำผิดกับจำเลย จะเอาผิดแก่จำเลยไม่ได้ ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คฉบับนี้ลงวันสั่งจ่ายล่วงหน้าเป็นวันที่30 พฤษภาคม 2509 ซึ่งถือว่าวันดังกล่าวเป็นวันออกเช็คที่จำเลยจะต้องรับผิดตามเช็ค มิใช่ถือเอาวันเขียนเช็คเป็นวันออกเช็คจึงไม่เป็นดังที่จำเลยอ้างว่าโจทก์มิใช่ผู้เสียหาย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลย.