คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1532/2543

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้ง งานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน และนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนาน ประมาณ 7 ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน 7,800 บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย แสดงโดยชัดแจ้งว่าจำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 149
จำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่าง น. กับ ส. ต่อเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินเพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตาม ป.อ. มาตรา 157 จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตาม ป.อ. มาตรา 149 เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 149 อันเป็น บทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 157 อันเป็นบททั่วไปอีก
เมื่อจำเลยได้กรอกข้อความลงในใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3) ตามความเป็นจริง ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อขายที่ดินทุกประการ และตราประทับของกระทรวงมหาดไทยก็ถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่มี ลายมือชื่อนายอำเภอและยังมิได้ลงวันที่และเดือนที่ออกใบแทนฯ เท่านั้น เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาจะลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสารต้นฉบับ ๆ หนึ่งฉบับใด เป็นเพียงแต่เอกสารยังลงรายการ ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น และการที่นายอำเภอในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ลงชื่อรับรองเอกสารกับการที่ยังมิได้ลงวันเดือนปีที่ออกเอกสาร ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้พบเห็นเอกสารจะหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงที่ทางราชการออกให้ไปได้ การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตาม ป.อ. มาตรา 161 ประกอบด้วยมาตรา 266 (1)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓, ๙๑, ๑๔๙, ๑๕๗, ๑๖๑, ๒๖๔, ๒๖๕, ๒๖๖ และริบของกลาง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จำคุก ๑ ปี ข้อหาอื่นให้ยก ริบของกลาง
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค ๒ พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙, ๑๖๑, ๒๖๖ (๑) ลงโทษตามมาตรา ๑๔๙ จำคุก ๕ ปี ความผิดตามมาตรา ๑๖๑ และมาตรา ๒๖๖ (๑) เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา ๒๖๖ (๑) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ จำคุก ๑ ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก ๑ ปี ตามมาตรา ๑๕๗ ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก ๗ ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยว่า จำเลยกระทำผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ สำหรับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ นั้น โจทก์มีพนักงานสอบสวนเป็นพยานเบิกความว่า จากคำให้การของผู้บังคับบัญชาจำเลยได้ความว่า การจดทะเบียนซื้อขายที่ดินคดีนี้ ในเดือนเมษายน ๒๕๓๑ เมื่อคิดตามราคาประเมินของกรมที่ดินแล้วต้องเสียค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม ค่าภาษีเงินได้ และค่าอากรณ์แสตมป์เป็นเงิน ๓,๒๙๔ บาท ๑,๓๑๘ บาท และ ๘๒๓ บาท รวมเป็นเงินเพียง ๕,๔๓๕ บาท แต่ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของนายสุรินทร์และจำเลยว่า จำเลยได้เรียกและรับเงินจากนายสุรินทร์เพื่อการจดทะเบียนขายที่ดินเป็นเงิน ๗,๘๐๐ บาท เห็นว่า จำเลยเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่รับคำขอต่าง ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมที่ดินทุกประเภท รวมทั้งงานในด้านเกี่ยวกับการเงินและบัญชี โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องการกรอกข้อความในเอกสารต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องของหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน แล้วนำเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ทั้งได้ปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวมาก่อนเกิดเหตุนานประมาณ ๗ ปี จำเลยย่อมทราบและคำนวณค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนที่ดินในพื้นที่ที่อยู่ในความรับผิดชอบเป็นอย่างดี การที่จำเลยเรียกหรือรับเงินจำนวน ๗,๘๐๐ บาท ไว้แล้วนิ่งเฉยเสีย บ่งแสดงชัดแจ้งว่า จำเลยมีเจตนาเรียกหรือรับเอาเงินส่วนที่เกินไว้สำหรับตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่ง จึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙
ส่วนการขอจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมนายมานพและนายสุรินทร์ไปยื่นคำขอต่อจำเลยเมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๓๑ จำเลยรับคำขอดังกล่าวไว้และบอกว่าจะต้องมีการประกาศเพื่อคัดค้านมีกำหนด ๓๐ วัน เมื่อครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยบอกให้ชำระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียน นายสุรินทร์จึงมอบเงินจำนวน ๗,๘๐๐ บาท แก่จำเลยแล้วชำระราคาที่ดินแก่นายมานพในวันนั้น แล้วจำเลยให้นายมานพและนายสุรินทร์ลงชื่อในสัญญาขายที่ดินในวันดังกล่าวจำเลยพร้อมที่จะเสนอเรื่องราวขอจดทะเบียนขายที่ดินระหว่างนายมานพกับนายสุรินทร์ต่อนายเสนาะ เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอสามโก้ เพื่อดำเนินการต่อไปตามอำนาจหน้าที่ แต่จำเลยกลับละเว้นไม่ดำเนินการนับแต่วันดังกล่าวเป็นต้นมา ดังนั้น ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ จึงเป็นความผิดกรรมเดียวกับความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานเรียกรับหรือยอมจะรับทรัพย์สินสำหรับตนเองโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ เมื่อปรับบทลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ อันเป็นบทเฉพาะแล้ว จึงไม่จำต้องปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ อันเป็นบททั่วไปอีก
ส่วนความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการนั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า ใบแทนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. ๓) จำเลยได้กรอกข้อความลงในเอกสารตามความเป็นจริง ตรงตามเจตนาของผู้ซื้อผู้ขายที่ดินทุกประการ และตราประทับของกระทรวงมหาดไทยก็ถูกต้อง เพียงแต่ยังไม่มีลายมือชื่อนายอำเภอสามโก้และยังมิได้ลงวันที่และเดือนที่ออกใบแทนฯ เท่านั้น เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่เอกสารที่จำเลยจัดทำขึ้นโดยมีเจตนาจะลอกเลียนแบบหรือปลอมเอกสารต้นฉบับ ๆ หนึ่งฉบับใด เป็นเพียงแต่เอกสารยังลงรายการไม่ครบถ้วนบริบูรณ์ตามระเบียบของทางราชการเท่านั้น และการที่นายอำเภอสามโก้ในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่ดินยังมิได้ลงชื่อรับรองเอกสารกับการที่ยังมิได้ลงวันเดือนปีที่ออกเอกสาร ก็ไม่มีเหตุที่จะทำให้ผู้พบเห็นเอกสารจะหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงที่ทางราชการออกให้ไปได้ การกระทำของจำเลยไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสาร จึงไม่เป็นความผิดฐานปลอมเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๖๑ ประกอบด้วยมาตรา ๒๖๖ (๑)
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๙ เพียงบทเดียว จำคุก ๕ ปี แต่ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ประกอบกับจำเลยรับราชการมานานมีคุณความดีมาก่อน มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ คงจำคุก ๒ ปี ๖ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒.

Share