แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์เพียง 45,000 บาท และลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินไว้ แล้วมีการนำสัญญากู้ยืมเงินไปกรอกจำนวนกู้เป็น 200,000 บาท ในภายหลังเกินกว่าจำนวนเงินกู้ที่แท้จริง โดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยินยอม สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้กู้และรับเงินกู้ไปเป็นเงิน 45,000 บาท จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ และแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกามาด้วย แต่คดีนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้กู้ ถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ตามสัญญากู้ยืมเงินและจำเลยที่ 2 ตามสัญญาค้ำประกันให้ชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 350,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 200,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ให้การว่า จำเลยที่ 1 กู้ยืมและรับเงินกู้ไปจากโจทก์เพียง 45,000 บาท แต่โจทก์นำสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่มีการกรอกจำนวนเงินให้จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ แล้วโจทก์ร่วมกับผู้อื่นกรอกจำนวนเงิน 200,000 บาท ในภายหลังโดยจำเลยที่ 1 มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 45,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันทำสัญญา (วันที่ 4 สิงหาคม 2538) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องต้องไม่เกินระยะเวลา 5 ปี ตามที่โจทก์ขอ
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้เงินแก่โจทก์ 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2538 จนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้องต้องไม่เกิน 5 ปี หรือไม่เกิน 150,000 บาท ตามที่โจทก์ขอ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 1,125 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2538 จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินและมอบโฉนดที่ดินเลขที่ 42952 ตำบลซำ อำเภอเมืองศรีษะเกษ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ 6 ไร่ 33 ตารางวา ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันตามสัญญากู้ยืมเงิน มีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อเป็นเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาค้ำประกัน โดยโจทก์ออกเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 45,000 บาท ให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 รับเงินตามเช็คไปเรียบร้อยแล้วมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชำระเงินตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ฎีกาว่า มีการนำสัญญากู้เงินไปกรอกจำนวนเงินกู้ 200,000 บาท ในภายหลังเกินกว่าจำนวนเงินกู้ที่แท้จริง ปัญหานี้โจทก์เบิกความว่าก่อนวันกู้จำเลยที่ 2 ติดต่อแจ้งว่าจำเลยที่ 1 ขอกู้เงินจำนวน 150,000 บาท แต่ในวันกู้จำเลยที่ 1 ขอกู้เพิ่มอีก 50,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์โดยรับเงินกู้เป็นเงินสด 155,000 บาท และรับเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีสะเกษ ลงวันที่ 4 สิงหาคม 2538 สั่งจ่ายเงิน 45,000 บาท ไปจากโจทก์ รวมเป็นเงิน 200,000 บาท ในระหว่างทำสัญญากู้ยืมเงิน โจทก์กรอกข้อความลงในเอกสารต่อหน้าจำเลยทั้งสอง หลังจากนั้นโจทก์มอบเงินสดและเช็คดังกล่าวให้จำเลยทั้งสองด้วยตนเอง จำเลยที่ 1 มีจำเลยที่ 2 และจ่าสิบตำรวจดาวเรือง พลภักดี บุตรเขยของจำเลยที่ 1 ซึ่งรู้เห็นในขณะที่มีการลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินและรับเงินกู้มาเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ขอกู้ยืมเงินจากโจทก์จำนวน 45,000 บาท เพื่อให้จ่าสิบตำรวจดาวเรืองไปวางมัดจำซื้อรถยนต์ ขณะที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินยังไม่มีการกรอกจำนวนเงินกู้ลงในสัญญา และจำเลยที่ 1 รับเงินเป็นเช็คสั่งจ่ายเงินจำนวน 45,000 บาท เท่านั้น โจทก์ไม่ได้มอบเงินสดให้จำเลยที่ 1 พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ยันกับพยานหลักฐานโจทก์ แต่ตามพฤติการณ์แห่งคดีโจทก์ประกอบอาชีพปล่อยเงินกู้และไม่รู้จักกับจำเลยที่ 1 เป็นส่วนตัว โจทก์กลับให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินจำนวนมากถึง 150,000 บาท และยังให้กู้เพิ่มขึ้นอีก 50,000 บาท ในขณะที่ทำสัญญากู้ยืมเงินโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ตรวจสอบฐานะของจำเลยที่ 1 และโฉนดที่ดินที่ยึดถือเป็นประกันเสียก่อน เป็นการผิดวิสัยของผู้ประกอบอาชีพปล่อยเงินกู้ และยังได้ความตามคำเบิกความของนายวิศิษฐ์ ทองเถาว์ พยานจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาศรีสะเกษ อันเป็นธนาคารตามเช็ค เอกสารหมาย ล.2 ประกอบสำเนาบัญชีเงินฝากของโจทก์ที่ธนาคารดังกล่าวตามเอกสารหมาย ล.1 ว่า ในวันที่ 3 สิงหาคม 2538 มีการถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวจำนวน 4,000 บาท ส่วนวันที่ 4 เดือนเดียวกัน ซึ่งเป็นวันกู้และวันที่จำเลยที่ 1 ไปเบิกเงินตามเช็คเอกสารหมาย ล.2 จากบัญชีดังกล่าวมีการถอนเงินรวม 3 ครั้ง ครั้งแรกจำนวน 3,800 บาท ครั้งที่สองจำนวน 45,000 บาท เท่ากับจำนวนตามเช็คเอกสารหมาย ล.2 และครั้งที่สามจำนวน 10,000 บาท พยานหลักฐานส่วนนี้ก็มิได้แสดงให้เห็นว่าโจทก์เบิกถอนเงินจากบัญชีเงินฝากเป็นเงินสดเพื่อเตรียมไว้ให้จำเลยที่ 1 กู้ ความเคลื่อนไหวทางการเงินของโจทก์ตามบัญชีเงินฝากของโจทก์ดังกล่าวกลับแสดงให้เห็นว่า โจทก์ไม่น่าจะมีเงินสดจำนวนมากเก็บไว้เพราะแม้แต่เงินจำนวน 3,800 บาท และจำนวน 10,000 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเล็กน้อย โจทก์ยังต้องใช้วิธีเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวในวันที่ให้กู้เงิน เป็นเหตุให้ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์เตรียมเงินสดและมอบเงินสดให้จำเลยที่ 1 ในวันนั้นด้วย พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินไปจากโจทก์เพียง 45,000 บาท และลงลายมือชื่อในสัญญากู้ยืมเงินที่ยังไม่ได้กรอกจำนวนเงินไว้ แล้วมีการนำสัญญากู้ยืมเงินไปกรอกจำนวนเงินกู้เป็น 200,000 บาท ในภายหลังเกินกว่าจำนวนเงินกู้ที่แท้จริงโดยจำเลยที่ 1 ไม่ได้ยินยอม สัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นเอกสารปลอม ถือได้ว่าโจทก์มิได้มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องร้องให้บังคับคดีได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 653 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับว่าได้กู้และรับเงินกู้ไปเป็นเงิน 45,000 บาท จำเลยที่ 1 ก็ไม่ต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์ ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังขึ้น และแม้จำเลยที่ 2 จะมิได้ฎีกามาด้วย แต่คดีนี้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจะต้องชำระหนี้เป็นอย่างเดียวกับจำเลยที่ 1 ผู้กู้ ถือเป็นการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลไปถึงจำเลยที่ 2 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบมาตรา 247”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์