คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1534/2526

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสนอกจากจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามข้อ 6 แห่งกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 26 ด้วย คือ (1) มีพรรษาพ้น 5 และ (2) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณ เป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น ปรากฏว่าใน การประชุมปรึกษาเพื่อหาตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสพระภิกษุในวัดโจทก์ร่วมประชุม 19 รูป ออกเสียงให้พระ น. เป็นเจ้าอาวาส 14 รูปออกเสียงให้จำเลย 5 รูป ใน 5 รูปนี้ มีพระ น. รวมอยู่ด้วย แม้จำเลยมีพรรษายุกาลสูงกว่าพระ น. แต่ตามพระวินัย กฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎมหาเถรสมาคมตลอดจนสังฆาณัติไม่ปรากฏเลยว่าจะต้องแต่งตั้งจากพระภิกษุที่มีพรรษาสูงสุด ในวัดนั้น การที่พระ น. ลงชื่อในตราตั้งพระ น. เป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์กระทำในฐานะเจ้าคณะจังหวัดมิใช่ในฐานะส่วนตัว พระ น. จึงเป็น เจ้าอาวาสวัดโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลจำพวกวัดวาอาราม มีพระนิเทศธรรมวาทีเจ้าคณะจังหวัดราชบุรี เป็นเจ้าอาวาส เดิมวัดโจทก์มีพระราชเขมาจารย์เป็นเจ้าอาวาส แต่ถึงมรณภาพเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2520 จำเลยได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสชั่วคราว มีหน้าที่ดูแลศาสนสมบัติของวัดโจทก์จนกว่าจะได้มีการแต่งตั้งเจ้าอาวาสองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2521 พระนิเทศธรรมวาทีได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์องค์ใหม่โดยชอบด้วยกฎหมาย พระนิเทศธรรมวาทีขอร้องจำเลยให้ส่งมอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที จำเลยส่งมอบให้บางส่วน แต่บางส่วนไม่ส่งเช่น

ก. โฉนดที่ดินเลขที่ 12298 และเลขที่ 12249 ตำบลหน้าเมืองเลขที่ 7650 ตำบลหน้าเมือง (ดอนตะโก) เลขที่ 5536 และเลขที่ 5551 ตำบลคูบัว (คูบัวเหนือ) เลขที่ 11414 ตำบลเจดีย์หัก และเลขที่ 1779ตำบลห้วยไผ่ อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี

ข. สมุดเงินฝากของวัดโจทก์ในธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชยการ จำกัดสาขาราชบุรี เลขที่ 78/196, 876, 3230, 3352, 3353, 3376, 3377, 3407,3442 และ 3445

ค. สมุดเงินฝากของวัดโจทก์ในธนาคารกรุงไทย จำกัด สาขาราชบุรีเลขที่ 273, 13414, 1640, 7443, 7683, 7684 และ 7839

ง. สมุดเงินฝากของวัดโจทก์ในธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาราชบุรีเลขที่ 1744 และ 3365

จ. บัญชีรายรับรายจ่ายของวัดโจทก์รวม 50 เล่ม

ฉ. หนังสือสัญญาเช่าที่ดินและรายชื่อผู้เช่าที่ดินของวัดโจทก์ 400 ฉบับ

ช. บัญชีพัสดุภัณฑ์ของวัดโจทก์รวม 150 เล่ม

ญ. ครุภัณฑ์ ลหุภัณฑ์ ของวัดโจทก์ที่ยังไม่ทราบจำนวนแน่นอนไม่สามารถคำนวณเป็นเงินได้

ศาสนสมบัติดังกล่าวอยู่ในความครอบครองของจำเลย โจทก์เตือนให้จำเลยส่งมอบ แต่งตั้งกรรมการเพื่อรับมอบจากจำเลยหลายครั้ง จำเลยไม่ยอมส่งมอบให้แก่พระนิเทศธรรมวาที ทำให้ไม่อาจตรวจสอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์ได้ ขอให้พิพากษาให้จำเลยส่งมอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์ที่อยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสิ้น เช่น โฉนดที่ดิน สมุดฝากเงินในธนาคารบัญชีรายรับรายจ่าย หนังสือสัญญาเช่าที่ดินของวัดโจทก์ ตลอดจนรายชื่อผู้เช่าที่ดิน บัญชีพัสดุภัณฑ์ ลหุภัณฑ์ ตามคำฟ้องแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า เมื่อพระราชเขมาจารย์มรณภาพแล้ว เจ้าคณะตำบลและเจ้าคณะอำเภอได้เสนอชื่อพระนิเทศธรรมเวทีและจำเลยให้อุบาสกและอุบาสิกาของวัดโจทก์เลือกตั้งเป็นเจ้าอาวาสตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5(พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ข้อ 23 ปรากฏว่ามีผู้สนับสนุนนจำเลย 540 เสียง สนับสนุนพระนิเทศธรรมวาที 296 เสียงเมื่อเจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอพระนิเทศธรรมวาทีในฐานะเจ้าคณะจังหวัดพระนิเทศธรรมวาทีกลับแต่งตั้งตนเองเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ เป็นการขัดต่อกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าว และเป็นที่ครหานินทาแก่บุคคลอื่นตลอดมาพระนิเทศธรรมวาทีจึงมิใช่เจ้าอาวาสของโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายและพระธรรมวินัย จึงมิใช่ผู้แทนของโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนวัดได้โฉนดที่ดินตามคำฟ้องส่วนมากอยู่ที่ที่ทำการศึกษาธิการจังหวัดราชบุรีกับกรรมการวัดโจทก์บางคน สมุดเงินฝากตามคำฟ้องพระนิเทศธรรมวาทีเก็บรักษาไว้บ้างกรรมการเก็บรักษาไว้บ้าง มิได้อยู่ที่จำเลย บัญชีรายรับรายจ่ายบัญชีพัสดุภัณฑ์ สัญญาเช่าที่ดิน ครุภัณฑ์และลหุภัณฑ์ตามฟ้องจะมีอยู่หรือไม่ ใครเป็นผู้ทำขึ้นและใครเป็นผู้เก็บรักษา จำเลยไม่ทราบเพราะมิได้อยู่ที่จำเลย โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้โดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายมีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนวัดโจทก์ แต่โจทก์สืบไม่ได้ว่าทรัพย์สินของวัดโจทก์ตามฟ้องอยู่ในความครอบครองของจำเลย พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความเป็นพับ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนและประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่าพระราชเขมาจารย์เจ้าอาวาสวัดโจทก์มรณภาพเมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2520เจ้าคณะตำบลหน้าเมือง เขต 1 แต่งตั้งให้จำเลยซึ่งเป็นรองเจ้าอาวาสวัดโจทก์รักษาการแทนเจ้าอาวาสชั่วคราว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2521 เจ้าคณะจังหวัดราชบุรี ได้แต่งตั้งพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ โดยอาศัยอำนาจตามกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ข้อ 23 เจ้าคณะตำบลหน้าเมือง เขต 1 แจ้งให้จำเลยทราบถึงการแต่งตั้งดังกล่าวและให้จำเลยมอบบัญชีทรัพย์สินต่าง ๆ ของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที จำเลยมีหนังสือลงวันที่ 7 เมษายน 2521 ถึงเจ้าคณะตำบลหน้าเมือง เขต 1 ขอผัดการส่งมอบหน้าที่การงานหลักฐานบัญชีและทรัพย์สินอ้างว่าได้ให้เจ้าหน้าที่การเงินพระภิกษุและกรรมการวัดสำรวจทรัพย์สิน ทำบัญชีอย่างเร่งรีบแต่ศาสนสมบัติของวัดโจทก์มีจำนวนมากการรวบรวมตรวจสอบจะใช้เวลาอันสั้นไม่ได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 พระนิเทศธรรมวาทีแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเพื่อทำหน้าที่บริหารวัด โดยแต่งตั้งจำเลยเป็นกรรมการด้วย และได้ตั้งคณะกรรมการอีกคณะหนึ่งประกอบด้วยพระภิกษุและฆราวาสเพื่อทำหน้าที่ช่วยเหลือจำเลยตรวจสอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์จำเลยได้บ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้ตรวจบัญชีและประวิงการตรวจสอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์อ้างว่าบัญชีบางส่วนอยู่ที่นายวิเชียร ปาถวิสุทธิ์ และนายแสวงแก้วจินดา กรรมการวัดโจทก์ บางส่วนทำยังไม่เรียบร้อยขอผัดส่งบัญชีในวันที่17 พฤษภาคม 2521 ปรากฏตามรายงานคณะกรรมการ ลงวันที่ 12 เมษายน2521 เอกสารหมาย จ.5 จนถึงวันที่ 17 พฤษภาคม 2521 จำเลยยังไม่ส่งมอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที พระนิเทศธรรมวาทีจึงมีหนังสือถึงพันตำรวจเอกพร้อม สุขมาก ไวยาวัจกรของวัดโจทก์ ขอให้ส่งเอกสารต่าง ๆ ของวัดโจทก์ที่พันตำรวจเอกพร้อมเก็บไว้ พันตำรวจเอกพร้อมมีหนังสือลงวันที่ 19 กันยายน 2521 ถึงพระนิเทศธรรมวาทีว่า พันตำรวจเอกพร้อมได้ช่วยเหลือทำนิติกรรมต่าง ๆ ให้วัดโจทก์เท่านั้นไม่ได้เอาทรัพย์สินหลักฐานและศาสนสมบัติของวัดมาครอบครอง บัญชีอยู่ที่จำเลย ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 พระนิเทศธรรมวาทีมีหนังสือลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2521 ถึงจำเลยเตือนให้จำเลยส่งมอบศาสนสมบัติและเอกสารต่าง ๆ ของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาทีภายในเดือนพฤศจิกายน 2521 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.7 จำเลยเพิกเฉยเสีย เมื่อต้นปี พ.ศ. 2522 พระนิเทศธรรมวาทีได้ปรึกษาพันตำรวจเอกพินิจ ศรีพูลพักตร์ ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีว่าไม่สามารถบริหารงานวัดโจทก์ได้ เพราะจำเลยไม่ยอมส่งมอบสมุดเช็คและบัญชีศาสนสมบัติของวัดโจทก์ พันตำรวจเอกพินิจรับปากจะช่วยดำเนินการภายในให้ก่อน ต่อมาพันตำรวจเอกพินิจปลัดจังหวัดราชบุรีและศึกษาธิการจังหวัดราชบุรีพากันไปพบจำเลย ปลัดจังหวัดราชบุรีและศึกษาธิการจังหวัดราชบุรีถามจำเลยถึงเรื่องสมุดเช็คและศาสนสมบัติของวัดโจทก์ จำเลยตอบบ่ายเบี่ยงเป็นเรื่องอื่น พันตำรวจเอกพินิจพูดกับจำเลยเป็นคนสุดท้ายว่าถ้าพระนิเทศธรรมวาทีจะฟ้องก็จะเกิดความเสียหาย จำเลยบอกว่าอยากจะคืนให้แต่กรรมการไม่พร้อม พันตำรวจเอกพินิจขอให้นัดวันส่งมอบสมุดเช็คและศาสนสมบัติของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที จำเลยพูดบ่ายเบี่ยงเป็นเรื่องอื่น

จำเลยนำสืบว่า จำเลยเป็นรองเจ้าอาวาสวัดโจทก์ตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2507 ขณะนั้นพระราชเขมาจารย์เป็นเจ้าอาวาส จำเลยปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสตลอดมา เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2521 เจ้าคณะตำบลหน้าเมืองเขต 1 เจ้าคณะอำเภอเมืองราชบุรีได้ประชุมพระภิกษุในวัดโจทก์กับประชาชนเพื่อพิจารณาเลือกเจ้าอาวาสวัดโจทก์ ปรากฏว่าพระนิเทศธรรมวาทีได้รับคะแนนนิยมจากพระภิกษุ 14 เสียง จากฆราวาส 282 เสียง จำเลยได้รับคะแนนนิยมจากพระภิกษุ 4 เสียง จากฆราวาส 575 เสียง การที่พระนิเทศธรรมวาทีตั้งตนเองเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์นั้นเป็นการเสียมารยาทขัดกับพระธรรมวินัยและประเพณีของพระภิกษุ เพราะประเพณีของพระภิกษุถือพรรษาเป็นใหญ่ ขณะนั้นพระนิเทศธรรมวาทีมีพรรษา 38 จำเลยมีพรรษา 42ทำให้พระภิกษุในวัดและประชาชนใกล้วัดแตกแยกกัน ประชาชนที่เกี่ยวข้องกับวัดโจทก์ได้คัดค้านการแต่งตั้งพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสไปยังมหาเถรสมาคมโดยจำเลยมิได้เกี่ยวข้องด้วย ตั้งแต่พระนิเทศธรรมวาทีตั้งตนเองเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ จำเลยได้แยกไปทำสังฆกรรมที่วัดโรงช้างตลอดมาส่วนพระภิกษุรูปอื่นทั้งหมดยังคงทำสังฆกรรมที่วัดโจทก์ เมื่อจำเลยรักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโจทก์ พันตำรวจเอกพร้อมเป็นประธานกรรมการวัด นายแสวงแก้วจินดา นายวิเชียร ปาลวิสุทธิ์ เป็นกรรมการ ที่ดินของวัดมี 10 แปลงมีผู้เช่าบ้างไม่มีผู้เช่าบ้าง พันตำรวจเอกพร้อมทำสัญญาเช่าแทนวัดโจทก์แล้วส่งมอบสัญญาให้เจ้าอาวาสโฉนดที่ดินอยู่ที่ศึกษาธิการจังหวัดบ้าง อยู่ที่นายวิเชียรบ้าง เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2521 จำเลยได้สั่งกรรมการสำรวจทรัพย์สินและศาสนสมบัติของวัดโจทก์ โดยจำเลยเป็นประธานกรรมการฝ่ายสงฆ์พันตำรวจเอกพร้อมเป็นประธานกรรมการฝ่ายฆราวาส นายแสวงและนายวิเชียรเป็นกรรมการด้วย คณะกรรมการขอสำรวจศาสนสมบัติของวัดโจทก์ในกุฏิพระนิเทศธรรมวาที แต่พระนิเทศธรรมวาทีไม่ยอมให้ตรวจสอบ สมุดเงินฝากของวัดโจทก์ 7 เล่มอยู่ที่นายวิเชียร คณะกรรมการดังกล่าวไม่ส่งมอบสมุดฝากเงินให้พระนิเทศธรรมวาทีเพราะไม่แน่ใจว่าพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

พิเคราะห์แล้ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยเสียก่อนเพราะเป็นฎีกาในปัญหาเรื่องอำนาจฟ้อง ที่จำเลยฎีกาว่ามีประเพณีแต่โบราณว่าผู้ที่สมควรเป็นเจ้าอาวาสจะต้องมีพรรษายุกาลมากที่สุดในวัด จำเลยมีพรรษามากกว่าพระนิเทศธรรมวาที 4 พรรษา พระนิเทศธรรมวาทีจึงบกพร่องในคุณสมบัติข้อนี้ ในการเลือกตั้งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ พระนิเทศธรรมวาทีไปปรากฏตัวเพื่อลงคะแนนเสียงให้ตนเอง พยายามจะเป็นเจ้าอาวาสตั้งแต่พระราชเขมาจารย์ยังไม่มรณภาพผิดวิสัยของสมณะ แสดงกิเลสตัณหาให้ปรากฏโดยการตั้งตนเองเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ทั้งที่เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล พระภิกษุอุบาสกและอุบาสิกาของวัดโจทก์ส่วนใหญ่ไม่ยอมเลือก เป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนพระธรรมวินัยและกฎหมาย วัดโจทก์โดยพระนิเทศธรรมวาทีจึงไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะพระนิเทศธรรมวาทีมิได้เป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส นอกจากจะต้องมีคุณสมบัติทั่วไปตามข้อ 6 แห่งกฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ (พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการแล้ว จะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 22 ด้วย กล่าวคือ (1) มีพรรษาพ้น 5 และ (2) เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น พระนิเทศธรรมวาทีและจำเลยต่างมีคุณสมบัติตามข้อ 6 แห่งกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าว มีปัญหาที่จะต้องพิจารณาต่อไปว่าพระนิเทศธรรมวาทีขาดคุณสมบัติตามข้อ 22 แห่งกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวหรือไม่ จำเลยนำสืบว่า การแต่งตั้งพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ทำให้เกิดการแตกแยกในหมู่บรรพชิตและฆราวาสจนถึงประชาชนร้องเรียนคัดค้านต่อมหาเถรสมาคม เพื่อให้ศาลเห็นว่าพระนิเทศธรรมวาทีมิได้เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่เคารพนับถือของบรรพชิตและคฤหัสถ์ในถิ่นนั้นอันเป็นการขาดคุณสมบัติตามข้อ 22(2) แห่งกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าว ปรากฏว่าในการประชุมปรึกษาเพื่อหาตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ พระภิกษุในวัดโจทก์ไปร่วมประชุม 19 รูปออกเสียงสนับสนุนให้พระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์ 14 รูปออกเสียงสนับสนุนจำเลยเพียง 5 รูป ในจำนวน 5 รูปนี้มีพระนิเทศธรรมวาทีรวมอยู่ด้วย เมื่อพระนิเทศธรรมวาทีได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ พระภิกษุในวัดโจทก์ได้ร่วมทำสังฆกรรมกับพระนิเทศธรรมวาทีทุกรูปเว้นแต่จำเลยรูปเดียวที่แยกไปทำสังฆกรรมที่วัดอื่น ดังนั้นจึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของพระนิเทศธรรมวาทีก่อให้เกิดการแตกแยกในหมู่สงฆ์ แม้ในการประชุมปรึกษาเพื่อหาตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ จำเลยจะได้รับเสียงสนับสนุนจากฆราวาสที่มาร่วมออกเสียงมากกว่าพระนิเทศธรรมวาทีและเมื่อรวมคะแนนเสียงของบรรพชิตและคฤหัสถ์แล้ว จำเลยได้รับเสียงสนับสนุนมากกว่าพระนิเทศธรรมวาที ก็ไม่เป็นข้อชี้ขาดว่าตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ต้องเป็นของจำเลย เพราะตำแหน่งเจ้าอาวาสเป็นตำแหน่งที่ได้รับโดยการแต่งตั้ง มิใช่ตำแหน่งโดยการเลือกตั้ง ผู้มีอำนาจแต่งตั้งคือเจ้าคณะจังหวัดตำแหน่งตามกฎหมายที่เป็นตำแหน่งโดยการเลือกตั้งเช่นผู้แทนราษฎร และสมาชิกสภาเทศบาล กฎหมายยังได้กำหนดคุณสมบัติของผู้เลือกตั้งไว้ มิใช่ว่าใคร ๆ ก็ใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่ฆราวาสที่มาออกเสียงในวันนั้นไม่ปรากฏว่าเป็นใครมาจากไหนเกี่ยวข้องกับวัดโจทก์อย่างไร ดังนั้น การที่จำเลยได้รับเสียงสนับสนุนจากฆราวาสมากกว่าพระนิเทศธรรมวาที นอกจากจะไม่เป็นข้อที่จะตัดสินชี้ขาดว่าตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ต้องเป็นของจำเลยแล้ว ยังไม่อาจจะฟังได้ว่า พระนิเทศธรรมวาทีมิได้เป็นผู้ทรงเกียรติคุณเป็นที่นับถือของคฤหัสถ์ในถิ่นนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคู่กรณีมีอยู่ 2 รูปคือ พระนิเทศธรรมวาทีกับจำเลยทั้งสองรูปนอกจากเป็นภิกษุซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้ประเสริฐ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบอันควรแก่การเคารพกราบไหว้แล้ว ยังเป็นพระสังฆาธิการอีกด้วย ถ้าหากจะเอื้อเฟื้อต่อพระธรรมวินัยและจริยาพระสังฆาธิการที่ระบุให้พระสังฆาธิการต้องรักษาส่งเสริมสามัคคีในหมู่คณะโดยหยุดกระทำการอันก่อให้เกิดการแตกแยกแล้ว การแตกแยกในหมู่ฆราวาสถ้าหากจะยังคงมีอยู่ก็จะระงับไปเองเรื่องนี้จึงหาใช่เหตุที่จะฟังว่าพระนิเทศธรรมวาทีขาดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสไม่ ข้อฎีกาของจำเลยที่ว่าพระนิเทศธรรมวาทีแต่งตั้งตนเองเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์เป็นการกระทำโดยอำนาจกิเลสตัณหาไม่ชอบด้วยพระธรรมวินัยและกฎหมายจึงไม่เป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมายนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าวข้อ 23 ระบุว่าในการแต่งตั้งเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวงเป็นหน้าที่ของเจ้าคณะตำบลกับเจ้าคณะอำเภอปรึกษาสงฆ์ และทายกทายิกาแห่งวัดนั้นพิจารณาคัดเลือกพระภิกษุผู้มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 22 ถ้าปรึกษาเห็นพ้องกันในพระภิกษุรูปหนึ่งรูปใดก็ได้ หรือเห็นแตกต่างกันในพระภิกษุหลายรูปก็ดี ให้เจ้าคณะอำเภอรายงานเสนอเจ้าคณะจังหวัดพิจารณา ถ้าเจ้าคณะจังหวัดเห็นสมควรในพระภิกษุรูปใดก็ให้แต่งตั้งพระภิกษุรูปนั้นเป็นเจ้าอาวาส ปรากฏว่าในการประชุมปรึกษาหาตัวผู้ที่จะดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ มีพระภิกษุที่ได้รับการเสนอชื่อให้พิจารณาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส 2 คน คือพระนิเทศธรรมวาทีและจำเลย รูปแรกดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมาหลายปี เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ วุฒิเปรียญ 6 ประโยคและนักธรรมเอก รูปหลังดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดโจทก์เป็นพระครูฐานานุกรมวุฒินักธรรมเอก มีพรรษายุกาลสูงกว่ารูปแรก 4 พรรษา ต่างเป็นพระภิกษุในวัดโจทก์ด้วยกัน ในเรื่องพรรษายุกาลนั้น ตามพระวินัย กฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ กฎมหาเถรสมาคมตลอดจนสังฆาณัติไม่ปรากฏเลยว่าการแต่งตั้งเจ้าอาวาสจะต้องแต่งตั้งจากพระภิกษุที่มีพรรษาสูงสุดในวัดนั้น ศาลฎีกาได้พิจารณากฎมหาเถรสมาคมฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการแล้ว เห็นว่าในเรื่องพรรษายุกาลของพระภิกษุที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสนอกจากพระอารามหลวง กฎมหาเถรสมาคมฉบับนี้ต้องการให้แต่งตั้งจากพระภิกษุที่มีพรรษาเกิน 5 เท่านั้น มิได้คำนึงว่าจะต้องมีพรรษายุกาลสูงสุดในวัดนั้นหรือไม่ ถ้าหากเจ้าคณะอำเภอเสนอพระภิกษุที่มีคุณสมบัติตามข้อ 6 และข้อ 22 มาให้พิจารณามากกว่า 1 รูป จึงให้เจ้าคณะจังหวัดพิจารณาผู้ที่เห็นว่าสมควรจะเป็นเจ้าอาวาสโดยพิจารณาคุณสมบัติด้านอื่นด้วย มิใช่แต่จะพิจารณาเฉพาะพรรษายุกาลแต่อย่างเดียว เมื่อได้เปรียบเทียบคุณสมบัติของพระนิเทศธรรมวาทีและจำเลยแล้ว ศาลฎีกาเห็นว่าที่เจ้าคณะจังหวัดเลือกพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์นั้น เป็นการใช้ดุลพินิจที่ต้องด้วยเจตนารมณ์ของกฎมหาเถรสมาคมดังกล่าว ที่พระนิเทศธรรมวาทีลงชื่อในตราตั้งพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์นั้น กระทำในฐานะเป็นเจ้าคณะจังหวัดมิใช่ในฐานะส่วนตัว ด้วยเหตุผลดังกล่าวศาลฎีกาเห็นว่าที่เจ้าคณะจังหวัดราชบุรีแต่งตั้งพระนิเทศธรรมวาทีเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์นั้นเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2506) ว่าด้วยการแต่งตั้งถอดถอนพระสังฆาธิการ ข้อ 23 พระนิเทศธรรมวาทีจึงเป็นเจ้าอาวาสวัดโจทก์โดยชอบด้วยกฎหมาย วัดโจทก์โดยพระนิเทศธรรมวาทีเจ้าอาวาสจึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้

ที่โจทก์ฎีกาว่าเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ตามฟ้องอยู่ที่จำเลย ขอให้บังคับตามคำฟ้องนั้น ปรากฏว่าพระราชเขมาจารย์เจ้าอาวาสองค์ก่อนมรณภาพเมื่ออายุ 97 ปี จำเลยเป็นรองเจ้าอาวาสมาตั้งแต่ พ.ศ. 2507 จึงน่าเชื่อตามคำเบิกความนายแสวงพยานจำเลยว่า จำเลยปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสตลอดมา เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2518 พระราชเขมาจารย์ยังได้มอบหมายอย่างเป็นทางการให้จำเลยปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสแทน ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 เมื่อพระราชเขมาจารย์มรณภาพแล้ว เจ้าคณะตำบลหน้าเมือง เขต 1 ก็ได้แต่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโจทก์ตั้งแต่วันที่10 มีนาคม 2520 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.3 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2521จำเลยได้มีหนังสือถึงเจ้าคณะตำบลหน้าเมือง เขต 1 ว่าจำเลยกำลังให้เจ้าหน้าที่การเงินจัดทำบัญชีและเอกสารต่าง ๆ ให้เรียบร้อยโดยเร็ว ทรัพย์สินของวัดโจทก์มีจำนวนมากจะต้องใช้เวลาชั่วระยะหนึ่งจัดทำบัญชีทรัพย์สินขอผัดการส่งมอบหน้าที่เจ้าอาวาสวัดโจทก์ไปชั่วระยะเวลาหนึ่งปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3 พระนิเทศธรรมวาทีแต่งตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่งประกอบด้วยพระภิกษุและฆราวาสเพื่อช่วยเหลือจำเลยตรวจสอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์ จำเลยไม่ยอมให้คณะกรรมการตรวจสอบอ้างว่า บัญชีบางส่วนอยู่ที่นายวิเชียรและนายแสวงกรรมการวัด ขอผัดส่งมอบบัญชีในวันที่ 17 พฤษภาคม2521 ปรากฏตามบันทึกของคณะกรรมการดังกล่าวเอกสารหมาย จ.5 เมื่อครบกำหนดที่ขอผัดไว้แล้ว จำเลยมิได้ส่งมอบศาสนสมบัติและเอกสารต่าง ๆ ของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที โจทก์มีพันตำรวจเอกพินิจผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดราชบุรีในขณะนั้นมาเบิกความว่าเมื่อต้นปี พ.ศ. 2522 พันตำรวจเอกพินิจปลัดจังหวัดราชบุรีและศึกษาธิการจังหวัดราชบุรีพร้อมกันไปพบจำเลยพูดขอร้องให้จำเลยส่งมอบศาสนสมบัติและเอกสารต่าง ๆ ของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที จำเลยตอบบ่ายเบี่ยงเป็นเรื่องอื่น นอกจากนี้คดียังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจเอกพร้อม ไวยาวัจกร และกรรมการวัดโจทก์ในสมัยที่จำเลยปฏิบัติหน้าที่แทนเจ้าอาวาสกับจดหมายของพันตำรวจเอกพร้อมลงวันที่ 19 กันยายน 2521 เอกสารหมาย จ.6 ว่าบัญชีต่าง ๆ ของวัดโจทก์อยู่ที่จำเลยในการให้เช่าที่ดินของวัดโจทก์นั้น พันตำรวจเอกพร้อมทำสัญญากับผู้เช่าแทนวัดโจทก์แล้วส่งมอบหนังสือสัญญาเช่าให้แก่จำเลย จำเลยเบิกความว่าเอกสารต่าง ๆ ของวัดโจทก์อยู่ที่นายแสวงบ้าง อยู่ที่นายวิเชียรบ้าง แต่นายวิเชียรและนายแสวงพยานจำเลยเบิกความว่า บัญชีและเอกสารของวัดโจทก์อยู่ที่เจ้าอาวาส นายวิเชียรและนายแสวงมิได้เก็บไว้ จากพยานหลักฐานต่าง ๆ ดังกล่าวข้างต้นประกอบกับก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ มีบุคคลหลายฝ่ายขอร้องให้จำเลยส่งมอบศาสนสมบัติและเอกสารต่าง ๆ ของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที จำเลยไม่เคยปฏิเสธว่าจำเลยมิได้ครอบครองศาสนสมบัติและเอกสารต่าง ๆ ของวัดโจทก์ เพียงแต่บ่ายเบี่ยงหรือผัดการส่งมอบเท่านั้นนอกจากนี้จำเลยในฐานะผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดโจทก์จะปฏิเสธความรับผิดชอบในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะตามมาตรา 37(1) แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. 2505 เจ้าอาวาสมีหน้าที่บำรุงรักษาวัด จัดกิจการและศาสนสมบัติของวัดให้เป็นไปด้วยดี ดังนั้นศาสนสมบัติและเอกสารต่าง ๆของวัดโจทก์จึงอยู่ในการครอบงำและความรับผิดชอบของจำเลย จำเลยจึงมีหน้าที่ส่งมอบให้แก่เจ้าอาวาสวัดโจทก์องค์ใหม่ จำเลยปฏิบัติหน้าที่เจ้าอาวาสวัดโจทก์แทนพระราชเขมาจารย์อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 5ธันวาคม 2518 พระนิเทศธรรมวาทีดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโจทก์ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2521 จำเลยจึงมีหน้าที่รับผิดชอบในเรื่องการเงินของวัดโจทก์ในระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2518 จนถึงวันที่ 15 มีนาคม 2521จึงเห็นสมควรให้จำเลยส่งมอบบัญชีรายรับรายจ่ายของวัดโจทก์ระหว่างระยะเวลาดังกล่าวแก่พระนิเทศธรรมวาที ถ้าหากไม่ทำบัญชีไว้ให้จำเลยรีบทำโดยเร็ว สำหรับศาสนสมบัติของวัดโจทก์ประเภทครุภัณฑ์และลหุภัณฑ์นั้น แม้บางชิ้นจะอยู่ในความครอบครองของพระภิกษุรูปอื่นหรืออยู่ในกุฏิพระภิกษุรูปอื่นก็ไม่ใช่เหตุที่จำเลยจะใช้เป็นข้ออ้างไม่ยอมส่งมอบศาสนสมบัติของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาที เพราะอาจหมายเหตุไว้ในบัญชีพัสดุภัณฑ์ว่าของชิ้นใดอยู่ที่พระภิกษุรูปใด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น

พิพากษากลับว่าให้จำเลยส่งมอบศาสนสมบัติและเอกสารของวัดโจทก์แก่พระนิเทศธรรมวาทีเจ้าอาวาสวัดโจทก์ ดังนี้

1. โฉนดที่ดินและสมุดเงินฝากของวัดโจทก์ในธนาคารตามฟ้องทั้งหมด

2. หนังสือสัญญาเช่าที่ดินของวัดโจทก์ทุกฉบับและรายชื่อผู้เช่าที่ดินทุกราย

3. บัญชีรายรับรายจ่ายของวัดโจทก์ระหว่างวันที่ 5 ธันวาคม 2518ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2521 ถ้ามิได้ทำบัญชีสำหรับระยะเวลาดังกล่าวไว้ให้จำเลยทำแล้วส่งมอบให้พระนิเทศธรรมวาทีภายในสามเดือน

4. ศาสนสมบัติของวัดโจทก์ทั้งหมดพร้อมด้วยบัญชีรายละเอียดถ้าครุภัณฑ์หรือลหุภัณฑ์ชิ้นใดอยู่ในความครอบครองของพระภิกษุรูปใดหรือบุคคลใด และจำเลยไม่สามารถเรียกคืนมาส่งมอบให้พระนิเทศธรรมวาทีได้ให้แสดงไว้ในบัญชีว่าศาสนสมบัตินั้นอยู่ในความครอบครองของพระภิกษุรูปใดหรือบุคคลใด พร้อมทั้งเหตุขัดข้องที่ไม่สามารถเรียกคืนจากผู้ครอบครองด้วย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลเป็นพับ

Share