คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2530

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ระเบียบของผู้ร้องมีข้อห้ามเปิดประชุมในบริเวณโรงงานก่อนได้รับอนุญาตจากผู้ร้อง ได้ความว่า ขณะที่พนักงานของผู้ร้องมารวมกันเพื่อรับประทานอาหารในระหว่างพักแม้มิใช่การมาร่วมกันเพื่อปรึกษาหารือกันก็ตาม แต่ก็เป็นการชุมนุมอย่างหนึ่ง ซึ่งอยู่ในความหมายของ “ประชุม” เมื่อผู้คัดค้านได้แถลงข้อเท็จจริงความคิดเห็น และข้อเสนอแนะ ต่อพนักงานดังกล่าว เช่นนี้ พฤติการณ์ของผู้คัดค้านถือเป็นการเปิดประชุมแล้ว ผู้ร้องชอบที่จะลงโทษผู้คัดค้านได้ตามระเบียบดังกล่าวของตน.

ย่อยาว

ผู้ร้องอ้างว่า ผู้คัดค้านทั้งสามเป็นกรรมการลูกจ้างในสถานประกอบกิจการของผู้ร้อง เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2529 ผู้ร้องได้ออกคำสั่งและประกาศห้ามใช้เครื่องขยายเสียงหรือการโฆษณาอื่นใดในอาณาเขตของบริษัทผู้ร้องโดยมิได้รับอนุญาต ต่อมาในช่วงเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน กรรมการลูกจ้างทั้งสามตามที่กล่าวข้างต้นได้ร่วมกันพูดโฆษณาในบริเวณโรงอาหารโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ร้องกล่าวอ้างถึงผลการประชุมระหว่างคณะกรรมการลูกจ้างกับฝ่ายบริหารว่า ฝ่ายบริหารขึ้นเงินเดือนประจำปีให้แก่พนักงานโดยไม่เป็นธรรมเอาเรื่องการนัดหยุดงานเข้ามาเกี่ยวข้อง และโจมตีฝ่ายบริหารว่ากลั่นแกล้ง ไม่ให้ความเป็นธรรมแก่พนักงานที่ไม่ให้ความร่วมมือกับผู้ร้อง การกระทำของผู้คัดค้านทั้งสามเป็นการกระทำผิดระเบียบและข้อบังคับในการทำงาน ขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนเป็นหนังสือแก่ผู้คัดค้านทั้งสาม
ผู้คัดค้านทั้งสามคัดค้านว่า คำสั่งของผู้ร้องที่ห้ามใช้เครื่องขยายเสียงในอาณาเขตของบริษัทผู้ร้องเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างที่ไม่เป็นคุณแก่ลูกจ้างและมีเจตนาที่จะขัดขวางการดำเนินงานของคณะกรรมการลูกจ้างและสหภาพแรงงาน จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ผู้คัดค้านทั้งสามในฐานะกรรมการลูกจ้างได้โฆษณาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อความเข้าใจแก่พนักงานเป็นส่วนรวมที่โรงอาหารของพนักงานเป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตและชอบด้วยกฎหมายหาเป็นความผิดประการใดตามที่ผู้ร้องร้องไม่ ขอให้ยกคำร้อง
วันนัดสืบพยานผู้ร้อง ผู้ร้องส่งระเบียบ และข้อบังคับในการทำงานของบริษัทผู้ร้องและบันทึกคำพูดของผู้คัดค้านทั้งสามที่กล่าวในวันที่ 21 สิงหาคม 2529 ต่อศาล ศาลแรงงานกลางรับไว้หมายเป็นเอกสารหมาย ร.1 เอกสารหมาย ร.2 และเอกสารหมาย ร.3 ตามลำดับผู้คัดค้านทั้งสามแถลงรับว่า ผู้ร้องมีระเบียบฯ ตามเอกสารหมาย ร.1ซึ่งมีผลใช้บังคับในขณะที่เกิดเหตุเป็นคดีนี้จริง ผู้ร้องประกาศใช้เอกสารหมาย ร.2 จริง ผู้คัดค้านทั้งสามแถลงข้อความตามเอกสารหมาย ร.3จริง ครั้นแล้วคู่ความทั้งสองฝ่ายต่างแถลงไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า การที่ผู้คัดค้านทั้งสามแถลงถึงข้อเท็จจริงตามเอกสารหมาย ร.3 ถือว่าเป็นการเปิดประชุมแล้ว เมื่อกระทำโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ร้องก่อนจึงเป็นการกระทำผิดระเบียบฯเอกสารหมาย ร.1 ข้อ 6 ชอบที่ผู้ร้องจะลงโทษผู้คัดค้านทั้งสามได้(ตามระเบียบฯ เอกสารหมาย ร.1 หมวด 5 การลงโทษข้อ 1) อนุญาตให้ผู้ร้องลงโทษตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษรแก่ผู้คัดค้านทั้งสามตามคำร้อง
ผู้คัดค้านทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…แม้การตั่งรับประทานในช่วงเวลาพักมิใช่มาร่วมพบกันเพื่อปรึกษาหารือกันก็ตาม แต่ก็เป็นการ “ชุมนุม”อย่างหนึ่งอันนับเนื่องอยู่ในความหมายของการประชุมกันอยู่นั่นเองเมื่อมี “ประชุม” หรือ “ชุมนุม” กันแล้ว ผู้คัดค้านทั้งสามถือโอกาสแถลงถึงข้อเท็จจริง ซึ่งก็มิใช่การแถลงข้อเท็จจริงอย่างเดียวเท่านั้น ตามเอกสารหมาย ร.3 ผู้คัดค้านที่ 1 ยังกล่าวแสดงความคิดเห็นอีกว่าพนักงานบางส่วนถูกกลั่นแกล้งไม่ได้รับความเป็นธรรมขอให้บรรดาพนักงานที่ฟังอยู่ช่วยกันคิด ช่วยกันไม่มองหน้าผู้จัดการขอให้พนักงานร่วมกันต่อสู้ ผนึกกำลังกัน ผู้คัดค้านที่ 2 ได้แสดงความคิดเห็นเช่นกันว่าพนักงานบางส่วนไม่ได้รับความเป็นธรรมถูกกลั่นแกล้ง มีการผิดสัญญา มีการข่มขู่ มีการใช้อิทธิพล คนงานไร้ที่พึ่ง มีการท้าทายกันระหว่างผู้ร้องกับสหภาพแรงงาน ในที่สุดขอให้พนักงานรวมกันแก้ปัญหา ส่วนผู้คัดค้านที่ 3 แม้ได้แถลงถึงข้อเท็จจริงโดยแท้ก็ตาม แต่ก็เป็นการกล่าวเริ่มดำเนินเรื่องแล้วให้ผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวแสดงความคิดเห็นเสนอแนะวิธีการขั้นต่อไปโดยลำดับ ดังนี้พฤติการณืของผู้คัดค้านทั้งสาม ศาลฎีกาเห็นว่าถือได้ว่าเป็นการเปิดประชุมต้องตามระเบียบฯ เอกสารหมาย ร.1 ข้อ 6 แล้วเมื่อผู้คัดค้านทั้งสามกระทำโดยมิได้รับอนุญาตจากผู้ร้องก่อนย่อมเป็นการกระทำผิดระเบียบฯดังกล่าวแล้ว ชอบที่ผู้ร้องจะลงโทษได้ตามระเบียบฯ เอกสารหมาย ร.1หมวด 5 การลงโทษ ข้อ 1 คำสั่งของศาลแรงงานกลางชอบแล้ว อุทธรณ์ของผู้คัดค้านทั้งสามฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share