คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1526-1528/2479

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตัวการที่มอบอำนาจให้ตัวแทนดำเนินคดีจนกว่าจะกลับมาจากต่างประเทศนั้นแม้ตัวการจะกลับมาแล้ว ถ้าตัวแทนก็ยังดำเนินคดีต่อไปโดยตัวการรับรองแล้วก็เป็นการผูกพันตัวการแลคนที่ 3 อายุความมฤดกเมื่อเจ้าหนี้ฟ้องผู้จัดการมฤดกภายในกำหนด 1 ปีแล้ว แม้จะฟ้องผู้จัดการมฤดกคนอื่น ๆ อีกในภายหลังผู้จัดการมฤดกผู้นั้นก็ยกอายุความมฤดก 1 ปีขึ้นต่อสู้ไม่ได้ พ.ร.บ.ล้มละลาย ม.52 เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากผู้จำนองซึ่งล้มละลายไม่ครบก็ฟ้องเรียกจากผู้จำนองร่วมอีกคน 1 ได้ ประมวลวิธีพิจารณาแพ่ง ม.1(7-8) 144-139 +(2) การพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งก่อนฟ้องอุทธรณ์นั้น กฎหมายมิได้บังคับอยู่ในดุลยพินิจของศาลอุทธรณ์เท่าที่สามารถจะพิพากษาได้ การที่ตัวแทนร้องต่อศาลขอมอบอำนาจที่ตัวการมอบหมายให้ดำเนินคดีคืนให้แก่ตัวการนั้น ถือว่าเป็นคำขอฝ่ายเดียวเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินเสร็จแล้ว แต่สำนวนยังอยู่ที่ศาลชั้นต้น แม้จะยังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมีอำนาจสั่งคำร้องของตัวการที่ขอดำเนินคดีแทนตัวแทนต่อไปได้ เพราะไม่ได้ชื่อว่าดำเนินกระบวนพิจารณา มฤดก หน้าที่ผู้จัดการมฤดกแม้จะเป็นเวลาก่อนใช้ประมวลกฎหมายแพ่ง ศาลมีอำนาจสั่งให้(หมายเหตุ ผู้จัดการมฤดกเรื่องนี้ศาลตั้ง ) ผู้จัดการมฤดกทำบัญชีทรัพย์มฤดกส่งศาลได้

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ โจทก์จำเลยพิพาทกันด้วย
๑. เรื่องเปลี่ยนตัวโจทก์
๒. เรื่องหนี้
๓. เรื่องทำบัญชีมฤดกส่งศาล
ทางพิจารณาได้ความว่า ก่อนที่ พ.ไปต่างประเทศ พ.ได้ทำหนังสือมอบฉันทะให้ ส.เป็นตัวแทนจัดการงานทั่วไปตลอดจนให้ ส.มีอำนาจฟ้องคดีได้ตลอดเวลาจนกว่า พ.จะกลับมาจากต่างประเทศระหว่างนี้ ส.ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยโดยกล่าวว่า เจ้าพระยาแลท่านผู้หญิงสุธรรมมนตรีได้จำนองที่ดินไว้กับ พ.เป็นเงิน ๔๐๐๐๐ บาทกับท่านผู้หญิงสุธรรมฯ ได้จำนำล๊อกเก๊ตไว้แก่โจทก์เป็นเงิน ๒๘๐๐ บาท โดยเจ้าพระยาสุธรรมฯ เป็นผู้ค้ำประกัน ภายหลังเมื่อท่านผู้หญิงสุธรรมฯล้มละลายแล้ว เจ้าพระยาสุธรรมก็ถึงแก่กรรม จำเลยที่ ๑-๓ เป็นผู้จัดการมฤดกจำเลยไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องขอให้จำเลยใช้เงินรวม ๕๗๐๐๓ บาท ๓๑ สตางค์ศาลแพ่งพิพากษาให้ โจทก์ชนะคดี ระหว่างยื่นฟ้องอุทธรณ์ปรากฎว่า พ. แล ส.ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งว่า พ.ได้กลับจากต่างประเทศแล้ว ส.ขอมอบกิจการให้ แก่ พ.ตัวการจัดการต่อไป ศาลแพ่งสั่งอนุญาต จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนทั้งฟ้องอุทธรณ์แลอุทธรณ์คำสั่ง
จำเลยฎีกาว่า (๑) ศาลอุทธรณ์พิพากษาอุทธรณ์คำสั่งพร้อมกับฟ้องอุทธรณ์เป็นผิดต่อประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๒๓๙ แลว่าศาลแพ่งไม่มีอำนาจสั่งคำร้องเปลี่ยนตัวโจทก์ กันว่าคำร้องขอเปลี่ยนตัวโจทก์มิใช่คำขอฝ่ายเดียว แลเมื่อ พ.กลับมาแล้ว ส.ดำเนินคดีต่อไปหาชอบไม่
(๒) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ พ้น ๑ ปีคดีขาดอายุความ แลว่าโจทก์ขอพิสูจน์หนี้แล้วจะมาฟ้องอีกไม่ได้
(๓) ในเรื่องที่ศาลบังคับให้จำเลยทำบัญชีทรัพย์มฤดกส่งศาลนั้น ประมวลแพ่ง ม.๑๗๒๘-๑๗๒๙ ประกาศใช้ภายหลังโจทก์ฟ้องคดีนี้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามข้อ ๑ ศาลอุทธรณ์ไม่จำต้องพิจารณาพิพากษาอุทธรณ์คำสั่งก่อนเสมอไป อยู่ในดุลยพินิจแล้วแต่ความสามารถของศาลจะทำได้ แลเห็นว่าสำนวนความยังอยู่ที่ศาลแพ่ง การที่ศาลแพ่งอนุญาตให้เปลี่ยนตัวโจทก์ได้ หาได้ชื่อว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง ม.๑๔๔ ไม่ กับคดีนี้เรื่องตัวแทนมอบอำนาจคืนแก่ตัวการเป็นกิจการเล็กน้อย ระหว่างศาลกับโจทก์ พออนุโลมเข้าเป็นคำขอฝ่ายเดียวได้ และเห็นว่าการที่ พ.ไม่เข้ามาว่าคดีเสียเองก็เท่ากับ พ.เชิด ส.ออกเป็นตัวแทน ซึ่ง พ.ต้องรับผิดในกิจการที่ ส.ทำไปต่อบุคคลภายนอกตามประมวลแพ่ง ม.๘๒๑
ในข้อ ๒. เห็นว่าโจทก์ได้ฟ้องผู้จัดการมฤดกผู้หนึ่งพ้นกำหนดอายุความแล้วการที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๓ ในภายหลังนั้นอายุความมฤดก ๑ ปีจึงยกมาใช้ไม่ได้ส่วนในข้อพิศูจน์หนี้ได้ไม่พอนั้น เห็นว่าโจทก์ยังฟ้องเรียกจากกองมฤดกได้อีก
ส่วนข้อ ๓ เรื่องทำบัญชีมฤดกนั้นเห็นว่าแม้ ม.๑๗๒๘-๑๗๒๙ จะใช้บังคับไม่ได้ ตามหลักกฎหมายแลความยุตติธรรมเมื่อศาลต้องการได้รายละเอียดแห่งกองมฤดก จำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมฤดกก็มีหน้าที่ทำส่งศาล จึงพิพากษายืนตามศาลล่างให้ยกฎีกาจำเลย

Share