แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55. โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยลำพัง. ฉะนั้น แม้โจทก์จะฟ้องมาในคดีเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาทุนทรัพย์ของคดีสำหรับโจทก์แต่ละคนแยกกัน. เมื่อปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท.และศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น. โจทก์แต่ละคนจึงฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้.(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 22/2511).
การที่จำเลยที่ 2 ไม่เข้าเบิกความเป็นพยาน. ไม่มีกฎหมายตัดสิทธิ.มิให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบ.หรือบัญญัติว่าจะเอาคำเบิกความของพยานนั้นหรือคำเบิกความของจำเลยด้วยกันมาฟังเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบุตรนายศิลา นางจันทา ขันโอฬาร ซึ่งมีบุตรด้วยกัน 7 คน นายศิลานางจันทามีทรัพย์ที่ทำมาหาได้ด้วยกันหลายอย่าง รวมราคา 39,900 บาท เมื่อประมาณ 12 ปีมาแล้ว บิดามารดาโจทก์ได้แบ่งที่นาให้แก่บุตรทุกคนเป็นส่วนสัด โจทก์ที่ 1 ได้รับส่วนแบ่งหมายสีแดง (ก) เนื้อที่ 19 ไร่ ราคา 2,500 บาท นายดีได้รับหมายสีแดง (ข) เนื้อที่ 22 ไร่ ราคา 2,500 บาท ส่วนทรัพย์ตามบัญชีอันดับ 2, 3, 4 และ 5 ยังไม่ได้แบ่ง ต่อมานายศิลาบิดาโจทก์ถึงแก่กรรม ครั้นเมื่อ พ.ศ. 2504 นางจันทามารดาโจทก์ก็ถึงแก่กรรมลงอีก ทรัพย์ที่ยังไม่ได้แบ่งดังกล่าวแล้วจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์และทายาททุกคนสำหรับที่นาที่โจทก์ที่ 1 และนายดีได้รับส่วนแบ่งไว้แล้วนั้น โจทก์ที่ 1 และนายดีได้มอบให้โจทก์ที่ 2 เป็นผู้ครอบครองดูแลแทน และต่อมาเมื่อนายดีถึงแก่กรรมลง โจทก์ที่ 2ก็ครอบครองดูแลแทนบุตรนายดี จำเลยไม่เคยเข้าเกี่ยวข้อง เมื่อเดือนสิงหาคม 2507 จำเลยทั้งสามได้ยื่นคำร้องขอรับมรดก รวมทั้งที่นาที่แบ่งแล้วด้วย โจทก์จึงยื่นคำร้องขอรับส่วนแบ่ง แต่จำเลยไม่ยอมให้โจทก์มีส่วนได้ในมรดกที่ยังไม่ได้แบ่งคนละ 1 ส่วนใน 7 ส่วน คิดเป็นเงินคนละ 700 บาท จึงขอให้ศาลพิพากษาว่า ที่นาหมายสีแดง (ก) และ (ข)ตามแผนที่สังเขปท้ายฟ้องเป็นของโจทก์ทั้งสอง และพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์ท้ายฟ้อง อันดับ 2, 3, 4 และ 5 ออกเป็น 7 ส่วนให้โจทก์ได้รับคนละ 1 ส่วน ถ้าตกลงกันไม่ได้ ก็ให้ประมูลในระหว่างกัน หรือขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วน จำเลยให้การปฏิเสธ ชั้นพิจารณาในระหว่างสืบพยานจำเลย โจทก์ที่ 2 และจำเลยได้ตกลงกันเฉพาะที่นาที่เป็นส่วนของนายดีว่า จำเลยยอมให้เงินแก่โจทก์ที่ 2เป็นเงิน 1,250 บาทแล้วจำเลยจะเอานาส่วนของนายดีที่พิพาทกันอยู่เป็นสิทธิของจำเลย โจทก์ที่ 2 ยอมยกนาส่วนนี้ให้แก่จำเลย โดยจะไม่มาเกี่ยวข้องอีก ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมกันใช้เงิน 1,250 บาทแก่นางปานทอง และนางสาวเหรียญภายใน 3 เดือน นับแต่วันพิพากษาคดีนี้และให้นาพิพาทส่วนที่นายดีได้รับแบ่งตกเป็นสิทธิของจำเลยไป ทรัพย์นอกนั้นคดีของโจทก์ขาดอายุความ ให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์แต่ละคนต่างใช้สิทธิเฉพาะตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55โจทก์แต่ละคนชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลโดยลำพัง ฉะนั้น แม้โจทก์ฟ้องมาในคดีเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาทุนทรัพย์ของคดีสำหรับโจทก์แต่ละคนแยกกัน เมื่อปรากฏว่าราคาทรัพย์สินที่โจทก์แต่ละคนเรียกร้องมีจำนวนไม่เกิน 5,000 บาท และศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์แต่ละคนจึงฎีกาในข้อเท็จจริงไม่ได้ เพราะต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 ข้อที่โจทก์ยกขึ้นฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า เมื่อจำเลยที่ 2ไม่เข้าเบิกความ ถือได้ว่าจำเลยที่ 2 ไม่มีพยานนำสืบในชั้นพิจารณาจำเลยที่ 2 ต้องแพ้คดีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้เข้าเบิกความและมีนายพิมพ์ เพียรประดับ ซึ่งจำเลยทุกคนอ้างเป็นพยาน ได้เบิกความอีกด้วย ลำพังเหตุที่จำเลยที่ 2 ไม่เข้าเบิกความ ก็ไม่มีกฎหมายตัดสิทธิมิให้จำเลยที่ 2 นำพยานเข้าสืบ หรือบัญญัติว่าจะเอาคำเบิกความของพยานนั้น หรือคำเบิกความของจำเลยด้วยกันมาฟังเป็นประโยชน์แก่จำเลยที่ 2 ไม่ได้ พิพากษายืน.