คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1528/2525

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ปลอมลายมือชื่อเจ้าของในใบมอบอำนาจโอนที่ดินเจ้าพนักงานที่ดินตรวจสอบโดยประมาทเลินเล่อ เพราะเห็นได้ชัดว่าลายมือชื่อที่ปลอมกับลายมือชื่อเจ้าของที่ดินในสารบบแตกต่างกันทั้งวิธีการเขียนและลายเส้นเมื่อต่างเป็นผู้สุจริตด้วยกัน ผู้รับโอนที่พิพาทจากผู้ไม่มีอำนาจเป็นความประมาทของผู้รับโอนเอง ผู้รับโอนไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปจำนอง แม้ผู้รับจำนองกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนก็ไม่ได้สิทธิตามสัญญาจำนอง
เมื่อพยานหลักฐานโจทก์รับฟังได้ว่า หนังสือมอบอำนาจเป็นเอกสารปลอม แม้พยานโจทก์ซึ่งปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตผู้ลงนามรับรองลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจเบิกความว่าโจทก์เป็นผู้ไปติดต่อกับพยานด้วยตนเอง ก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะพยานต้องยืนยันเช่นนั้นเพื่อป้องกันตนเองให้พ้นผิด การที่พยานโจทก์เบิกความเป็นปรปักษ์แก่โจทก์เช่นนี้ จึงหาได้เป็นข้อพิรุธของโจทก์แต่ประการใดไม่
ผู้นำที่ดินไปขายโดยอาศัยใบมอบอำนาจปลอมไม่เคยรู้จักโจทก์ทั้งโจทก์เป็นข้าราชการบำนาญมีฐานะดี มีที่ดินติดต่อกับที่พิพาทซึ่งรวมกันแล้วถึง 15 โฉนด มีบุตรเพียง 2 คน ต่างมีครอบครัวและอาชีพเป็นหลักฐาน พฤติการณ์ดังนี้ทำให้ไม่น่าเชื่อว่าโจทก์รู้เห็นในการทำปลอมใบมอบอำนาจการฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายและจำนอง จึงเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริต

ย่อยาว

จำเลยที่ 2 ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ลงวันที่ 27 เดือนกันยายน พุทธศักราช 2523

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 12910, 12911 และ 12912 ซอยนภาศัพท์ แขวงคลองตัน (พระโขนงฝั่งเหนือ)เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร รวม 3 โฉนด เนื้อที่ประมาณ 604 ตารางวาจำเลยที่ 1 มีหน้าที่ดูแลและควบคุมการปฏิบัติราชการของกรมที่ดิน กรมตำรวจและกรมการปกครอง จำเลยที่ 2 มีหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับที่ดินและรับผิดชอบบังคับบัญชาข้าราชการในสังกัด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2519 ได้มีบุคคลแอบอ้างว่าเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ บุตรชายโจทก์ไปแจ้งความต่อร้อยตำรวจตรีเชวงชัย ธีระกุล ร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลบุบผารามว่าผู้แจ้งได้ทำโฉนดที่ดินของโจทก์ดังกล่าวพร้อมทั้งสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์หายที่สี่แยกบ้านแขก ร้อยตำรวจตรีเชวงชัย ธีระกุล รับแจ้งความไว้และได้ออกแบบเรื่องราวขออนุญาตต่าง ๆ ให้แก่ผู้แแอบอ้าง ต่อมาในวันที่ 23 เมษายน 2519 ได้มีผู้แอบอ้างว่าเป็นตัวโจทก์นำแบบเรื่องราวขออนุญาตต่าง ๆ ที่ร้อยตำรวจตรีเชวงชัย ธีระกุล ออกให้ดังกล่าวไปแสดงต่อนายทะเบียนเขตบางรัก เพื่อขอให้ออกใบแทนสำเนาทะเบียนบ้านให้แทนฉบับที่สูญหาย นายทะเบียนเขตบางรักได้ออกใบแทนสำเนาทะเบียนบ้านให้ตามขอ และในวันเดียวกันนั้น ผู้แอบอ้างเป็นตัวโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อเจ้าพนักงานเขตบางรัก ขอให้รับรองสำเนาหนังสือมอบอำนาจในนามโจทก์ 1 ฉบับโดยขอให้รับรองว่าโจทก์ได้ลงลายมือชื่อต่อหน้านายทะเบียนเขตบางรักมอบอำนาจให้นายคณิสสร วิรยศิริ เป็นผู้รับมอบอำนาจเพื่อขอออกใบแทนโฉนดเลขที่ 12910, 12911 และ 12912 ที่หายไปดังกล่าว นายธรรมเนียม เปลี่ยนสิงห์ ผู้ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตบางรักได้ลงนามรับรองให้ ดังปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 9 พร้อมทั้งหนังสือมอบอำนาจลงวันที่ 23 เมษายน 2519 ซึ่งปลอมขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่งตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 15 ไปแสดงต่อเจ้าพนักงาานที่ดินเขตพระโขนง นายบุญส่ง นันทวานิช หัวหน้าหมวดมรดกและออกใบแททนโฉนดที่ดินเขตพระโขนง ตรวจสอบสารบบแล้วเสนอเจ้าพนักงานที่ดินเขตพระโขนงว่าควรดำเนินการให้ การตรวจสอบดังกล่าวเป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ เพราะเห็นได้ชัดว่าลายมือชื่อที่ปลอมกับลายมือชื่อของโจทก์ในสารบบแตกต่างกันทั้งวิธีการเขียนและลายเส้น นายวิชัย อินทจินดา เจ้าพนักงานที่ดินเขตพระโขนงก็สั่งให้ดำเนินการได้โดยมิได้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานในบังคับบัญชาให้รอบคอบอันเป็นความประมาทเลินเล่อ ต่อจากนั้น นายบุญส่ง นันทวานิชและนายวิชัย อินทจินดา ได้ดำเนินการตามลำดับจนกระทั่งนายบัญชา วิสุทธิพงศ์ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานคร ได้นำเสนออธิบดีกรมที่ดินเพื่อลงนามในใบแทนโฉนดเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2519 นายจิตต์ ณ ตะกั่วทุ่ง รองอธิบดีกรมที่ดินได้ลงนามในใบแทนโฉนดให้ตามเสนอในวันเดียวกันนั้น นายวิชัย อินทจินดา ได้มอบใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่ผู้แอบอ้างว่าเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ รับมอบไป ต่อมาวันที่ 21 มิถุนายน 2519 ได้มีผู้แอบอ้างว่าเป็นตัวโจทก์ไปขอให้นายธรรมเนียม เปลี่ยนสิงห์ รับรองในหนังสือมอบอำนาจอีกว่าโจทก์มอบอำนาจให้ผู้แอบอ้างเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12910, 12911 หนึ่งฉบับ และขายที่ดินโฉนดเลขที่ 12912 อีกฉบับหนึ่ง นายธรรมเนียม เปลี่ยนสิงห์ ได้รับรองให้ดังปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 32 และ 33 แต่ปรากฏว่าเมื่อผู้แอบอ้างนำหนังสือมอบอำนาจไปแสดงต่อเจ้าพนักงานที่ดินเขตพระโขนงกลับเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ผู้แอบอ้างได้ทำปลอมขึ้นมาใหม่อีกสองฉบับ ปรากฏตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 34 และ 35 นางพวงเพชร ต่อกิจยืนยง เจ้าพนักงานผู้ตรวจสอบได้ทำบันทึกเสนอเจ้าพนักงานที่ดินว่า “ตรวจหมายเลขที่ดิน หมายเลขโฉนดที่ดินแล้วถูกต้อง ลายเซ็นคล้ายคลึงกัน เห็นควรดำเนินการ” นายวิชัย อินทจินดาสั่งให้ดำเนินการได้ ในการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ครั้งนี้เป็นไปโดยประมาทเลินเล่อ และไม่ปรากฏว่าได้ตรวจสอบและถ่ายภาพบัตรประชาชนของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจไว้แต่อย่างใด คงถ่ายภาพไว้แต่บัตรประชาชนของนายสมชาย วินศิริ (จำเลยที่ 3) ผู้ซื้อที่ดินเพียงผู้เดียว ระยเวลาที่ขาายที่ดินห่างจากวันที่ได้รับใบแทนโฉนดที่ดินเพียง 15 วัน โดยขายกันในราคารวม 3 โฉนดเป็นเงิน 1,449,600 บาท มีการชำระเงินสดในวันทำการซื้อขายจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เพียง 49,000 บาท ส่วนที่เหลือออกเป็นเช็คลงวันที่ล่วงหน้ารวม 4 ฉบับ การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ดังกล่าวมีพฤติการณ์ส่อไปในทางสุจริต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อมาจำเลยที่ 3 ได้นำโฉนดที่ดินซึ่งรับซื้อไว้ดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด จำเลยที่ 4 ในราคา 1,500,000 บาท ต่อมาวันที่ 24 พฤศจิกาายน 2519 โจทก์ได้มาติดต่อที่สำนักงานที่ดินเขตพระโขนงเพื่อตรวจสอบเรื่องราวและขออายัดที่ดินของโจทก์ทั้งสามแปลงดังกล่าวไว้ เจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครได้สั่งให้โจทก์ฟ้องคดีภายในกำหนด 60 วัน โจทก์มอบให้ทนายโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยที่ 3 ทราบว่าที่ดินยังเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์อยู่ ให้จำเลยที่ 3 รื้อรั้งวและขนย้ายทรัพย์สินบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ แต่จำเลยที่ 3 ไม่ยอมออกจากที่ดินของโจทก์ ขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนใบแทนโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับ เพิกถอนหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทฉบับลงวันที่ 22 มิถุนายน 2519 แลสัญญาจำนองที่ดินเป็นประกันรวมสามโฉนดระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เสีย กับขอให้บังคับจำเลยที่ 3 และบริวารขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินของโจทก์

จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้การว่า นายคณิสสรบุตรโจทก์ไปแจ้งความ ว่าทรัพย์ที่กล่าาวตามฟ้องหาย ร้อยตำรวจตรีเชวงชัยจึงรับแจ้งความไว้การที่นายธรรมเนียมรับรองใบมอบอำนาจตามฟ้องให้เพราะโจทก์แสดงความจำนงค์อย่างนั้น ที่เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการออกใบแทนโฉนดตลอดจนทำนิติกรรมตามฟ้องเพราะเชื่อถือหนังสือมอบอำนาจเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตถูกต้องตามระเบียบราชการ และตัดฟ้องว่า การปฏิบัติเกี่ยวกับการออกใบแทนโฉนดที่ดิน การซื้อขายและจำนองที่ดินดังกล่าวเป็นการกระทำซึ่งอยู่ในอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 ไม่ได้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของจำเลยที่ 1 หรือจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 และที่ 2 มิได้กระทำการนั้นจึงไม่ได้โต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2

จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ได้รับซื้อที่ดินของโจทก์ไว้โดยสุจริตตั้งได้จดทะเบียนสิทธิต่อเจ้าเจ้าพนักงานที่ดินโดยสุจริต และได้เสียค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินถึง 1,751,600 บาท อันเป็นราคาที่ซื้อขายกันอย่างสูงในท้องตลาด ทั้งเชื่อโดยสุจริตว่าผู้โอนเป็นผู้รับมอบอำนาจจากโจทก์โดยแท้จริง โจทก์เองเป็นฝ่ายกระทำการไม่สุจริตกล่าาวคือ โจทก์ไปดำเนินการแจ้งความเรื่องโฉนดหาย ขอออกใบแทนโฉนด ทำใบมอบอำนาจ และปล่อยที่ดินให้เป็นที่รกร้างว่างเปล่า และก่อนที่จำเลยที่ 3 จะซื้อขายก็ได้ให้ช่างรังวัดไปรังวัดสอบเขต ผู้อ้างว่าเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ ผู้ชี้เขตก็รู้หลักเขตที่ดินของโจทก์อย่างแน่นอน ถ้าหากโจทก์ไม่รู้เห็นร่วมด้วยก็ไม่อาจทราบได้เป็นอย่างดีเช่นนั้น การกระทำของโจทก์เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ขอให้ยกฟ้อง

จำเลยที่ 4 ให้การว่า จำเลยที่ 4 ได้รับจำนองที่ดินพิพาทรวมสามโฉนดจากจำเลยที่ 3 เป็นเงิน 1,500,000 บาท โดยทราบว่าโจทก์ได้โอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 3 แล้ว และจำเลยที่ 3 ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินตลอดมา เหตุที่เกิดขึ้นก็เพราะความไม่สุจริตของโจทก์เพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีเหตุที่จะเพิกถอนนิติกรรมได้ ขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ลตามฟ้องและทางพิจารณาไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกระทำการอันใดอันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ เจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ก็ไม่ใช่ลูกจ้างหรือตัวแทนของจำเลยทั้งสอง แม้การกระทำของเจ้าพนักงานที่ดินจะเป็นการละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองได้ และฟังว่าใบมอบอำนาจให้ขอออกใบแทนโฉนดตลอดจนใบมอบอำนาจให้ขายที่ดินที่มีบุคคลนำไปยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นใบมอบอำนาจปลอม โจทก์และจำเลยที่ 3 ต่างก็เป็นผู้สุจริตด้วยกัน การที่จำเลยที่ 3 รับโอนที่พิพาทจากผู้ไม่มีอำนาจเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 เอง จำเลยที่ 3 ไม่ได้กรรมสิทธิ์และไม่มีอำนาจนำที่พิพาทไปทำนิติกรรมจำนองกับจำเลยที่ 4 แม้จำเลยที่ 4 จะกระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน จำเลยที่ 4 ก็ไม่ได้สิทธิตามสัญญาจำนอง พิพากษาว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 12910, 12911 และ 12912 ซอยนภาศัพท์ แขวงคลองตันเขตพระโขนง กรุงเทพมหานครเป็นของโจทก์ ให้เพิกถอนสัญญาซื้อขายที่ดินโฉนดดังกล่าวที่จำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อ และเพิกถอนสัญญาจำนองที่ดินโฉนดเหล่านั้นระหว่างจำเลยที่ 3 กับจำเลยที่ 4 เสีย ใบแทนโฉนดที่ดินเลขที่ 12910, 12911 และ 12912 ให้เพิกถอนด้วยให้ขับไล่จำเลยที่ 3 และบริวารออกจากที่พิพาท ห้ามเข้ามาเกี่ยวข้องกับที่พิพาทอีกต่อไป ฟ้องโจทก์นอกจากที่กล่าวให้ยก ให้โจทก์ชำระค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 2,000 บาท แทนจำเลยที่ 1 ที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียม นอกจากนี้ให้เป็นพับ

จำเลยที่ 3 อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ 5,000 บาท

จำเลยที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2519 โจทก์ทราบว่ามีผู้นำรถแทรกเตอร์กำลังไถอยู่ สอบถามคนขับได้ความว่า จำเลยที่ 3 เป็นผู้ซื้อที่พิพาทไว้แล้วโจทก์ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 3 มาก่อนและไม่เคยติดต่อกับจำเลยที่ 3 เลย จึงนำความไปปรึกษากับเรือโทภุมรินทร์ ภูสุวรรณ ทนายโจทก์ วันที่ 24 พฤศจิกายน 2519 โจทก์ได้ไปยื่นคำร้องขออายัดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินเขตพระโขนงตามเอกสารหมาย จ.5 และขอถ่ายเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้มาให้ทนายโจทก์ดู ต่อจากนั้นโจทก์ได้ไปขอคัดสำเนาแจ้งความของบุคคลที่อ้างชื่อว่าเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ บุตรโจทก์ที่สถานีตำรวจนครบาลบุบผารามปรากฏตามเอกสารหมาย จ.6 และได้ไปขอคัดใบแทนสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาหนังสือมอบอำนาจที่เขตบางรัก เรื่องจึงปรากฏว่ามีผู้แอบอ้างเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบุบผาราม เมื่อวันที่ 22 เมษายน2519 ว่า ได้ทำโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับพร้อมทั้งสำเนาทะเบียนบ้านของโจทก์ทีสี่แยกบ้านแขก เมื่อเจ้าพนักงานรับแจ้งความแล้ว ได้ออกแบบเรื่องราวขออนุญาตต่าง ๆ ให้ 2 ฉบับ ฉบับหนึ่งสำหรับนำไปยื่นที่เขตบางรักเพื่อขอออกสำเนาใบแทนทะเบียนบ้าน ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.8 และอีกฉบับหนึ่งสำหรับนำไปยื่นที่สำนักงานที่ดินเขตพระโขนงเพื่อแสดงว่าเจ้าพนักงานได้รับแจ้งความไว้แล้วว่าโฉนดที่ดินพิพาททั้งสามฉบับสูญหาย ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ,7 ต่อมาโจทก์ทราบจากพันตำรวจตรีชัจจ์ กุลดิลก สารวัตรสอบสวนกองปราบปรามสามยอด ซึ่งเป็นผู้สืบสวนสอบสวนเรื่องนี้ตามที่โจทก์ได้ไปร้องทุกข์ไว้ที่กองปราบปรามเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน2519 ว่าผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ บุตรโจทก์นั้นคือนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล เมื่อนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ได้เอกสารหมาย จ.7 และ จ.8 มมาแล้วก็ได้ไปยื่นคำร้องขอออกใบแแทนสำเนาทะเบียนบ้านเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2519 โดยปลอมลายมือชื่อโจกท์ว่าเป็นผู้อื่นดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.11 ทางเขตบางรักได้ออกใบแทนสำเนาทะเบียนบ้านตามเอกสารหมาย จ.12 ให้แก่นายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุลไป สำหรับสำเนาทะเบียนบ้านตัวจริงนั้นยังคงอยู่ที่โจทก์ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 เมื่อนายมานพเจนแพทย์วัฒนกุล ได้ใบแทนสำเนาทะเบียนบ้านแล้วก็ได้คำร้องขอให้รับรองหนังสือมอบอำนาจเรื่องขอออกใบแทนโฉนดที่พิพาททั้งสามโฉนดในวันเดียวกันนั้น ดังปรากฏตามคำร้องเอกสารหมาย จ.14 นายธรรมเนียม เปลี่ยนสีห์ เจ้าพนักงานปกครอง 3 ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตบางรักเป็นผู้รับรองให้ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.15 ต่อจากนั้นนายมานพ เจนแพพทย์วัฒนกุลได้ไปยื่นเรื่องราวขอออกใบแทนโฉนดที่สำนักงานที่ดิน กรุงเทพมหานครเขตพระโขนง ตามเอกสารหมาย จ.16 แต่หนังสือมอบอำนาจที่นายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล นำไปแสดงนั้นเป็นหนังสือมอบอำนาจที่ทำปลอมขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่งดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.17 นายบุญส่ง นันทวานิช หัวหน้าหมวดใบแทนโฉนดและมรดกเป็นผู้ตรวจสอบกับสารบบ แล้วบันทึกเสนอเจ้าพนักงานที่ดินเขตพระโขนงเมื่อวันที่ 26 เมษายน 2519 ว่าควรดำเนินการให้และเป็นผู้สอบสวนปากคำพยานนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ซึ่งอ้างว่าเป็นนายคณิสสร วิรยศิริ กับสอบนายสมชาาย นิยมกุล และนายปรีชา ชัยพรหมประสิทธิ์เป็นพยาน แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีการถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนของนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ไว้ด้วย ต่อมานายวิชัย อินทจินดา หัวหน้าสำนักงานที่ดินเขตพระโขนงได้เสนอต่อเจ้าพนักงานที่ดินกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2519 ว่า เห็นสมควรออกใบแทนโฉนดให้ เมื่อรองอธิบดีกรมที่ดินได้ลงนามในใบแทนโฉนดแล้วก็ได้มอบใบแทนโฉนดให้แก่นายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ไปในวันที่ 7 มิถุนายน 2519 ต่อจากนั้นนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุลได้ไปทำหนังสือมอบอำนาจให้ขายที่ดินพิพาททั้งสามโฉนดนี้ที่เขตบางรัก โดยระบุว่าโจทก์เป็นผู้มอบ นายคณิสสร วิรยศิริ เป็นผู้รับมอบอำนาจ นายธรรมเนียม เปลี่ยนสีห์ เจ้าพนักงานปกครอง 3 ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตบางรักเป็นผู้ลงลายมือชื่อรับรองหนังสือมอบอำนาจ ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.34 และ จ.35โดยโจทก์และคณิสสร วิรยศิริ บุตรโจทก์ไม่มีส่วนรู้เห็นเกี่ยวข้องด้วยแต่อย่างใด ต่อจากนั้นนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ได้ไปยื่นเรื่องราวขอขาายที่ดินทั้งสามโฉนดที่สำนักงานที่ดินเขตพระโขนง เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2519 ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.36 ในการยื่นเรื่องราวครั้งนี้ได้ใช้หนังสือมอบอำนาจที่ทำปลอมขึ้นใหม่อีก 2 ฉบับดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.37 และ จ.38 และไม่มีการถ่ายภาพ บัตรประจำตัวประชาชนของนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ไว้ในสารบบคงถ่ายไว้แต่ของผู้ซื้อ (จำเลยที่ 3) ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.41 และได้มีการทำหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินกันดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.42 เมื่อจำเลยที่ 3 ซื้อที่ดินจากนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล แล้วได้นำไปจำนองกับธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัดจำเลยที่ 4 เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2519 เป็นจำนวนเงิน 1,500,000 บาทดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.47 ถึง จ.50 ต่อมาวันที่ 14 มกราคม 2520 พันตำรวจตรีชัจจ์ กุลดิลก จับตัวนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุลได้ นายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ให้การรับสารภาพว่าได้กระทำผิดเรื่องนี้ ร่วมกับนายอ้วนและนายชัย และว่าไม่รู้จักโจทก์และนายคณิสสรวิรยศิริ บุตรโจทก์มาก่อน ดังปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย จ.62 ในวันไปจับกุมตัวนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล นั้น จำเลยที่ 3 ร่วมไปกับเจ้าพนักงานตำรวจด้วย และเป็นผู้ชี้ตัวนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ว่าเป็นผู้ขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ 3 โดยใช้ชื่อนายคณิสสร วิรยศิริ ในบันทึกการจับกุมนั้น จำเลยที่ 3 ได้ลงชื่อไว้ด้วย ดังปรากฏตามเอกสารหมาย จ.63 ต่อมาในระหว่างประกันตัวนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ได้ไปถึงแก่กรรมที่จังหวัดเชียงใหม่

จำเลยที่ 3 นำสืบว่า จำเลยที่ 3 ซื้อที่พิพาทในคดีนี้ไว้โดยสุจริต จำเลยที่ 3 เชื่อว่าโจทก์มอบอำนาจให้นายคณิสสร วิรยศิริ ขายที่พิพาทแทนโจทก์ จำเลยที่ 3 มาทราบความจริงว่านายคณิสสร วิรยศิริ ตามที่จำเลยที่ 3 เข้าใจแท้จริงคือนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ก็เมื่อพันตำรวจตรีชัจจ์ กุลดิลก นำจำเลยที่ 3 ไปจับกุมนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ดำเนินคดีในข้อหาแจ้งความเท็จ ฉ้อโกง และร่วมกับพวกปลอมเอกสารราชการ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 3 ไปติดต่อกับเจ้าพนักงานที่ดินที่กรมที่ดินและที่เขตบางรัก จึงทราบว่าใบมอบอำนาจในการขออกใบแทนโฉนดและในการโอนขายที่ดินเป็นใบมอบอำนาจ การปลอมใบมอบอำนาจดังกล่าวโจทก์มีส่วนรู้เห็นเพราะถ้าไม่ใช้เจ้าของที่พิพาทก็ไม่อาจทราบเลขที่โฉนดได้

จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นในการทำปลอมใบมอบอำนาจหมาย จ.17 กับ จ.37 และ จ.38 ขึ้นด้วย โจทก์จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีสิทธิมาฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่จำเลยที่ 3 กระทำโดยสุจริตได้ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 3 ไม่มีพยานหลักฐานนำสืบสนับสนุนให้เห็นว่าโจทก์ได้มีส่วนร่วมรู้เห็นในการทำปลอมใบมอบอำนาจดังจำเลยที่ 3 กล่าวอ้างแต่ประการใด ขัดที่จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า โจทก์เป็นผู้ไปทำหนังสือมอำนาจตามเอกสารหมาย จ.15 กับ จ.34 และ จ.35 ณ ที่ทำการเขตบางรักเองตามที่นายธรรมเนียม เปลี่ยนสีห์ พยานโจทก์เบิกความยืนยัน แต่โจทก์ไม่นำไปใช้กลับทำหนังสือมอบอำนาจปลอมขึ้นใหม่ แล้วนำไปใช้จึงเป็นข้อพิรุธของโจทก์ประการหนึ่งนั้น เห็นว่า ตามพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังได้ว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.15 กับ จ.34 และ จ.35 เป็นเอกสารปลอมเช่นเดียวกัน ถึงแม้นายธรรมเนียมเปลี่ยนสีห์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานปกครอง 3 ปฏิบัติราชการแทนหัวหน้าเขตบางรักผู้ลงนามรับรองลายมือชื่อโจทก์ในหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวเบิกความว่า โจทก์เป็นผู้ไปติดต่อกับพยานด้วยตนเองก็ตาม แต่คำเบิกความของพยานโจทก์ปากนี้ไม่น่าเชื่อถือเพราะโจทก์ปากนี้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวอยู่ด้วย จึงต้องยืนยันเช่นนั้นเพื่อป้องกันตนเองให้พ้นผิด ทั้งปรากฏว่าลายมือชื่อโจทก์ในเอกสารหมาย จ.15 ซึ่งพยานรับรองคราวก่อนเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2519 กับลายมือชื่อโจทก์ในเอกสารหมาย จ.34 และจ.35 ซึ่งพยานรับรองคราวหลังเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2519 แตกต่างกันมากอย่างเห็นได้ชัด แต่พยานยังรับรองให้อีก นอกจากที่กล่าวโจทก์ยังมีพยานบุคคลและพยานเอกสารมาสืบแสดงให้เห็นได้ว่าในวันที่ 23 เมษายน 2519 นั้น โจทก์ไปประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยง แล้วยังไปรับประทานอาหารกับนายอำนาจ สพันธุวงศ์ บุตรเขยและครอบครัวอีก ไม่ได้ไปยังที่ทำการเขตบางรักเลย ดังปรากฏจากคำเบิกความของนายอำนาจ สหพันธุวงศ์ นายพีทรัพย์ สรรวิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรการฯ ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด และหลักฐานรายการการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้นครั้งที่ 64 ของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ตามเอกสารหมาย จ.66 กับหนังสือพิมพ์ “ศานต์สยาม” ซึ่งลงข่าวเรื่องโจทก์แสดงความคิดเห็นในที่ประชุมตามเอกสารหมาย จ.69 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า หนังสือมอบอำนาจตามเอกสารหมาย จ.15 , จ.34 และ จ.35 เป็นเอกสารปลอมเช่นกัน ที่นายธรรมเนียมเปลี่ยนสีห์ พยานโจทก์เบิกความเป็นปรปักษ์แก่โจทก์นั้นจึงหาได้เป็นข้อพิรุธของโจทก์แต่ประการใดไม่ ส่วนเหตุผลอื่น ๆ ที่จำเลยที่ 3 ยกขึ้นอ้างในฎีกาล้วนแต่เป็นเหตุผลที่เลื่อนลอยรับฟังเป็นข้อพิรุธแก่โจทก์ไม่ได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้ตามคำให้การของนายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ในเอกสารหมาย จ.62 ซึ่งโจทก์ได้นำพันตำรวจตรีชัจจ์ กุลดิลก ผู้ทำการสอบอสวนมมาเบิกความประกอบ ก็ได้ความว่านายมานพ เจนแพทย์วัฒนกุล ไม่เคยรู้จักกับโจทก์และนายคณิสสร วิริยศิริบุตรโจทก์มาก่อนแต่อย่างใด ยิ่งเมื่อได้พิจารณาถึงประวัติและฐานะความเป็นอยู่ของโจทก์ด้วยแล้ว ซึ่งปรากฏว่าโจทก์อายุถึง70 ปี เป็นข้าราชการบำนาญของการรถไฟแห่งประเทศไทย มีตำแหน่งครั้งสุดท้ายเป็นหัวหน้าสำนักงานคลังและพัสดุ และเป็นผู้มีฐานะดีมีที่ดินติดต่อกับที่ดินที่พิพาทซึ่งรวมกันแล้วถึง 15 โฉนด เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด ในนามตัวเองและบุตร ทั้งมีบุตรเพียง2 คน บุตรสาวเป็นภริยาของนายอำนาจ สพันธุวงศ์ ซึ่งรับราชการในตำแหน่งอาจารย์ 6 ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนนายคณิสสรวิรยศิริ บุตรชายยังไม่มีภริยาโดยอาศัยอยู่กับโจทก์ก็จบการศึกษาชั้นปริญญาตรีจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทำงานเป็นสมุห์บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสุรวงศ์ ก็ยิ่งไม่มีทางที่จะให้เชื่อได้ว่าโจทก์มีส่วนร่วมรู้เห็นในการทำปลอมหนังสือมอบอำนาจหมาย จ.17 กับ จ.37 และ จ.38 ดังที่จำเลยที่ 3 กล่าวอ้าง ศาลฎีกาจึงเห็นว่าข้ออ้างของจำเลยที่ 3 ที่ว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตรับฟังไม่ได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share