คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1853/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 เขียนบทความลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์เป็นข้อความหมิ่นประมาทโจทก์และ ป. ในครั้งเดียวกัน เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว ป. ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดกรรมเดียวกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้วสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตาม ป.วิ.อ.มาตรา 39(4).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 96,326, 328, 332
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328 ให้ลงโทษตามมาตรา 328 จำคุก 3 เดือน และปรับ4,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามมาตรา 56, 58 โทษปรับให้บังคับตามมาตรา 29, มาตรา 30 ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวันดาวสยาม ฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2524 ทั้งกรอบแรกและกรอบหลัง กับให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดลงในหนังสือพิมพ์รายวันดาวสยามเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ข้อหาและคำขออื่น นอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม ศาลฎีกาเห็นว่า แม้บทความของจำเลยที่ 1ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ “ดาวสยาม” ประจำวันพฤหัสบดีที่ 12พฤศจิกายน 2524 เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์และนายประมุทสูตะบุตร ก็ตาม แต่โจทก์และนายประมุทต่างก็ถูกหมิ่นประมาทเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งเดียวกัน จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวและหาได้ทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไม่ คำพิพากษาฎีกาที่โจทก์อ้างมานั้นข้อเท็จจริงไม่ตรงกับคดีนี้ การกระทำผิดดังกล่าว โจทก์และนายประมุทผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีร่วมกันหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีเดียวกันหรือแยกกันฟ้องเป็นรายคดีก็ได้ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า นายประมุทได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดซึ่งเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1อันเป็นกรรมเดียวกันนี้ต่อศาลแขวงธนบุรี และได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้ว ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5487/2528 ของศาลแขวงธนบุรี ดังนั้นสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 34(4)ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share