แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องคดีโดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งจำเลยมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมาย แม้จำเลยจะมิได้เข้าแย่งการครอบครอง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งหากศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ย่อมเป็นผลให้โจทก์ได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท คำขอที่ให้แสดงสิทธิครอบครองดังกล่าวจึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้โจทก์จะมีคำขอให้ห้ามจำเลยเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย แต่การที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอในส่วนนี้ได้ ก็ต้องได้ความก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์มีสิทธิครอบครองและมิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ คำขอในส่วนนี้จึงเป็นเพียงคำขอที่ต่อเนื่องกับคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งถือว่าเป็นคำขอประธาน คดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ สิทธิของโจทก์ในการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องพิจารณาจากราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
โจทก์ต่างอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของตนแต่ละแปลงโดยมิได้เกี่ยวข้องกัน แม้โจทก์จะฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 แยกต่างหากจากกัน เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาทและอุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์จึงต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 224 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องว่า โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินรกร้างว่างเปล่าหัวไร่ปลายนาบริเวณโคกหนองหมูและโคกดอนมะค่า หมู่ที่ 7 ตำบลหนองตูม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น โดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของมานานกว่า 30 ปี ขอให้พิพากษาว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองในที่ดินบริเวณโคกหนองหมูและโคกดอนมะค่า หมู่ที่ 7 ตำบลหนองตูม อำเภอเมืองขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ซึ่งโจทก์ทั้งเจ็ดครอบครองอยู่ในแต่ละแปลง ห้ามจำเลยทั้งหกเข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งหกให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ด คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ทั้งหมดแก่โจทก์ทั้งเจ็ด
โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดเนื่องจากเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงที่ต้องห้ามนั้นชอบหรือไม่ โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาว่า โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องขอให้แสดงสิทธิในที่ดินพิพาทที่โจทก์ทั้งเจ็ดครอบครอง ห้ามจำเลยทั้งหกเข้าเกี่ยวข้อง เนื่องจากจำเลยทั้งหกรบกวนการครอบครองโดยอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยทั้งหกแย่งการครอบครอง จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 244 วรรคสอง (ที่ถูกมาตรา 224 วรรคสอง) ศาลฎีกาเห็นว่า การที่โจทก์ทั้งเจ็ดฟ้องคดีโดยมีคำขอให้ศาลมีคำพิพากษาแสดงว่าโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท เพราะเหตุที่จำเลยที่ 1 อนุมัติให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงในที่ดินพิพาทโดยอ้างว่าเป็นที่ดินสาธารณประโยชน์ซึ่งจำเลยทั้งหกมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาตามกฎหมาย แม้จำเลยทั้งหกจะมิได้เข้าแย่งการครอบครอง ก็เป็นเรื่องที่โจทก์ทั้งเจ็ดและจำเลยทั้งหกพิพาทกันเกี่ยวกับสิทธิในที่ดิน ซึ่งหากศาลพิพากษาให้โจทก์ทั้งเจ็ดชนะคดี ย่อมเป็นผลให้โจทก์ทั้งเจ็ดได้สิทธิครอบครองในที่ดินพิพาท คำขอที่ให้แสดงสิทธิครอบครองดังกล่าวจึงเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะมีคำขอให้ห้ามจำเลยทั้งหกเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาทซึ่งเป็นคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้รวมอยู่ด้วย แต่การที่ศาลจะพิพากษาตามคำขอในส่วนนี้ได้ ก็ต้องได้ความเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิครอบครองและมิใช่ที่ดินสาธารณประโยชน์ คำขอในส่วนนี้จึงเป็นเพียงคำขอที่ต่อเนื่องกับคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ซึ่งถือว่าเป็นคำขอประธาน คดีนี้จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ สิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดในการอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นจึงต้องพิจารณาจากราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาต่อไปว่า สิทธิในการอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดไม่อาจถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกันได้ เพราะจำเลยทั้งหกโต้แย้งสิทธิของโจทก์ทั้งเจ็ดโดยรวม โดยมิได้แบ่งแยกว่าจะออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงแยกแปลงกันนั้น เห็นว่า โจทก์ทั้งเจ็ดต่างอ้างการครอบครองที่ดินพิพาทในส่วนของตนแต่ละแปลงโดยมิได้เกี่ยวข้องกัน แม้โจทก์ทั้งเจ็ดจะฟ้องรวมกันมา การอุทธรณ์ก็ต้องถือทุนทรัพย์ของโจทก์แต่ละคนแยกกัน เพราะเป็นเรื่องที่โจทก์แต่ละคนใช้สิทธิเฉพาะของตนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 แยกต่างหากจากกัน กรณีหาได้ขึ้นอยู่กับการออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวงว่ามิได้แยกแปลงกันดังที่โจทก์ทั้งเจ็ดฎีกาไม่ ดังนั้น เมื่อราคาทรัพย์สินหรือจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นอุทธรณ์ของโจทก์แต่ละคนไม่เกินห้าหมื่นบาท และอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 224 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยและพิพากษายกอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งเจ็ดฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน