แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การถอนผู้ชำระบัญชี โดยคำร้องขอของผู้ถือหุ้น โดยจำนวนทุนที่ส่งแล้วหนึ่งในยี่สิบของทุนของบริษัทนั้น ศาลจะสั่งถอนก็เมื่อมีเหตุอันสมควรถอน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า บริษัทไทยสามิตต์ จำกัด ได้จดทะเบียนแล้ว มีทุน2,000,000 บาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญ 2,000 หุ้น มีมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท ได้ลงเงินเต็มมูลค่าแล้วทุกหุ้น โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นไว้ 100 หุ้น ได้ลงเงินค่าหุ้นครบ 100,000 บาทแล้ว บริษัทไทยสามิตต์ จำกัด ได้จดทะเบียนเลิกบริษัท และตั้งนายวิเศษ จันทโรจน์วงศ์เป็นผู้ชำระบัญชีตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2496 แต่การชำระบัญชีไม่สำเร็จ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2497 ได้ถอนนายวิเศษออกจากผู้ชำระบัญชี และตั้งจำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีแทน แต่จำเลยมิได้มาทำกิจการตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามกฎหมายเลย เช่น มิได้ทำอย่างหนึ่งอย่างใดที่แสดงให้เห็นว่า การชำระบัญชีนั้นได้ดำเนินไปอย่างใดได้จัดการทรัพย์สินของบริษัทไปประการใดแล้วเพียงใด ไม่เคยทำงบดุลเลย มิได้ทำรายงานการชำระบัญชียื่นไว้ ณ หอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทซึ่งตามกฎหมายจะต้องยื่นทุกระยะ 3 เดือนและเป็นเวลาเกินกว่า 1 ปีแล้ว จากวันที่ได้รับแต่งตั้ง จำเลยมิได้เรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นได้รับความเสียหายมาก เป็นเวลา 9 ปี แล้วยังมิได้รับคืนทุนและแบ่งเงินปันผล ไม่ทราบว่าการชำระบัญชีจะเสร็จสิ้นลงได้เมื่อใด โจทก์ได้ขอร้องต่อผู้ถือหุ้นคนอื่น ๆ ตลอดจนกรรมการของบริษัทและผู้ชำระบัญชีแล้ว ขอให้จัดการเปลี่ยนตัวผู้ชำระบัญชี แต่ไม่มีผู้ใดยินยอม ขอให้พิพากษาถอนจำเลยออกจากตำแหน่งผู้ชำระบัญชี และตั้งนายเปลี่ยน ลีละศร ทนายความ กับหลวงปริวรรตวรวิจิตร ทนายความและผู้แทนราษฎร เป็นผู้ชำระบัญชีแทน
จำเลยให้การว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทไทยสามิตต์ จำกัด ดังที่โจทก์กล่าวฟ้องแต่อย่างใดเลย ไม่มีอำนาจฟ้องร้องถอดถอนผู้ชำระบัญชี และหรือตั้งบุคคลอื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนจำเลยได้ จำเลยได้กระทำการตามหน้าที่ผู้ชำระบัญชีแทนจำเลยได้ จำเลยได้กระทำการตามหน้าที่ผู้ชำระบัญชีตามกฎหมายตลอดมา แต่เนื่องจากบริษัทได้เลิกทำกิจการค้ามานานแล้ว จึงมาจัดการชำระกันก่อนจะจัดการจดทะเบียนเลิกบริษัท และจัดการชำระบัญชีกรรมการผู้จัดการได้ตายโดยปัจจุบันทันด่วน เอกสารและบัญชีต่าง ๆได้กระจัดกระจาย จำเป็นต้องค้นหา ไม่เป็นที่เสร็จเรียบร้อยไปโดยเร็วได้ และบรรดาผู้ถือหุ้นทั้งหมด ของบริษัทได้ลงมติเป็นเอกฉันท์ ให้จำเลยเป็นผู้ชำระบัญชีต่อไปจนเสร็จสิ้น
ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องขอเพิ่มเติมคำให้การ 2 ฉบับ คือลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2499 และลงวันที่ 10 กันยายน 2499 รวมความว่านับตั้งแต่จำเลย ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้ชำระบัญชีสืบต่อจากนายวิเศษ จันทโรจน์วงศ์ ซึ่งได้ลาออกไป จำเลยได้มาทำการตามหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีตามกฎหมาย ได้จัดการเรียกหาตัวเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทำรายงานการชำระบัญชีเสนอต่อกองหุ้นส่วนและบริษัทและเสนอต่อผู้ถือหุ้นของบริษัทให้ทราบเรื่อยมา และตัดฟ้องอีกว่าคดีโจทก์ขาดอายุความเนื่องจากระยะเวลาได้ผ่านมาเป็นเวลาร่วม 10 ปี ศาลแขวงพระนครใต้อนุญาตให้จำเลยเพิ่มเติมคำให้การ
ศาลแขวงพระนครใต้สืบพยานแล้ว เห็นว่าประเด็นข้อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทนี้หรือไม่ จำเลยนำสืบว่า โจทก์จองหุ้น แต่ไม่ใช้ค่าหุ้นนั้นได้ และพยานจำเลยน่าเชื่อถือว่าโจทก์ไม่เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนผู้ชำระบัญชี ส่วนประเด็นข้อจำเลยได้ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชำระบัญชีหรือไม่ ยังไม่สมควรถอดถอนผู้ชำระบัญชีในชั้นนี้พิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์เสียค่าธรรมเนียมและค่าทนาย 100 บาทแทนจำเลย
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า ที่จำเลยนำสืบว่าโจทก์จองหุ้นแล้วไม่ชำระค่าหุ้น จึงเอาชื่อโจทก์ออกจากผู้ถือหุ้น ไม่ใช่เป็นการนำสืบนอกประเด็นเชื่อว่าโจทก์ไม่ชำระค่าหุ้นที่จองไว้ และต่อมาภายหลังโจทก์มิได้เป็นผู้ถือหุ้นแล้ว เพราะเอกสาร จ.7 ซึ่งที่ประชุมบริษัทถือว่าเป็นบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่ถูกต้องนั้นไม่มีชื่อโจทก์ ฟังว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทตามฟ้อง อำนาจฟ้องของโจทก์ไม่มี ข้อว่าจำเลยไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ผู้ชำระบัญชี ไม่ต้องวินิจฉัยพิพากษายืน ให้ยกอุทธรณ์โจทก์ ให้โจทก์เสียค่าทนายความชั้นอุทธรณ์75 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังคู่ความแถลงการณ์และประชุมปรึกษาเห็นว่า ในข้อที่ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทไทยสามิตต์ จำกัด หรือไม่ โจทก์อ้างว่าโจทก์ถือหุ้น 100 หุ้น ได้ลงเงินเต็มมูลค่าหุ้นละ 1,000 บาทรวมเงิน 100,000 บาท ครบแล้ว จำเลยให้การปฏิเสธว่าโจทก์มิได้เป็นผู้ถือหุ้นแต่ประการใดเลย โจทก์มีหน้าที่ต้องนำสืบว่าโจทก์ได้เป็นผู้ถือหุ้นและหุ้นนี้ได้ชำระแล้วเท่าใด เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1257 ศาลจะสั่งถอนผู้ชำระบัญชีบริษัทจำกัดจากตำแหน่ง และตั้งผู้อื่นแทนได้ ก็ในเมื่อมีคำร้องขอของผู้ถือหุ้นในบริษัทมีหุ้นรวมกันนับได้ถึง 1 ใน 20 แห่งทุนของบริษัท โดยจำนวนที่ส่งใช้เงินเข้าทุนแล้วนั้นในชั้นนี้ไม่มีข้อโต้เถียง โจทก์ได้จองหุ้น 100 หุ้น จนได้เคยรับแต่งตั้งเป็นกรรมการของบริษัทไทยสามิตต์ จำกัด ซึ่งตามข้อบังคับของบริษัทนี้ผู้จะเป็นกรรมการได้ ต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 10 หุ้น พยานหลักฐานโจทก์นอกจากตัวโจทก์ที่ว่า ได้ชำระค่าหุ้นเสร็จแล้ว มีเอกสารหมายจ.3 รายชื่อผู้เข้าชื่อซื้อหุ้นที่มาประชุมตั้งบริษัท หมาย จ.4 หนังสือขอจดทะเบียนบริษัทข้อ (4) มีข้อความรับรองว่า เงินค่าหุ้นสามัญที่ต้องลงเต็มค่าได้เรียกและรับแล้วหุ้นละ 1,000 บาท รวม 2,000 หุ้น เป็นเงิน 2,000,000 บาท และหมาย จ.5 ซึ่งหัวหน้ากรมทะเบียนการค้าออกให้ว่าได้รับจดทะเบียนไว้แล้ว มีข้อความว่าเงินค่าหุ้นได้รับแล้วหุ้นละ 1,000 บาท รวม 2,000,000 บาทเพียงเท่านี้ก็เป็นหลักฐานฟังได้ว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น และค่าหุ้นได้ชำระเต็มจำนวนแล้ว ถึงแม้บริษัทจะยังมิได้ออกใบหุ้นให้ ก็ไม่สำคัญ ต้องถือว่าโจทก์เป็นผู้ถือหุ้นตามกฎหมายแล้วส่วนเอกสารหมายจ.7, จ.10 และ ล.4 บัญชีผู้ถือหุ้นในปีต่อมาไม่มีชื่อโจทก์เป็นผู้ถือหุ้น ก็ไม่ปรากฏในรายงานประชุมหรือเอกสารอื่นใดว่าเอาชื่อโจทก์ออกจากผู้ถือหุ้นเพราะเหตุใด ตามที่นายวิเชียร นัยฤกษ์พยานจำเลยเบิกความว่า นายตันก๊กฮั้วกล่าวต่อที่ประชุมใหญ่ว่าโจทก์ไม่ชำระค่าหุ้นก็ไม่ได้จดไว้ในรายงานประชุม แลขัดต่อเอกสารที่ยื่นต่อหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท ส่วนตามเอกสารบัญชีผู้ถือหุ้นปีต่อมาหมาย จ.7 และ ล.4 เอาหุ้นเลขหมาย 701-800 ซึ่งโจทก์ว่าเป็นหุ้นของโจทก์ไปเพิ่มในชื่อนายส่าย แซ่จัง นั้น จะโอนไปเป็นของนายส่ายโดยประการใด ไม่มีหลักฐานและจำเลยหาได้นำนายส่ายมาเป็นพยานไม่ทั้งไม่ปรากฏว่าได้มีจดหมายบอกกล่าวโจทก์ ให้นำเงินค่าหุ้นมาชำระและมีการริบหุ้นเลขหมาย 701-800 จากโจทก์ถูกต้องตามกฎหมายบัญญัติไว้ประการใด โจทก์ก็เถียงว่า การกระทำลับหลังโจทก์ไม่ถูกต้องตามคำให้การของจำเลยต่อสู้ข้อเรื่องหุ้นว่า โจทก์มิได้เป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทตามฟ้องเลยทีเดียว มิได้ต่อสู้ว่าหุ้นของโจทก์ได้โอนหรือต้องตกไปเป็นของผู้อื่นแล้วแต่ประการใดศาลฎีกาเห็นว่า การที่เอาชื่อโจทก์ออกจากบัญชีผู้ถือหุ้นและเอาหุ้นลงเป็นของนายส่ายแทนโจทก์เฉย ๆ เป็นการไม่ถูกต้องตามกฎหมายสำหรับคดีควรถือว่าโจทก์ยังมีสิทธิในหุ้นเลขหมาย 701-800 อยู่ ที่ศาลล่างยกฟ้องโจทก์โดยอาศัยเหตุว่าโจทก์ไม่มีสิทธิเป็นผู้ถือหุ้นแล้ว นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เรื่องค่าหุ้นจำเลยนำสืบเพื่อให้เห็นไปในทำนองว่า กรรมการแจ้งการชำระค่าหุ้นครบถ้วนไปยังนายทะเบียนเมื่อตั้งบริษัทก็เพื่อการติดต่อขายฝิ่นต่อรัฐบาล จะได้ไม่ชักช้าและโจทก์ไม่ได้ชำระเงินค่าหุ้นเลย นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าชั้นนี้ไม่จำเป็นต้องชี้ขาด เพราะเวลาที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ หุ้นรายนี้ได้มีการชำระบัญชีเต็มมูลค่าแล้ว ใครจะเป็นคนชำระแก่บริษัทไม่สำคัญ เมื่อคดีนี้ถือว่าโจทก์ยังมีสิทธิตามกฎหมายในหุ้นเลขหมาย701-800 และรวมหุ้นได้ถึง 1 ใน 20 แห่งทุนของบริษัทโดยจำนวนที่ส่งใช้เข้าทุนแล้วนั้น โจทก์ก็มีอำนาจฟ้องได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1257
ส่วนประเด็นว่า จำเลยได้กระทำผิดหน้าที่ ควรที่ศาลจะสอดส่องเข้าถอดถอนจากหน้าที่ผู้ชำระบัญชี ตั้งผู้อื่นเป็นผู้ชำระบัญชีแทนตามฟ้องโจทก์หรือไม่ นั้น นอกจากการชำระบัญชียังไม่เสร็จและผู้ชำระบัญชียื่นรายงานการชำระบัญชีต่อหอทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทไม่ตรงตามระยะ 3 เดือน ที่กฎหมายบัญญัติแล้ว โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยทุจริตหรือกระทำผิดหน้าที่อย่างร้ายแรงประการใดจำเลยก็ให้เหตุผลการที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จเพราะบริษัทนี้เลิกดำเนินกิจการมาตั้งแต่ พ.ศ. 2491 เพิ่งมาประชุมเลิกบริษัทและตั้งผู้ชำระบัญชีคนแรกเมื่อเดือนธันวาคม 2496 ได้ล่าช้ามานานแล้วสมุดเอกสารหลักฐานของบริษัทกระจัดกระจายหายไป และจำเลยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ชำระบัญชีเมื่อเดือนตุลาคม 2497 ได้พยายามปฏิบัติหน้าที่อย่างดีที่สุดที่จะทำได้ และติดตามหาตัวลูกหนี้อยู่เคยปรึกษาหารือผู้ถือหุ้นใหญ่หลายครั้งทั้งได้เรียกประชุมใหญ่แต่ที่ประชุมใหญ่ให้รอการปิดการชำระบัญชี ให้จัดการเรื่องลูกหนี้ให้เป็นที่แน่นอนเสียก่อน ผู้แทนผู้ถือหุ้นใหญ่ก็มาเป็นพยานจำเลยว่ายังไม่สมควรถอนจำเลยจากผู้ชำระบัญชี ตั้งคนอื่นแทน ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จะถอนและตั้งผู้ชำระบัญชีแทนนั้น ไม่ใช่มีส่วนได้เสียแต่โจทก์หรือระหว่างโจทก์กับผู้ชำระบัญชีเท่านั้น และที่ประชุมใหญ่ก็มีอำนาจกระทำได้ ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้เสนอหรือแนะนำที่ประชุมใหญ่มาก่อนประการใด ยังไม่มีเหตุพอถึงกับศาลสมควรจะถอนจำเลยจากผู้ชำระบัญชี ตั้งผู้อื่นเป็นแทนในเวลานี้ เพราะจะทำให้การชำระบัญชีชงักชักช้าไปอีก
จึงพิพากษายืนในผลที่ให้ยกคำฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ