คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1522/2528

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 ซึ่งนำมาใช้ในการพิจารณาคดีอาญา โดยอาศัยมาตรา 15 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแม้จะบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง แต่ก็มีข้อยกเว้นต่อไปว่า ความในข้อนี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือคำสั่งศาลว่าให้เป็นอย่างอื่น จึงมิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียทีเดียวประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226 บัญญัติว่า พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ และมาตรา 227 วรรคแรก ก็บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงคำพยานบอกเล่าที่กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกได้ร่วมกันทำลาย ทำให้เสื่อมสภาพที่ดินที่ทราย ในบริเวณอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙(๒), ๑๐๘ ทวิ วรรคสอง,ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๙๖ ลงวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕ ข้อ ๑๑ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๙๑ ฯลฯ และริบทรายของกลาง
จำเลยให้การรับสารภาพว่า ได้กระทำความผิดในบริเวณหาดตาพาจริง แต่ให้การปฏิเสธว่า มิได้กระทำความผิดในบริเวณหาดบ้านนายโชติเก่า
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๙(๒),๑๐๘ ทวิ วรรคสอง ลงโทษจำคุกกระทงละ ๖ เดือน ลดโทษให้เฉพาะกระทงแรกแล้ว รวมจำคุก ๙ เดือน คืนของกลางบางส่วนให้จำเลย ที่เหลือให้ริบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ที่จำเลยฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์รับฟังคำเบิกความของนายชาญยุทธ แสงอรุณรุ่งรัตน์ และนายบุญมี ทรัพย์เรือง ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๕(๒) เพราะเป็นพยานบอกเล่าไม่เป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเอง พิเคราะห์แล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๕ ซึ่งนำมาใช้ในการพิจารณาคดีอาญาโดยอาศัยมาตรา ๑๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญานั้น แม้จะบัญญัติห้ามมิให้ศาลรับฟังพยานบุคคลใด เว้นแต่บุคคลนั้นเป็นผู้ที่ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงก็ตาม แต่มีข้อยกเว้นต่อไปว่า ความในข้อนี้ให้ใช้ได้ต่อเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งหรือคำสั่งศาลว่าให้เป็นอย่างอื่น จึงมิได้ห้ามโดยเด็ดขาดมิให้รับฟังพยานบอกเล่าเสียทีเดียว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๖ บัญญัติว่า พยานวัตถุ พยานเอกสาร หรือพยานบุคคลซึ่งน่าจะพิสูจน์ได้ว่าจำเลยมีผิดหรือบริสุทธิ์ ให้อ้างเป็นพยานหลักฐานได้ และมาตรา ๒๒๗ วรรคแรก ก็บัญญัติให้ศาลใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวง ฉะนั้น คำพยานบอกเล่าที่กล่าวถึงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างมีเหตุผล ศาลย่อมใช้ดุลพินิจรับฟังประกอบพยานหลักฐานอื่นของโจทก์ เพื่อพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
พิพากษายืน.

Share