แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและผู้บังคับบัญชาของโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่านายจ้างเลิกจ้าง กับนำหนังสือแจ้งการเลิกจ้างเอกสารหมาย ล. 2 มาให้โจทก์ดู ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างลงมาด้วยตนเอง และจำเลยที่ 2 สั่งการในหนังสือเอกสารหมาย ล. 2 ว่า ยังไม่สมควรเลิกจ้าง แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทราบ หนังสือเอกสารหมาย ล. 2 เป็นหนังสือที่ ว. มีถึง พ. เพื่อขอเลิกจ้างโจทก์ และ พ. บันทึกความเห็นว่า สมควรเลิกจ้างโจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 2 มิใช่หนังสือที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างแจ้งไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป จึงมิใช่หนังสือเลิกจ้าง ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ย่อมเป็นที่เข้าใจแก่คนทั่วไปว่า จำเลยทั้งสองผู้เป็นนายจ้างมีความประสงค์ที่จะเลิกจ้างโจทก์นั้น ก็ขัดกับข้อความที่จำเลยที่ 2 บันทึกไว้ในเอกสารหมาย ล. 2 ว่า ไม่ควรเลิกจ้าง ให้เรียกมาตกลงกันใหม่โดยทำหนังสือเป็นข้อตกลง ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและผู้บังคับบัญชาของโจทก์นำหนังสือเอกสารหมาย ล. 2 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์นั้นก็ไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างเนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจเลิกจ้างและหนังสือเอกสารหมาย ล. 2 ก็มิใช่หนังสือเลิกจ้าง ทั้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า จำเลยที่ 2 เชิดเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือ พ. ให้เป็นตัวแทนและมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้เลิกจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันคืนเงินประกันจำนวน 2,000 บาท จ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,380 บาท และค่าชดเชยจำนวน 44,280 บาท พร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าชดเชยจำนวน 44,280 บาท เงินประกันการทำงาน 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าจำนวน 7,380 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองมีว่า จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์หรือไม่ และต้องจ่ายค่าชดเชย กับสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าให้แก่โจทก์ตามที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 บัญญัติว่า “ให้นายจ้างจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างซึ่งเลิกจ้างดังต่อไปนี้
(1) …
(2) …
(3) ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันครบสามปีแต่ยังไม่ครบหกปีให้จ่ายไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้าย
หนึ่งร้อยแปดสิบวัน หรือไม่น้อยกว่าค่าจ้างของการทำงานหนึ่งร้อยแปดสิบวันสุดท้ายสำหรับลูกจ้างซึ่งได้รับค่าจ้างตามผลงานโดยคำนวณเป็นหน่วย…” และบัญญัติคำว่า เลิกจ้าง ไว้ในวรรคสอง ว่า “การเลิกจ้างตามมาตรานี้ หมายความว่า การกระทำใดที่นายจ้างไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปและไม่จ่ายค่าจ้างให้ ไม่ว่าจะเป็นเพราะสิ้นสุดสัญญาจ้างหรือเหตุอื่นใด และหมายความรวมถึงกรณีที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับค่าจ้างเพราะเหตุนายจ้างไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไป” หมายความว่า การเลิกจ้างนั้นต้องเป็นการกระทำของนายจ้างที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไป การกระทำของผู้อื่นที่ไม่ให้ลูกจ้างทำงานต่อไปนั้น มิใช่การเลิกจ้าง ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 5 ได้ให้คำนิยามคำว่า นายจ้าง หมายความว่า ผู้ซึ่งตกลงรับลูกจ้างเข้าทำงานโดยจ่ายค่าจ้างให้และหมายความรวมถึง
(1) …
(2) ในกรณีที่นายจ้างเป็นนิติบุคคลให้หมายความรวมถึงผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลและ
ผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้มีอำนาจกระทำการแทนนิติบุคคลให้ทำการแทนด้วย” คดีนี้ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด เป็นผู้ตกลงรับโจทก์เข้าทำงานและจ่ายค่าจ้างให้แก่โจทก์ จึงเป็นนายจ้างของโจทก์ และจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการมีอำนาจทำการแทนจำเลยที่ 1 ถือเป็นนายจ้างของโจทก์ด้วย ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและผู้บังคับบัญชาของโจทก์แจ้งให้โจทก์ทราบว่านายจ้างเลิกจ้าง กับนำหนังสือแจ้งการเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.2 มาให้โจทก์ดู ซึ่งจำเลยที่ 2 ยังไม่ได้มีคำสั่งเลิกจ้างลงมาด้วยตนเอง และจำเลยที่ 2 สั่งการในหนังสือเอกสารหมาย ล.2 ว่า ยังไม่สมควรเลิกจ้าง แต่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลมิได้แจ้งคำสั่งดังกล่าวของจำเลยที่ 2 ให้โจทก์ทราบ พิเคราะห์หนังสือเอกสารหมาย ล.2 แล้ว เห็นว่า เป็นหนังสือที่นางสาววรจิตรามีถึงนายไพรัชเพื่อขอเลิกจ้างโจทก์ และนายไพรัชบันทึกความเห็นว่า สมควรเลิกจ้างโจทก์เสนอต่อจำเลยที่ 2 มิใช่หนังสือที่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นนายจ้างแจ้งไม่ให้โจทก์ทำงานต่อไป จึงไม่ใช่หนังสือเลิกจ้าง การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ย่อมเป็นที่เข้าใจแก่คนทั่วไปว่า จำเลยทั้งสองผู้เป็นนายจ้างมีความประสงค์ที่จะเลิกจ้างโจทก์นั้น ก็ขัดกับข้อความที่จำเลยที่ 2 บันทึกไว้ในเอกสารหมาย ล.2 ว่า ไม่ควรเลิกจ้าง ให้เรียกมาตกลงกันใหม่โดยทำหนังสือเป็นข้อตกลง ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลและผู้บังคับบัญชาของโจทก์นำหนังสือเอกสารหมาย ล.2 แจ้งให้โจทก์ทราบว่า จำเลยทั้งสองเลิกจ้างโจทก์นั้นก็ไม่มีผลเป็นการเลิกจ้างเนื่องจากบุคคลดังกล่าวไม่มีอำนาจเลิกจ้างและหนังสือเอกสารหมาย ล.2 ก็มิใช่หนังสือเลิกจ้าง ทั้งข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางฟังมาก็ไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า จำเลยที่ 2 เชิดเจ้าหน้าที่ฝ่ายบุคคลหรือนายไพรัชให้เป็นตัวแทนและมีอำนาจเลิกจ้างโจทก์ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองมิได้เลิกจ้างโจทก์ จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแก่โจทก์ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอโจทก์ที่ขอให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าเสีย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.