แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การที่จำเลยที่ 2 ซื้อหุ้นบริษัทจำเลยที่ 1 นั้นมีผลเพียงเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 2 เข้าดำเนินกิจการโรงแรมซึ่งบริษัทจำเลยที่ 1 เช่ามาจากผู้อื่น จึงเป็นการดำเนินกิจการโรงแรมในฐานะผู้ซื้อหุ้นของบริษัทจำเลยที่ 1 เท่ากับบริษัทจำเลยที่1 ยังเป็นผู้ดำเนินกิจการโรงแรมอยู่นั่นเอง บริษัทจำเลยที่ 1 ยังคงมีฐานะเป็นนายจ้างของโจทก์ซึ่งเป็นพนักงานโรงแรมนี้อยู่
จำเลยที่ 2 ได้รับมอบหมายจากผู้ถือหุ้นให้ดำเนินกิจการโรงแรมแทนบริษัทจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคล ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของโจทก์ตามบทนิยามคำว่า’นายจ้าง’ ในข้อ 2 แห่งประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงาน
แม้จำเลยที่ 2 จะเข้ามาดำเนินกิจการโรงแรมเมื่อจำเลยที่ 2 ซื้อหุ้นจากบริษัทจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ทำงานต่อเนื่องกันมา จึงต้องนับอายุงานของโจทก์ที่ทำงานอยู่กับบริษัทจำเลยที่ 1 ต่อเนื่องกันมาด้วย จะนับอายุงานของโจทก์เพียงเท่าที่จำเลยที่ 2 เข้าดำเนินกิจการโรงแรมหาได้ไม่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวกับโรงแรมได้จ้างโจทก์ทุกคนเป็นลูกจ้างประจำทำงานที่โรงแรมโอเซี่ยนวิว ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาขายหุ้นทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ จึงได้รับสิทธิเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจโรงแรมโอเซี่ยนวิว ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาเช่ามาจากบริษัทไทยยูไนเต็ดอินเวสเมนท์ จำกัด ดังนั้น จำเลยที่ ๒ จึงได้รับช่วงดำเนินการโรงแรมโอเซี่ยนวิวในนามของจำเลยที่ ๑ ต่อมา แล้วจำเลยทั้งสองได้เลิกจ้างโจทก์ทุกคนและทิ้งการบริหารโรงแรมโอเซี่ยนวิวหนีไป ทั้งนี้เพราะจำเลยทั้งสองถูกบริษัทไทยยูไนเต็ด ฯ ได้ประกาศว่า ถ้าโจทก์ทุกคนต้องการทำงานในโรงแรมโอเซี่ยมวิวให้เซียนใบสมัครเข้าทำงานใหม่ การที่จำเลยทั้งสองหนีไป ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้โจทก์ทุกคนทราบถึงสาเหตุต่าง ๆ และไม่จ่ายค่าจ้างค้างจ่าย ถือได้ว่าเป็นการให้โจทก์ทุกคนออกจากงานโดยไม่มีความผิด และเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองไม่ยอมให้โจทก์ทุกคนทำงานเกิน ๗ วันทำงานติดต่อกันโดยมีเจตนาไม่จ่ายค่าจ้าง โจทก์ทุกคนจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้จำเลยทั้งสองยังค้างจ่ายค่าจ้างแก่โจทก์ทุกคนด้วย ขอให้ศาลบังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างค้างจ่ายพร้อมด้วยดอกเบี้ยแก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ให้การว่า จำเลยที่ ๑ เช่ากิจการโรงแรมโอเซี่ยนวิวมาจากบริษัทไทยยูไนเต็ด ๆ แล้วได้โอนขายกิจการดังกล่าวทั้งหมดให้แก่จำเลยที่ ๒ โจทก์ทุกคนก็ตกลงทำงานอยู่กับจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ จึงไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ทุกคนนับแต่นั้นมา หากจะฟังว่าจำเลยที่ ๑ ยังคงเป็นนายจ้างโจทก์ทุกคนอยู่ จำเลยที่ ๑ ก็ไม่เคยเลิกจ้างโจทก์ทุกคน บริษัทไทยยูไนเต็ด ๆ เป็นผู้เลิกจ้างโจทก์ทุกคนโดยพลการ จำเลยที่ ๑ ไม่เคยทราบมาก่อน จำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ทุกคน ขอให้ยกฟ้องโจทก์
จำเลยที่ ๒ ให้การว่า จำเลยที่ ๒ ไม่ได้เป็นนายจ้างของโจทก์ทุกคน จำเลยที่ ๒ เข้าดำเนินกิจการโรงแรมโอเซี่ยนวิวในลักษณะตัวแทนของจำเลยที่ ๑ ทั้งจำเลยที่ ๒ ไม่เคยรับโอนหุ้นจากจำเลยที่ ๑ จึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างของโจทก์ทุกคนถึงหากจะฟังว่าจำเลยที่ ๒ เป็นนายจ้างก็ไม่ต้องรับผิดในค่าชดเชยทั้งหมดตามฟ้องคงต้องรับผิดในค่าชดเชยเพียงไม่เกินระยะเวลาที่จำเลยที่ ๒ เข้ามาดำเนินการดังกล่าว ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่ายแก่โจทก์ตามฟ้อง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏว่าการทำสัญญาขายหุ้นให้จำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๑ กระทำโดยมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น แต่จำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้รับโอนหุ้นมา ถึงแม้จะมีการโอนหุ้นกันแล้วก็ตาม สัญญาซื้อขายหุ้นก็มีผลเพียงเปลี่ยนตัวผู้ถือหุ้นของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น สภาพความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ ยังคงอยู่เช่นเดิมก่อนที่มีการทำสัญญาซื้อขายหุ้นกัน จำเลยที่ ๑ เป็นนายจ้างของโจทก์ทุกคน หลังจากจำเลยที่ ๒ เข้าดำเนินกิจการโรงแรมโอเซี่ยนวิวแล้ว จำเลยที่ ๑ ก็ยังทำสัญญาเช่าโรงแรมโอเซี่ยนวิวจากบริษัทยูไนเต็ด ๆ ต่ออีก นอกจากนี้จำเลยที่ ๑ ได้ยื่นคำขอเปิดบัญชีเงินฝากที่ธนาคารระบุให้จำเลยที่ ๒ หรือสามีของจำเลยที่ ๒ คนใดคนหนึ่งเป็นผู้มีอำนาจเซ็นสั่งจ่ายเงินแทนจำเลยที่ ๑ ได้ ในช่วงระยะเวลาที่จำเลยที่ ๒ เข้าดำเนินกิจการโรงแรมโอเซี่ยนวิว ก็ยังมีการเสียภาษีการค้าและหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหัก ณ ที่จ่ายแก่สรรพากรในนามของจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ ซื้อหุ้นของจำเลยที่ ๑ ทั้งหมดก็เพื่อเข้าไปรับฐานะความเป็นนิติบุคคลของจำเลยที่ ๑ ดังนี้ การที่จำเลยที่ ๒ เข้าดำเนินกิจการโรงแรมโอเซี่ยนวิวในฐานะเป็นผู้ซื้อหุ้นของจำเลยที่ ๑ ก็เท่ากับจำเลยที่ ๑ ยังเป็นผู้ดำเนินการโรงแรมโอเซี่ยนวิวอยู่นั่นเอง จำเลยที่ ๑ จึงคงมีนิติสัมพันธ์ในฐานะนายจ้างของโจทก์ทุกคนอยู่ตลอดมา
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ฯ ข้อ ๒ ได้ให้บทนิยามไว้ว่า “นายจ้าง” หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้ และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนนายจ้างในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลหมายความว่า ผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคลนั้น และหมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้รับมอบหมายให้ทำงานแทนผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลกรณีนี้นายจ้างของโจทก์ทุกคนคือจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นนิติบุคคล แต่เมื่อจำเลยที่ ๑ ได้ทำสัญญาขายหุ้นทั้งหมดของจำเลยที่ ๑ ตามมติของที่ประชุมวิสามัญของผู้ถือหุ้นแล้วได้มอบให้จำเลยที่ ๒ เข้าดำเนินกิจการโรงแรมโอเซี่ยนวิวแทนจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๒ จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ทุกคนตามบทนิยามคำว่านายจ้างดังกล่าวด้วย
ถึงแม้จำเลยที่ ๒ จะเข้ามาดำเนินการโรงแรมโอเซี่ยนวิว ตั้งแต่วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๕ จนถึงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๖ ก็ตาม แต่จำเลยที่ ๒ ได้ดำเนินกิจการในฐานะผู้ซื้อหุ้นของจำเลยที่ ๑ และโจทก์ทุกคนก็ได้ทำงานต่อเนื่องกันมา จึงต้องนับอายุงานของโจทก์ทุกคนที่ทำอยู่กับจำเลยที่ ๑ เดิมต่อเนื่องกันมาด้วยจะนับอายุงานของโจทก์ทุกคนเพียงเท่าที่จำเลยที่ ๒ เข้าดำเนินกิจการโรงแรมโอเซี่ยนวิวหาได้ไม่
พิพากษายืน