คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1533/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์กล่าวในฟ้องว่า จำเลยที่ 2 ประมาทโดยการขับรถยนต์ด้วยความเร็วไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายของตน เป็นเหตุให้ชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับสวนทางมาด้วยความประมาทเช่นกัน แล้วจึงไปชนกับรถยนต์คันอื่นอีก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายมือของตนสภาพรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับถูกชนตรงกลางรถ มีลักษณะถูกรถยนต์ที่ ย. ขับชนมากกว่า จำเลยที่ 2 จึงไม่ประมาทในส่วนนี้แต่ที่ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยที่ 2 ประมาท โดยหลังจากที่รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับถูกรถยนต์ที่ ย. ขับชนเสียหลักตกลงไปไหล่ถนนทางด้านขวามือแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่หยุดรถกลับแล่นขึ้นมาบนถนนทางด้านขวามือ เพื่อจะข้ามไปยังช่องทางด้านซ้ายมือ โดยไม่ดูให้ดีก่อนว่าขณะนั้นมีรถยนต์ของบริษัทขนส่ง จำกัด แล่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิด ซึ่งไม่สามารถหยุดหรือหลบได้ทันจึงเกิดชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับ เป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 2 ขับรถขึ้นมาบนถนนทางด้านขวามือเป็นการขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร และเป็นการขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดาซึ่งอาจไม่เห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลังได้พอแก่ความปลอดภัยโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นจนเกิดชนกับรถยนต์ของบริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งแล่นสวนทางมา ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง จึงเป็นการขับรถโดยประมาท พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นนั้นเป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้องต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคแรก ซึ่งปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกายกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 ประกอบมาตรา 225.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 33, 35, 39, 43, 78, 151, 157, 160 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา390, 90, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 ข้อ 2
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 หลบหนี ศาลชั้นต้นได้ออกหมายจับและจำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 1 ชั่วคราว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 390 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ซึ่งเป็นบทหนัก จำคุก 1 เดือน ปรับ 1,000บาทโทษจำคุกให้รอไว้ 1 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 ฎีกา โดยผู้พิพากษาที่ลงชื่อในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ข้อหาฐานขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายและข้อหาหลบหนีไม่ให้ความช่วยเหลือตามสมควรและไม่แสดงตัวแจ้งเหตุแก่พนักงานเจ้าหน้าที่สำหรับจำเลยที่ 2 เป็นอันยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเพียงข้อหาเดียวว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ชนกับรถยนต์ของผู้อื่นได้รับความเสียหายและเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาหรือไม่ ในข้อนี้ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า วันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 ได้ขับรถยนต์ตรากงจักร หมายเลข 80569 ไปตามถนนพหลโยธินช่วงจากจังหวัดตากมุ่งหน้าไปจังหวัดเชียงใหม่ มีสิบเอกสมบัติ เดชพงษ์ ขับรถยนต์ตรากงจักร หมายเลข 80553 ตามไปในระยะห่างประมาณ 100 เมตร เมื่อมาถึงที่เกิดเหตุเป็นทางโค้งไปทางขวาขณะที่รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับแล่นในช่องทางเดินรถของตนทางด้านซ้ายมือด้วยความเร็วประมาณ 40 ไมล์ต่อชั่วโมง ถูกรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน 80-1179 สมุทรสงคราม ซึ่งจำเลยที่ 1 ขับแล่นสวนทางมาและแล่นล้ำเส้นแบ่งกึ่งกลางถนนเข้ามาเฉี่ยวชนที่ด้านข้างรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับ รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเสียหลักถูกรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ หมายเลขทะเบียน 80-0464 เพชรบุรี ซึ่งนายหยู ไม่ทราบนามสกุล ขับตามหลังรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับมาเฉี่ยวชนตรงถังน้ำมันและล้อหลังขวาแล้วรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับเสียหลักไปทางขวาตกลงไปที่ไหล่ถนน จำเลยที่ 2 ได้ขับรถดังกล่าวกลับขึ้นมาบนถนนทางด้านขวามือเพื่อจะข้ามถนนไปทางช่องทางด้านซ้ายมือตามเดิม เป็นเหตุให้ชนด้านหน้าซ้ายรถยนต์โดยสารของบริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งแล่นสวนทางมาอีกครั้งหนึ่ง รถยนต์โดยสารได้รับความเสียหายจอดคร่องเส้นกึ่งกลางถนน ส่วนรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับหัวรถหมุนกลับไปทางจังหวัดตากในช่องทางเดินรถของรถยนต์โดยสาร ส่วนรถยนต์บรรทุก 6 ล้อ ที่นายหยูขับเสียหลักแล่นไปชนรถยนต์คันที่สิบเอกสมบัติ เดชพงษ์ ขับจนพลิกคว่ำบนถนนด้านซ้ายมือ และรถที่นายหยูขับก็พลิกตะแคงตกถนนด้านเดียวกัน การชนกันครั้งนี้เป็นเหตุให้ร้อยโทสาธิต พิธรัตน์สิบเอกสมบัติ เดชพงษ์ นายประสงค์ แซ่อึ้ง ได้รับอันตรายแก่กายความเสียหายของรถยนต์เป็นเงิน 1,195,710 บาท
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า สำหรับข้อหาว่าจำเลยที่ 2 ขับรถโดยประมาทนี้ โจทก์กล่าวในฟ้องข้อ 1 ข. ว่า จำเลยที่ 2 ประมาทโดยการขับรถยนต์ด้วยความเร็วไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายของตนเป็นเหตุให้ชนรถยนต์ที่จำเลยที่ 1 ขับสวนทางมาด้วยความประมาทเช่นกันแล้วจึงไปชนกับรถยนต์คันอื่นอีก แต่การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2ขับรถไม่ชิดขอบทางด้านซ้ายมือของตน สภาพรถยนต์ที่จำเลยที่2 ขับถูกชนตรงกลางรถ มีลักษณะถูกรถยนต์ที่นายหยูขับชนมากกว่าจำเลยที่ 2 จึงไม่ประมาทในส่วนนี้ แต่ไปฟังว่า จำเลยที่ 2 ประมาทโดยหลังจากที่รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับถูกรถยนต์ที่นายหยูขับชนจนเสียหลักตกลงไปไหล่ถนนทางด้านขวามือแล้ว จำเลยที่ 2 ไม่หยุดรถ กลับขับแล่นขึ้นมาบนถนนทางด้านขวามือเพื่อจะข้ามไปยังช่องทางด้านซ้ายมือโดยไม่ดูให้ดีก่อนว่าขณะนั้นมีรถยนต์ของบริษัทขนส่ง จำกัด แล่นสวนทางมาในระยะกระชั้นชิดซึ่งไม่สามารถหยุดหรือหลบได้ทันจึงเกิดชนกับรถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับ เป็นความประมาทของจำเลยที่ 2 และศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า การที่จำเลยที่ 2 ขับรถขึ้นมาบนถนนทางด้านขวามือเป็นการขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจรและเป็นการขับรถในลักษณะที่ผิดปกติวิสัยของการขับรถตามธรรมดาซึ่งอาจไม่เห็นทางด้านหน้าหรือด้านหลังได้พอแก่ความปลอดภัยโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อื่นจนเกิดชนกับรถยนต์ของบริษัทขนส่ง จำกัด ซึ่งแล่นสวนทางมา ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ขับรถโดยไม่ใช้ความระมัดระวัง จึงเป็นการขับรถโดยประมาทพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อนี้นั้น เห็นว่าเป็นการพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อที่โจทก์ไม่ได้กล่าวในฟ้อง ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192วรรคแรก ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้จำเลยที่ 2 มิได้อุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อนี้ ศาลฎีกาย่อมยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 195 ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาชอบที่จะพิพากษายกฟ้องในข้อหานี้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่รถยนต์ที่จำเลยที่ 2 ขับจากไหล่ถนนขึ้นมาชนรถยนต์โดยสารบริษัทขนส่ง จำกัด บนถนน จำเลยที่ 2 ไม่ได้ประมาทนั้น จึงไม่จำต้องวินิจฉัย’
พิพากษาแก้เป็นว่าให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ทุกข้อหา.

Share