คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526/2531

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำว่า “เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก” ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.728/2522ข้อ1(2)และคำสั่งกรมสรรพากรที่ท.4/2528ข้อ 3(2) มีความหมายว่าในกรณีผู้ซื้อซึ่งจดทะเบียนประกอบการค้าเป็นผู้ส่งออกมันสำปะหลัง ไม่ว่าเป็นหัวหรือจัดทำเป็นผง แป้ง เส้นก้อน แท่ง ฝอย ชิ้น เม็ด หรือจัดทำในลักษณะอื่น จะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ทุกครั้งที่จ่ายเงินได้พึงประเมินในอัตราร้อยละ0.75 ของยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในแต่ละครั้ง ไม่ว่าผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกนั้นจะได้ส่งออกสินค้าที่ซื้อไว้จริง ๆ หรือไม่ดังนั้นโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อจะได้จ่ายเงินซื้อแป้งมันสำปะหลังและมันเส้นให้แก่ผู้รับ จึงต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราดังกล่าว แม้โจทก์จะได้จำหน่ายแป้งมันและมันเส้นในประเทศโดยไม่ได้ส่งออกก็ตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ประเมินภาษีเงินได้แล้วสั่งให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และเรียกเงินเพิ่ม กับคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 3 ที่ 4 ที่ 5 ในฐานะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ไม่ชอบ เพราะนับแต่โจทก์เริ่มซื้อและขายผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังภายในประเทศเมื่อปี 2526 ยังไม่เคยส่งออกไปขายต่างประเทศเพิ่งส่งออกในปี 2528 และได้หักภาษี ณ ที่จ่าย นำส่งกรมสรรพากรถูกต้องแล้ว ขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ดังกล่าว จำเลยทั้งห้าให้การว่า การประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงได้ความว่า บริษัทโจทก์ประกอบกิจการค้าผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง รวมทั้งส่งสินค้าดังกล่าวไปจำหน่ายยังต่างประเทศด้วย โจทก์ได้จดทะเบียนเป็นบริษัทตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2519 และต่อมาปี พ.ศ. 2526 โจทก์ได้ขออนุญาตเป็นผู้ทำการค้าขาออกซึ่งสินค้ามาตรฐานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526และได้ต่อใบอนุญาตตลอดมาจนถึงปี พ.ศ. 2528 ปรากฏตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าขาออก ซึ่งสินค้ามาตรฐานเอกสารหมาย ล.1 ลำดับที่ 22 ในระยะเวลาดังกล่าว กรมสรรพากรได้มีคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.728/2522 ลงวันที่ 20 ธันวาคม 2522แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.872/2523 ลงวันที่ 21พฤษภาคม 2523 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 3 เตรสแห่งประมวลรัษฎากรและกฎกระทรวงฉบับที่ 144 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยยุคภาษีเงินได้สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่ง ประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 0.75 ของ ยอดเงินได้พึงประเมินที่จ่ายในแต่ละครั้งในกรณีเฉพาะผู้จ่ายเงิน และสำหรับการซื้อสินค้าตามข้อ 1(2)ได้แก่ มันสำปะหลังไม่ว่าเป็นหรือจัดทำเป็นผง แป้ง เส้น ก้อน แท่ง ฝอยชิ้น เม็ด หรือ จัดทำเป็นลักษณะอื่น เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกปรากฏตามเอกสารหมาย จ.2 แล้วต่อมาได้มีคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.4/2528ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจกฎหมายเดียวกัน ลงวันที่ 3 มกราคม 2528 ยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.728/2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.872/2523 ซึ่งกำหนดให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายโดยกำหนดเฉพาะผู้จ่ายและการซื้อสินค้าไว้ในข้อ 3(2) เหมือนกับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.728/2522 ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.3ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์คงมีเพียงว่า ในปีพ.ศ. 2526 การที่โจทก์ซื้อแป้งมันและซื้อมันเส้นเป็นเงิน977,389,049.25 บาท ในปี พ.ศ. 2527 โจทก์ซื้อแป้งมันและมันเส้นเป็นเงิน 1,039,480,558.56 บาท ในปี พ.ศ. 2528 คิดถึงเดือนกรกฎาคมโจทก์ซื้อแป้งมันและมันเส้นเป็นเงิน 573,468,083.02 บาทโดยโจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อได้จำหน่ายขายในประเทศ ไม่ได้ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ โจทก์จึงไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ร้อยละ 0.75โจทก์คงหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้เฉพาะมันอัดเม็ดซึ่งโจทก์ได้ส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศนั้นชอบด้วยคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวหรือไม่ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ซื้อแป้งมันและมันเส้นไม่ว่าในปีพ.ศ. 2526 และปีพ.ศ. 2527 หรือปี พ.ศ. 2528 ก็ย่อมตกอยู่ในบังคับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.728/2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.872/2523 ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 26พฤษภาคม 2523 หรือตกอยู่ในบังคับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.4/2528ซึ่งยกเลิกคำสั่งกรมสรรพากรที่ 728/2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.872/2523 และใช้บังคับตั้งแต่วันที่1 กุมภาพันธ์ 2528 ดังนั้น เมื่อโจทก์เป็นผู้ซื้อและได้จ่ายเงินซื้อแป้งมันและมันเส้นให้แก่ผู้รับ จึงต้องมีหน้าที่หักภาษีณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 0.75 ตามคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวทั้งนี้เพราะโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าส่งออก ตามความหมายของคำว่า “เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก” ที่ระบุไว้ในคำสั่งกรมสรรพากรที่กล่าวแล้วจะเห็นได้ว่าคำว่า “เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก” ย่อมมีความหมายชัดอยู่ในตัวเองว่าคำสั่งกรมสรรพากรดังกล่าวมุ่งประสงค์ให้ในกรณีที่ผู้ซื้อซึ่งประกอบการค้าเป็นผู้ส่งออกจะต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย คำว่า เป็นผู้ซื้อส่งออก จึงมีความหมายแต่เพียงว่าโจทก์เป็นผู้ทำการค้าส่งออก หาจำต้องได้ส่งออกซึ่งสินค้านั้นด้วยจริง ๆ ดังโจทก์อุทธรณ์ไม่ นอกจากนี้กรมสรรพากรก็ได้เคยตอบข้อหารือให้บริษัทต่าง ๆในปัญหาดังกล่าว ปรากฏตามหนังสือตอบข้อหารือ เอกสารหมายล.1 ลำดับที่ 31, 32 ซึ่งเป็นการแปลเจตนารมณ์ของคำสั่งดังกล่าวว่า คำว่า “ผู้ส่งออก” หมายถึง นิติบุคคลที่จดทะเบียนโดยมีวัตถุประสงค์เป็นผู้ส่งออกเท่านั้นโดยไม่คำนึงว่า ซื้อสินค้านั้นเพื่อส่งออกหรือไม่ก็ตาม ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายทั้งสิ้น นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการพิจารณาภาษีอากร (ชื่อย่อว่า กพอ.)ครั้งที่ 5/2528 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2528 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.2 ลำดับที่ 30 ก็ได้ให้ความหมายไว้ทำนองเดียวกันนี้เช่นกัน ดังนั้น จึงแปลความหมายของคำว่า “เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออก” ตามคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.4/2528 ได้ว่าหมายถึง ผู้ซื้อคือโจทก์เป็นผู้จดทะเบียนเป็นผู้ทำการค้าส่งออกนั่นเอง หาได้มีความหมายเป็นว่า ผู้ซื้อหรือโจทก์จะต้องได้ส่งออกซึ่งสินค้าที่ซื้อนั้นด้วย เพราะหากเป็นเช่นนั้น คำสั่งกรมสรรพากรจะต้องไม่ใช้คำว่า เฉพาะกรณีผู้ซื้อเป็นผู้ส่งออกดังกล่าวแล้วเมื่อแปลความหมายของคำสั่งกรมสรรพากรได้ดังกล่าวแล้วเช่นนี้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ซื้อแป้งมันและมันเส้นไม่ว่าจะอยู่ในบังคับคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.728/2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.872/2523 หรือคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.4/2528ก็ตาม โจทก์ก็ต้องมีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายตามนัยที่กล่าวแล้ว โจทก์หาได้รับยกเว้นเฉพาะคำสั่งดังกล่าวอันเนื่องจากโจทก์ขายสินค้าที่ซื้อมาให้ลูกค้าภายในประเทศโดยไม่มีการส่งออกไปขายให้แก่ลูกค้ายังต่างประเทศดังโจทก์อุทธรณ์ไม่แม้ข้อเท็จจริงจะปรากฏว่าโจทก์ได้หักเงินจากผู้ขายไว้อัตราร้อยละ 0.75 โดยอ้างว่าเป็นการหักไว้เผื่อความสูญเสีย ก็ไม่ทำให้โจทก์หลุดพ้นจากหน้าที่หักภาษีณ ที่จ่าย เมื่อมีการจ่ายเงินจากผู้ซื้อไปได้ การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและการวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ชอบแล้ว ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share