คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1535/2551

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตาม ป.พ.พ. มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ต้องตาม ป.วิ.พ. มาตรา 59 (1) เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย
ป.พ.พ. มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้น ดังนั้น แม้หนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์ก็คงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระได้ไม่เกินห้าปี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาคลองตัน เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 2,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราเอ็ม โอ อาร์ บวก 2 ต่อปี โจทก์มีสิทธิปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยและคิดดอกเบี้ยทบต้นได้ กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน สัญญามีกำหนด 12 เดือน เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ จำเลยที่ 1 นำที่ดินโฉนดเลขที่ 21150 พร้อมสิ่งปลูกสร้างจดทะเบียนจำนอง และจดทะเบียนขึ้นเงินจำนองกับโจทก์อีก 2 ครั้ง รวมวงเงิน 36,000,000 บาท มีข้อตกลงว่า หากบังคับจำนองได้เงินสุทธิไม่พอชำระหนี้ยอมรับผิดในหนี้เงินส่วนที่ขาด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ดำเนินการแบ่งแยกที่ดินจำนองออกเป็นหลายแปลงคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 42693 ถึง 42699 และจำเลยที่ 1 ยังแบ่งแยกที่ดินแต่ละแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินแปลงย่อยแล้วโอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 บางส่วน กล่าวคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 42693 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61137, 61138, 61142 และ 61143 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61142 และ 61143 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42694 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61152, 61153, 61154, 61158 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ดิน 61152, 61153 และ 61154 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 3 ที่ดินโฉนดเลขที่ 42696 แบ่งออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 61162, 61163, 61164 และ 61165 จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61162 และ 61163 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 4 และโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 61164 และ 61165 พร้อมสิ่งปลูกสร้างให้จำเลยที่ 5 ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 42697 และ 42698 พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ให้จำเลยที่ 6 และที่ 7 ตามลำดับ โดยที่ดินโฉนดเดิมและที่แบ่งแยกยังคงผูกพันตามสัญญาจำนอง หลังจากทำสัญญา จำเลยที่ 1 เบิกถอนเงินในบัญชีมาตลอดจนมีหนี้เกินบัญชี และไม่นำเงินเข้าหักทอนบัญชี โจทก์จึงหักทอนบัญชี ยอดหนี้ ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2539 เป็นเงิน 3,298,958.72 บาท ดอกเบี้ย 2,117,411.69 บาท รวมเป็นเงิน 5,416,370.41 บาท โจทก์บอกกล่าวให้ชำระหนี้ และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว ขอให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันชำระเงิน จำนวน 5,416,370.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี ของต้นเงิน 3,298,958.72 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไป หากไม่ชำระขอให้ยึดทรัพย์จำนองขายทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน
จำเลยที่ 1 ที่ 4 ที่ 6 และที่ 7 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น และคิดได้ไม่เกิน 5 ปี โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ให้การว่า โจทก์คิดดอกเบี้ยกับจำเลยที่ 1 เกินอัตราที่กฎหมายกำหนดจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีสิทธิบังคับจำนอง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 2,230,366.03 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 13.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2536 ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2542 อัตราร้อยละ 12.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 มีนาคม 2542 ถึงวันที่ 3 พฤษภาคม 2542 อัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันที่ 4 พฤษภาคม 2542 ถึงวันที่ 31 พฤษภาคม 2542 อัตราร้อยละ 11.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 13 มิถุนายน 2542 อัตราร้อยละ 11.25 ต่อปี นับแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2542 ถึงวันที่ 8 สิงหาคม 2542 อัตราร้อยละ 11 ต่อปี นับแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2542 ถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2542 อัตราร้อยละ 10.75 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2542 ถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2542 และอัตราร้อยละ 10.50 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2542 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ดอกเบี้ยในอัตราต่างๆ ดังกล่าวคำนวณตั้งแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 24 กรกฎาคม 2543) ย้อนหลัง 5 ปี เท่านั้น หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้ยึดที่ดินจำนองที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โฉนดเลขที่ 61142, 61143, 61152, 61153, 61154, 61162, 61163, 61164, 61165, 42697, 42698 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้าง และยึดที่ดินจำนองในส่วนที่จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์พร้อมสิ่งปลูกสร้างขายทอดตลาดนำเงินมาชำระถ้าไม่พอชำระ ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 1 ขาดทอดตลาดนำเงินมาชำระจนครบถ้วน กับให้จำเลยทั้งเจ็ดร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ สาขาคลองตัน และทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีในวงเงิน 2,000,000 บาท มีกำหนด 12 เดือน ดอกเบี้ยอัตรา เอ็ม โอ อาร์ บวก 2 ต่อปี โดยคิดดอกเบี้ยทบต้นและปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยได้ กำหนดชำระดอกเบี้ยทุกสิ้นเดือน โดยจำเลยที่ 1 จดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 21150 ตำบลนาเกลือ อำเภอบางละมุง จังหวัดชลบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างเป็นประกัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้จดทะเบียนขึ้นเงินจำนองอีก 2 ครั้ง รวมวงเงิน 36,000,000 บาท และมีข้อตกลงว่าหากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ยอมรับผิดในหนี้เงินส่วนที่ขาด หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้แบ่งแยกที่ดินจำนองออกเป็นแปลงย่อยหลายแปลงเพื่อทำโครงการบ้านจัดสรร ชื่อโครงการหนึ่งทองวิลล่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ได้ซื้อบ้านทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินในโครงการดังกล่าวโดยจำนองติดไป เมื่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกกันโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยทั้งเจ็ดชำระหนี้และบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว มีประเด็นวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า การที่จำเลยที่ 2 ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองยื่นคำให้การยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องเรียกดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จะมีผลถึงจำเลยที่ 1 ผู้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีซึ่งมิได้ยกอายุความขึ้นต่อสู้เพราะขาดนัดยื่นคำให้การด้วยหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยที่ 1 รับผิดชำระหนี้ในฐานะผู้กู้เบิกเงินเกินบัญชีและบังคับจำนอง และขอให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 รับผิดในฐานะผู้รับโอนทรัพย์สินโดยจำนองติดไปซึ่งผู้รับจำนองยังมีสิทธิได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองโดยการบังคับจำนองเอาแก่ผู้รับโอนทรัพย์สินที่จำนองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 735 มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันไม่ได้ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธิพิจารณาความแพ่ง มาตรา 59 (1) บัญญัติว่า “…ห้ามมิให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกัน เว้นแต่มูลความแห่งคดีเป็นการชำระหนี้ซึ่งแบ่งแยกจากกันมิได้ และให้ถือว่าบุคคลเหล่านั้นแทนซึ่งกันและกันในบรรดากระบวนพิจารณาซึ่งได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนหนึ่งนั้นให้ถือว่าได้ทำโดยหรือทำต่อคู่ความร่วมคนอื่นๆ ด้วย เว้นแต่กระบวนพิจารณาที่คู่ความร่วมคนหนึ่งกระทำไปเป็นที่เสื่อมเสียแก่คู่ความร่วมคนอื่นๆ …” ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 2 ยกอายุความเรื่องสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยค้างชำระเกินห้าปีขึ้นต่อสู้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 1 ด้วย ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่าหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นหนี้ประธานยังไม่ขาดอายุความ โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยที่ค้างชำระเกินกว่าห้าปีจากจำเลยที่ 1 นั้น เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 745 บัญญัติว่า “ผู้รับจำนองจะบังคับจำนอง แม้เมื่อหนี้ที่ประกันนั้นขาดอายุความแล้วก็ได้ แต่จะบังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีไม่ได้” ซึ่งหมายความว่า ผู้รับจำนองสามารถบังคับจำนองได้ไม่ว่าหนี้ที่ประกันจะขาดอายุความแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่ห้ามมิให้บังคับเอาดอกเบี้ยที่ค้างชำระในการจำนองเกินกว่าห้าปีเท่านั้นหาใช่เฉพาะหนี้ที่ขาดอายุความดังที่โจทก์ฎีกาไม่ ดังนั้น โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ที่ค้างชำระไม่เกินห้าปี ที่ศาลชั้นต้นพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นฟ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วนของค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ศาลฎีกาเห็นสมควรกำหนดเสียใหม่เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 7 ให้เป็นพับ ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share