แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับนี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้คู่สัญญาย่อมไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ ฉะนั้น ตามข้อตกลงในกรมธรรม์ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้วก็ตาม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต
ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย และการที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ดังกล่าวไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ย่อมไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลง ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้อง เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น
กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ รวมถึง ป.วิ.พ. ด้วย ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ย่อยาว
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ
ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างผู้ร้องกับผู้คัดค้านทั้งสองให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า นางสาวอรภา บุตรของผู้ร้อง ขับรถจักรยานยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์บรรทุกและรถพ่วงที่นายไพโรจน์ เป็นผู้ขับ เป็นเหตุให้นางสาวอรภาถึงแก่ความตาย รถบรรทุกและรถพ่วงเอาประกันภัยภาคบังคับตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 ไว้กับผู้คัดค้านที่ 1 และเอาประกันภัยภาคสมัครใจประกันภัยค้ำจุนไว้กับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้ร้องฟ้องคดีอาญานายไพโรจน์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ว่ากระทำความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา แล้วผู้ร้องฟ้องคดีแพ่งนายไพโรจน์ต่อศาลแขวงพระนครใต้ เรื่องละเมิด เรียกค่าเสียหาย คดีอยู่ระหว่างการพิจารณา ต่อมาผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยให้บังคับผู้คัดค้านที่ 1 ชดใช้ค่าเสียหายแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสนอข้อพิพาทเป็นเงิน 400,000 บาท ให้ผู้คัดค้านที่ 2 ชดใช้เป็นเงิน 600,000 บาท รวม 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันเสนอข้อพิพาทจนกว่าจะชำระเสร็จแก่ผู้เสนอข้อพิพาท ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ต่างยื่นคำคัดค้าน และยื่นคำร้องขอให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายในประเด็นว่า คำเสนอข้อพิพาทขาดอายุความหรือไม่ และขอระงับคำเสนอข้อพิพาทไว้ชั่วคราว ผู้ร้องยื่นคำคัดค้าน อนุญาโตตุลาการมีคำชี้ขาดว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสนอข้อพิพาทใช้สิทธิทางศาลฟ้องคดีแพ่งนายไพโรจน์ผู้ขับ และขณะเดียวกันก็ใช้ข้อผูกพันตามสัญญาประกันภัยเสนอข้อพิพาทเรียกร้องให้ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประกันวินาศภัยต้องรับผิดตามสัญญาในเรื่องเดียวกันด้วย เป็นการใช้สิทธิสองทางเพื่อประโยชน์จากความเสียหายและวินาศภัยอันเดียวกัน ทั้งที่ชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนจากมูลหนี้ทางใดทางหนึ่งเพียงเท่ากับจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต และชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า คำเสนอข้อพิพาทของผู้ร้องขาดอายุความเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนซึ่งมีกำหนด 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง แล้ว ให้ยกคำเสนอข้อพิพาท ให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสนอข้อพิพาทชำระค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกี่ยวกับการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการ
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของผู้ร้องว่า การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยนั้นจะเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งต้องเพิกถอนคำชี้ขาดนั้นหรือไม่ เห็นว่า ในประเด็นว่า ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสนอข้อพิพาทใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการโดยไม่สุจริตหรือไม่ ปรากฏข้อตกลงในเงื่อนไขและความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 16 และในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ข้อ 10 ว่าด้วยการระงับข้อพิพาทเหมือนกันว่า “ในกรณีที่มีข้อพิพาท ข้อขัดแย้ง หรือข้อเรียกร้องใด ๆ ภายใต้กรมธรรม์ฉบับนี้ ระหว่างผู้มีสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยกับบริษัท และหากผู้มีสิทธิเรียกร้องประสงค์หรือเห็นควรยุติข้อพิพาทนั้นโดยวิธีการอนุญาโตตุลาการ บริษัทตกลงยินยอมและให้ทำการวินิจฉัยชี้ขาดโดยอนุญาโตตุลาการตามข้อบังคับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ” ซึ่งข้อตกลงตามกรมธรรม์ประกันภัย 2 ฉบับ นี้เป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการที่ผู้รับประกันภัยค้ำจุนทำกับผู้เอาประกันภัยให้สิทธิผู้มีสิทธิเรียกร้องซึ่งก็คือ ผู้เอาประกันภัย หรือบุคคลผู้ต้องเสียหายจากวินาศภัยมีสิทธิใช้วิธีอนุญาโตตุลาการระงับข้อพิพาทได้ถ้าประสงค์หรือเห็นควร เมื่อผู้ร้องที่เป็นผู้ประสบภัยจากรถและเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเรียกร้องประสงค์หรือเห็นควรใช้สิทธิตามข้อสัญญานี้ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นบริษัทผู้รับประกันภัยก็ต้องตกลงยินยอม ซึ่งผู้คัดค้านทั้งสองก็ได้ยอมรับโดยทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ และหนังสือตั้งอนุญาโตตุลาการ ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 จึงจะยกขึ้นอ้างในรายงานการพิจารณาของอนุญาโตตุลาการ ครั้งที่ 1/2560 ไม่ได้ว่าผู้ร้องต้องเลือกใช้สิทธิทางใดทางหนึ่ง จนเป็นผลให้อนุญาโตตุลาการชี้ขาดว่าผู้ร้องใช้สิทธิไม่สุจริตเพราะได้ยื่นฟ้องคดีแพ่งเรื่อง ละเมิด เรียกค่าสินไหมทดแทนจากนายไพโรจน์ผู้ขับรถคันที่ตนต่างรับประกันภัยไปแล้ว กรณีย่อมแตกต่างจากการที่คู่สัญญาอนุญาโตตุลาการตกลงกันไว้ในสัญญาอนุญาโตตุลาการว่าหากเกิดข้อพิพาทระหว่างกันให้ระงับข้อพิพาทนั้นโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ ซึ่งหากมีข้อตกลงนี้ ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดฟ้องคดีต่อศาลโดยมิได้เสนอข้อพิพาทนั้นต่อคณะอนุญาโตตุลาการตามสัญญา คู่สัญญาฝ่ายที่ถูกฟ้องอาจยื่นคำร้องต่อศาล (ภายในระยะเวลายื่นคำให้การ) ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเพื่อให้คู่สัญญาไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการได้ ทั้งนี้ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 14 ซึ่งในกรณีเช่นนี้คู่สัญญาไม่อาจใช้สิทธิทางศาลได้ เพราะข้อสัญญาอนุญาโตตุลาการบังคับให้ต้องใช้วิธีอนุญาโตตุลาการเพียงทางเดียว ฉะนั้น ผู้ร้องจึงอาจเลือกใช้วิธีอนุญาโตตุลาการยื่นคำเสนอข้อพิพาทตามสัญญาประกันภัยระหว่างตนกับผู้คัดค้านที่ 1 ผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และกับผู้คัดค้านที่ 2 ผู้รับประกันภัยค้ำจุนต่ออนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการดังกล่าวได้ แม้ตนจะยื่นฟ้องคดีแพ่งนายไพโรจน์ผู้ขับรถคันที่เอาประกันภัยไว้กับผู้คัดค้านทั้งสองเรียกร้องให้รับผิดทางละเมิดแล้ว เพียงแต่ตามกฎหมายแพ่งว่าด้วยประกันภัยผู้คัดค้านทั้งสองซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยต้องรับผิดต่อเมื่อรถคันที่เอาประกันภัยเป็นฝ่ายผิด ซึ่งเมื่อผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ประสบภัย ผู้เสียหาย และผู้ที่ต้องเสียหายฟ้องคดีอาญาและคดีแพ่งนายไพโรจน์ผู้ขับรถต่อศาล อนุญาโตตุลาการก็ควรรอฟังก่อนว่าศาลตัดสินว่าผู้ขับเป็นฝ่ายผิดเป็นฝ่ายประมาทหรือประมาทเลินเล่อหรือไม่ แล้วจึงพิจารณาเรื่องค่าสินไหมทดแทนต่อไป ซึ่งการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนที่ผู้ร้องจะได้รับก็ต้องไม่เกินกว่าความเสียหายจำนวนตามความเป็นจริง หากนายไพโรจน์ผู้ขับต้องรับผิดชดใช้ไปจำนวนเท่าใดที่ไม่เกินวงเงินประกันภัย ผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ก็ต้องร่วมรับผิดจ่ายจำนวนนั้นและจ่ายส่วนที่เหลือจนครบวงเงินประกันภัยตามกฎหมายแพ่งว่าด้วยลูกหนี้ร่วม การใช้สิทธิยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการของผู้ร้องจึงไม่เป็นการใช้สิทธิไม่สุจริต อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังขึ้น
สำหรับประเด็นว่า การยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการขาดอายุความ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง แล้วหรือไม่ เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ประสบภัยจากรถ และเป็นบุคคลผู้ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุน ยื่นคำเสนอข้อพิพาทต่ออนุญาโตตุลาการเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ และผู้คัดค้านที่ 2 ซึ่งเป็นผู้รับประกันภัยตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนเป็นการเรียกจากผู้รับประกันภัยตรงตามกฎหมาย ซึ่งมีลักษณะทำนองเดียวกับการที่เจ้าหนี้ฟ้องคดีให้ศาลเป็นผู้พิจารณาชี้ขาดข้อพิพาท จึงต้องเรียกภายใน 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 882 วรรคหนึ่ง การใช้สิทธิทางศาลยื่นฟ้องคดีอาญานายไพโรจน์ว่ากระทำความผิดฐานกระทำการขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย ผู้เสียหายที่มีสิทธิฟ้องคดีอาญาฐานดังกล่าวคือ ผู้ร้อง และการฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งจากการกระทำละเมิดของนายไพโรจน์ให้บุตรของผู้ร้องตาย ผู้มีสิทธิฟ้องก็คือ ผู้ร้อง ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนเดียวกัน จึงเป็นคู่ความเดียวกัน การที่ผู้ร้องฟ้องคดีแพ่งนายไพโรจน์เรียกค่าเสียหายทางละเมิดจึงเป็นการฟ้องคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังกล่าว แต่การที่ผู้ร้องยื่นคำเสนอข้อพิพาทเรียกค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ผู้รับประกันภัยเป็นมูลหนี้ตามสัญญาประกันภัยนั้นไม่เกี่ยวข้องหรือเกี่ยวเนื่องกับการกระทำความผิดอาญาของนายไพโรจน์ แม้ความรับผิดตามสัญญาประกันภัยของผู้รับประกันภัยจะเกิดขึ้นต่อเมื่อผู้เอาประกันภัยจะต้องรับผิดชอบวินาศภัยนั้น แต่ก็เป็นเพราะกฎหมายแพ่งว่าด้วยประกันภัยและมีข้อตกลงในสัญญาประกันภัยกำหนดให้เป็นเงื่อนไขความรับผิดของผู้รับประกันภัยต่อผู้เอาประกันภัยและผู้ที่ต้องเสียหาย ผู้รับประกันภัยมิได้เป็นโจทก์หรือผู้เสียหายในคดีอาญานั้นด้วย จึงมิได้เป็นคู่ความเดียวกัน ดังนั้น การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเสนอข้อพิพาทเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 จึงไม่เป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ไม่ทำให้อายุความเรียกร้องทางแพ่งหรือฟ้องคดีแพ่งสะดุดหยุดลงตามมาตรา 95 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ทั้งนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 51 วรรคสอง และการเริ่มนับอายุความ 2 ปี นับแต่วันวินาศภัย ซึ่งวันวินาศภัยก็คือวันเกิดเหตุรถเฉี่ยวชนเป็นเหตุให้บุตรของผู้ร้องถึงแก่ความตาย หาใช่วันที่ยื่นฟ้องคดีแพ่งเพราะเป็นวันที่มีการคำนวณค่าเสียหายเพื่อเรียกร้องแล้วดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ไม่ ทั้งก็ไม่ได้มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำละเมิด เพราะเหตุผู้คัดค้านทั้งสองเป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนซึ่งรับค้ำจุนในบรรดาหนี้ทั้งปวงที่มีต่อผู้เสียหายซึ่งก็คือผู้ร้องดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ เนื่องจากแม้มีลักษณะเป็นลูกหนี้ร่วมกัน แต่กำหนดอายุความหรือการที่อายุความสะดุดหยุดลงย่อมเป็นไปเพื่อคุณและโทษแต่เฉพาะแก่ลูกหนี้คนนั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 295 การที่บริษัทผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ผู้รับประกันภัยจะรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้ประสบภัยจากรถผู้ที่ต้องเสียหายตามสัญญาประกันภัยค้ำจุนหรือไม่ ย่อมเป็นไปตามสัญญาประกันภัยและบทบัญญัติของกฎหมายแพ่งว่าด้วยประกันภัยที่เกี่ยวข้อง หาใช่เป็นไปตามคำสั่งนายทะเบียนของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์ไม่ ผู้ร้องจึงไม่อาจกล่าวอ้างว่าการที่บริษัทผู้รับประกันภัยยกอายุความขึ้นต่อสู้ว่าคดีขาดอายุความแล้ว ถือเป็นการที่บริษัทใช้สิทธิโดยไม่สุจริต
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า อนุญาโตตุลาการดำเนินการพิจารณาไม่ชอบ ไม่เปิดโอกาสให้ซักถามในการสืบพยาน และวินิจฉัยชี้ขาดโดยอาศัยคำร้องขอให้วินิจฉัยชี้ขาดในปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งยังไม่ได้มีการทำสัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการ และยังไม่ได้ตกลงกันว่าจะใช้กฎหมายใดในการพิจารณาคดีเพราะต้องตกลงกันก่อนว่าจะใช้กฎหมายใดในการพิจารณาคดี ซึ่งศาลชั้นต้นไม่ได้วินิจฉัยประเด็นนี้ทั้งที่ผู้ร้องได้ยกขึ้นกล่าวอ้างไว้แล้ว จึงเป็นการพิจารณาไม่ครบถ้วนทุกประเด็น เป็นการพิพากษาที่ไม่ชอบ นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 25 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้ตกลงกันหรือกฎหมายนี้มิได้บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น ให้คณะอนุญาโตตุลาการมีอำนาจดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร อำนาจของคณะอนุญาโตตุลาการนี้ให้รวมถึงอำนาจวินิจฉัยในเรื่องการรับฟังพยานหลักฐานและการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงด้วย” และมาตรา 34 วรรคสอง บัญญัติว่า “ในกรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดถึงกฎหมายที่จะนำมาใช้บังคับกับข้อพิพาทไว้ ให้คณะอนุญาโตตุลาการชี้ขาดข้อพิพาทไปตามกฎหมายไทย…” การอนุญาโตตุลาการของผู้ร้องคดีนี้ ผู้ร้องใช้สิทธิตามสัญญาอนุญาโตตุลาการซึ่งเป็นข้อสัญญาหนึ่งในสัญญาประกันภัยระหว่างผู้เอาประกันภัยความรับผิดของรถกับผู้รับประกันภัยคือผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ซึ่งเป็นสัญญาหลัก ตามเงื่อนไขและความคุ้มครองกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถและกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ และในชั้นอนุญาโตตุลาการผู้ร้องกับผู้คัดค้านที่ 1 ที่ 2 ก็มาทำหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการ กับทำหนังสือตั้งอนุญาโตตุลาการกันอีก ไม่ใช่ไม่ทำสัญญาตั้งอนุญาโตตุลาการกันดังที่ผู้ร้องอุทธรณ์
ส่วนที่ผู้ร้องอุทธรณ์ว่า การพิจารณาของอนุญาโตตุลาการไม่ชอบเพราะต้องตกลงกันก่อนว่าจะใช้กฎหมายใดในการพิจารณาข้อพิพาท แต่คู่พิพาทยังไม่ได้ตกลงกันนั้น เห็นว่า ตามมาตรา 34 วรรคสอง ดังกล่าว กรณีที่คู่พิพาทมิได้กำหนดกฎหมายที่จะใช้บังคับกับข้อพิพาท ก็ต้องใช้กฎหมายไทยบังคับ ซึ่งรวมถึงประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งด้วย อนุญาโตตุลาการจึงสามารถใช้การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามมาตรา 24 แห่งประมวลกฎหมายนี้ได้ ซึ่งก่อนมีคำวินิจฉัยชี้ขาดอนุญาโตตุลาการก็ให้โอกาสผู้ร้องยื่นคำคัดค้านคำร้องขอชี้ขาดเบื้องต้นนั้นแล้ว จากนั้นจึงสั่งงดการชี้สองสถานและปิดการพิจารณา ไม่นำสืบพยานหลักฐานและเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของผู้ร้องต่อไป ซึ่งก็สั่งเช่นนี้ได้เพราะเป็นการวินิจฉัยข้อกฎหมายไม่ต้องอาศัยข้อเท็จจริงอื่นจากพยานหลักฐานใดของทั้งสองฝ่ายมานำสืบอีก การพิจารณาดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการจึงเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ ได้ตามที่เห็นสมควรในอำนาจของตน เป็นการพิจารณาข้อพิพาทโดยชอบและปฏิบัติต่อผู้ร้องซึ่งเป็นคู่พิพาทอีกฝ่ายอย่างเท่าเทียมเสมอภาคกันกับฝ่ายผู้คัดค้าน และให้โอกาสผู้ร้องเสนอข้ออ้างข้อต่อสู้ของตนได้ตามพฤติการณ์แห่งข้อพิพาทแล้ว ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การยอมรับหรือการบังคับตามคำชี้ขาดดังกล่าวของอนุญาโตตุลาการไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงไม่มีสาเหตุที่จะเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 มาตรา 40 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม (2) (ข) อุทธรณ์ข้อนี้ของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้นชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ