คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 153/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ผู้ค้ำประกันซึ่งถูกเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แจ้งให้ชำระหนี้ของลูกหนี้ผู้ถูกพิทักษ์ทรัพย์นั้น แม้จะไม่ได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดอันจะต้องถือว่าเป็นหนี้กองทรัพย์สินของลูกหนี้เป็นการเด็ดขาด ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119แต่ก็คงรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเท่านั้น เมื่อปรากฏว่าหนี้ที่ค้ำประกันได้มีการชำระเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ค้ำประกันก็ย่อมหลุดพ้นความรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698.

ย่อยาว

คดีนี้ สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีหนังสือยืนยันให้ผู้ร้องที่ 1 ชำระหนี้ค่าแชร์ 40,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและให้ผู้ร้องที่ 2 ที่ 3 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมกันชำระหนี้แทนผู้ร้องที่ 1 แก่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ผู้ร้องทั้งสามยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้ชำระหนี้รายนี้แล้ว มิได้เป็นลูกหนี้ของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) อีกต่อไปซึ่งเป็นเหตุให้ผู้ร้องที่2 ที่ 3 หลุดพ้นความรับผิดตามสัญญาค้ำประกันด้วย ขอให้มีคำสั่งจำหน่ายชื่อผู้ร้องทั้งสามออกจากบัญชีลูกหนี้ของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย)
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่า ผู้ร้องที่ 2 ค้างชำระหนี้ค่าแชร์บริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เป็นเงิน 40,000 บาท ผู้ร้องที่ 2ได้รับแจ้งความเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ให้ชำระหนี้แล้ว แต่ไม่ปฏิเสธภายใน 14 วันนับแต่วันได้รับแจ้งความ ถือว่าผู้ร้องที่ 2 เป็นหนี้กองทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เป็นการเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 ส่วนผู้ร้องที่ 1 ที่ 3 ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนด แต่เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์สอบสวนแล้วเห็นว่าผู้ร้องที่ 1 ค้างชำระหนี้อยู่จริง ผู้ร้องที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกันจึงต้องรับผิดร่วมกับผู้ร้องที่ 1 ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสาม
ผู้ร้องทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องทั้งสามออกจากบัญชีลูกหนี้
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าที่ผู้คัดค้านฎีกาว่า ผู้ร้องที่ 2 ไม่ได้ปฏิเสธหนี้ภายในกำหนดหลังจากได้รับหนังสือแจ้งความให้ชำระหนี้จากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ต้องถือว่าผู้ร้องที่ 2 เป็นหนี้กองทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ (จำเลย) เป็นการเด็ดขาดตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 119 นั้น ซึ่งกรณีเช่นนี้คงถือได้ว่าเป็นลูกหนี้เด็ดขาดในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้ร้องที่ 1 เท่านั้น เมื่อคดีได้ความว่า ผู้ร้องที่ 1 ได้ชำระหนี้รายนี้เสร็จสิ้น อันมีผลทำให้หนี้ของผู้ร้องที่ 1 ระงับสิ้นไปแล้ว ผู้ร้องที่ 2 ย่อมหลุดพ้นความรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกัน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 698 ส่วนผู้ร้องที่ 3 ซึ่งอยู่ในฐานะผู้ค้ำประกันเช่นเดียวกับผู้ร้องที่ 2 ก็หลุดพ้นความรับผิดไปเช่นเดียวกันตามนัยดังกล่าวนั้นด้วย ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายชื่อผู้ร้องทั้งสามออกจากบัญชีลูกหนี้นั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน.

Share