แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ในชั้นไต่สวนคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าพินัยกรรมที่ผู้ตายทำสมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งเท่ากับวินิจฉัยแล้วว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้จริงนั่นเอง เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขอใหม่อ้างว่าพินัยกรรมปลอม แม้จะอ้างว่ามีการตรวจพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญในภายหลังก็ตาม แต่ข้ออ้างดังกล่าวของผู้ร้องสามารถให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์และนำสืบได้ตั้งแต่ในชั้นที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในครั้งแรกได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องโดยอ้างว่าพินัยกรรมปลอมอีก ดังนี้ประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกันคือให้วินิจฉัยว่าผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ซ้ำอีก ซึ่งศาลชั้นต้นเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำร้องขอของผู้ร้องในชั้นนี้จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นนั้นอีก อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 144 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางสาวสลับ ผู้ตาย อ้างว่าผู้ร้องเป็นบุตรบุญธรรมของผู้ตาย ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่าผู้ตายทำพินัยกรรมตั้งสภากาชาดไทยเป็นผู้จัดการมรดก ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วมีคำสั่งตั้งสภากาชาดไทยเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย และให้ยกคำร้องขอของผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า กองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติตรวจพิสูจน์แล้วว่าลายมือชื่อผู้ทำพินัยกรรมที่ผู้คัดค้านอ้างไม่ใช่ลายมือชื่อของผู้ตาย เอกสารดังกล่าวจึงเป็นพินัยกรรมปลอม มีผลให้สภากาชาดไทยไม่ใช่ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตายและไม่อาจเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้ ผู้ร้องเป็นผู้มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ตามกฎหมาย ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งถอดถอนสภากาชาดไทยจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า ศาลวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นเรื่องพินัยกรรมแล้ว ในชั้นที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องอ้างเหตุเรื่องพินัยกรรมฉบับเดิมเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาเกี่ยวกับประเด็นที่วินิจฉัยชี้ขาดแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 144 วรรคหนึ่ง ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในการดำเนินกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนคำร้องขอที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายนั้น ผู้ร้องยื่นคำร้องขอว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมและไม่ได้ตั้งผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดกไว้ ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านว่า ผู้ตายได้ทำพินัยกรรมยกทรัพย์ส่วนหนึ่งให้แก่สภากาชาดไทย และตั้งให้สภากาชาดไทยเป็นผู้จัดการมรดกโดยผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้รับมรดกตามพินัยกรรมแต่อย่างใด คดีจึงมีประเด็นข้อพิพาทต้องวินิจฉัยด้วยว่า ผู้ตายทำพินัยกรรมไว้จริงหรือไม่ เมื่อศาลชั้นต้นชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานของผู้ร้องและผู้คัดค้านแล้ววินิจฉัยว่า พินัยกรรมที่ผู้ตายทำสมบูรณ์ตามกฎหมาย ซึ่งเท่ากับวินิจฉัยแล้วว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้จริงนั่นเอง เมื่อผู้ร้องมายื่นคำร้องขอใหม่อ้างว่าพินัยกรรมปลอม แม้จะอ้างว่ามีการตรวจพิสูจน์โดยผู้เชี่ยวชาญในภายหลังก็ตาม แต่ข้ออ้างดังกล่าวผู้ร้องสามารถให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจพิสูจน์และนำสืบได้ตั้งแต่ในชั้นที่ผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายในครั้งแรกได้อยู่แล้ว การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องขอนี้โดยอ้างว่าพินัยกรรมปลอมอีก ดังนี้ ประเด็นแห่งคดีทั้งสองเป็นประเด็นเดียวกันคือให้วินิจฉัยว่าผู้ตายทำพินัยกรรมหรือไม่ซ้ำอีก ซึ่งศาลชั้นต้นเคยวินิจฉัยชี้ขาดในประเด็นแห่งคดีก่อนไปแล้ว คำร้องขอของผู้ร้องในชั้นนี้จึงต้องห้ามมิให้ดำเนินกระบวนพิจารณาในศาลชั้นต้นนั้นอีก อันเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๔ วรรคหนึ่ง ผู้ร้องจึงไม่อาจยกเหตุผลตามคำร้องเพื่อขอให้ศาลถอดถอนสภากาชาดไทยจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายได้อีก ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษามานั้นชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ