แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์บรรยายฟ้องในทำนองว่า จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริตซึ่งหมายความว่า จำเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยมิชอบและไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังได้เช่นนั้นเพราะจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ไม่พอรับฟังตามที่โจทก์กล่าวอ้าง จึงต้องฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินไว้โดยสุจริต
โจทก์ที่ 2 นำโฉนดที่ดินพิพาท หนังสือมอบอำนาจตามแบบของกรมที่ดินที่โจทก์ที่ 2 ลงลายมือชื่อ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้าน ซึ่งโจทก์ที่ 2ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องใส่ในถุงกระดาษหูหิ้วติดตัวไปมาเป็นเวลานานนับปีในลักษณะที่อาจทำให้เอกสารสำคัญสูญหายได้ และเมื่อโจทก์ที่ 2 ทราบว่าโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมเอกสารเกี่ยวกับการทำนิติกรรมได้หายไป หากโจทก์ทั้งสองรีบแจ้งความและขออายัดที่ดินพิพาทเสียในโอกาสแรก การที่จำเลยที่ 1 จะไปทำนิติกรรมโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้ตนเองย่อมกระทำไม่ได้ การที่โจทก์ทั้งสองดำเนินการดังกล่าวล่าช้า ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่ออย่างมาก เมื่อปรากฏว่ามีการนำโฉนดที่ดินพิพาทและเอกสารต่าง ๆ ไปดำเนินการทำนิติกรรมเป็นว่าโจทก์ที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต โจทก์ทั้งสองย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นอ้างอันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ได้ ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าต่างฝ่ายต่างสุจริตด้วยกัน ฝ่ายที่ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โจทก์จึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสองและนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องว่า โจทก์ทั้งสองเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ทั้งสองร่วมกันซื้อที่ดินจัดสรรจากกองทัพอากาศจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์เมื่อวันที่ 2มีนาคม 2535 ระบุชื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของเพียงคนเดียว โจทก์ทั้งสองประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินแปลงดังกล่าวเป็น 4 แปลง เพื่อยกให้แก่บุตร โจทก์ที่ 2 จึงไปติดต่อนาวาอากาศเอกอยู่ ดวงงามยิ่ง นายทหารประจำกรมสวัสดิการทหารอากาศช่วยดำเนินการให้นาวาอากาศเอกอยู่ให้โจทก์ที่ 2 มอบอำนาจให้ไปกระทำการแทนโจทก์ที่ 2จึงเตรียมโฉนดที่ดิน หนังสือมอบอำนาจตามแบบของกรมที่ดินซึ่งโจทก์ที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อไว้แต่ยังมิได้กรอกข้อความ พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านที่ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้เพื่อจะมอบให้นาวาอากาศเอกอยู่แต่ยังไม่ได้มอบให้เพราะนาวาอากาศเอกอยู่ไปราชการต่างจังหวัด โจทก์ที่ 2 เอาเอกสารทั้งหมดใส่ไว้ในถุงกระดาษหูหิ้วถือไปมาระหว่างบ้านกับที่ทำงานเพื่อรอส่งมอบให้แก่นาวาอากาศเอกอยู่ ต่อมาวันที่ 2 พฤษภาคม 2539 โจทก์ทั้งสองได้ทราบว่าโฉนดที่ดินและเอกสารที่เตรียมไว้ดังกล่าวสูญหายไป โจทก์ทั้งสองไปตรวจสอบสารบบที่ดินที่สำนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่พบว่าจำเลยที่ 1 ได้กรอกข้อความลงในหนังสือมอบอำนาจทำนิติกรรมขายที่ดินของโจทก์ที่ 2 ให้แก่ตนเองตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2539แล้วจำเลยที่ 1 สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา500,000 บาท เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2539 ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 28054 ตำบลหารแก้ว อำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 และเพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินแปลงดังกล่าวระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับให้ลบชื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ออกจากสารบบทะเบียนแล้วใส่ชื่อโจทก์ที่ 2 เป็นเจ้าของตามเดิม และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวคืนโจทก์ หากไม่ยินยอมให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสองในการออกใบแทนโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยที่ 2 ประกอบอาชีพให้กู้ยืมเงินโดยมีอสังหาริมทรัพย์เป็นประกัน จำเลยที่ 2 ไม่เคยรู้จักจำเลยที่ 1 และโจทก์ทั้งสองมาก่อน นางจิตติมา เชวงวงศ์สิน ผู้รับมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการรับขายฝากแทนจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิได้ทุจริตหรือร่วมกันกับจำเลยที่ 1 ยักยอกโฉนดที่ดินพร้อมหนังสือมอบอำนาจและเอกสารอื่นของโจทก์ที่ 2 การกระทำของโจทก์ทั้งสองเป็นการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จึงไม่อาจฟ้องขอที่ดินคืนจากจำเลยที่ 2 ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์อย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ทั้งสองฎีกาโดยได้รับอนุญาตให้ฎีกาอย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติได้ว่าโจทก์ที่ 1 เป็นสามีของโจทก์ที่ 2 ที่ดินพิพาทคือที่ดินโฉนดเลขที่ 28054 ตำบลหารแก้วอำเภอหางดง จังหวัดเชียงใหม่ เนื้อที่ 3 งาน 91 ตารางวา เดิมโจทก์ที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539 จำเลยที่ 1 นำโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมหนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ที่ 2 ลงลายมือชื่อในช่องผู้มอบอำนาจมีข้อความระบุว่าโจทก์ที่ 2มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโดยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ต่อมาวันที่ 10 เมษายน2539 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนขายฝากที่ดินแก่จำเลยที่ 2 ในราคา 500,000 บาท มีกำหนดไถ่ถอนภายใน 6 เดือน โดยนางจิตติมา เชวงวงศ์สิน เป็นผู้รับมอบอำนาจจากจำเลยที่ 2ในการติดต่อและทำนิติกรรมขายฝากดังกล่าว หลังจากนั้นในวันที่ 2 พฤษภาคม 2539โจทก์ที่ 2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้องว่า โฉนดที่ดินพิพาทหายไป วันรุ่งขึ้นโจทก์ที่ 2 ไปยื่นคำขออายัดโฉนดที่ดินพิพาทต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดเชียงใหม่ สาขาหางดง และได้ทราบถึงการกระทำของจำเลยทั้งสองเกี่ยวกับที่ดินพิพาทดังกล่าว คดีมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองจะขอให้เพิกถอนนิติกรรมการขายฝากที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2539 ระหว่างจำเลยทั้งสอง และนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539 ระหว่างโจทก์ที่ 2กับจำเลยที่ 1 ได้หรือไม่ โดยศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตหรือไม่เสียก่อน สำหรับปัญหาข้อนี้โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องว่าจำเลยที่ 1 สมรู้ร่วมคิดกับจำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2ในทำนองว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้โดยไม่สุจริต ซึ่งหมายความว่าจำเลยที่ 2รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาทมาโดยมิชอบและไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โจทก์ทั้งสองจึงมีภาระการพิสูจน์ให้รับฟังได้เช่นนั้น เพราะจำเลยที่ 2 ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 6 ว่ากระทำการโดยสุจริต แต่พยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองคงมีเพียงคำเบิกความของโจทก์ที่ 2ว่า การที่จำเลยที่ 2 มิได้ไปทำนิติกรรมด้วยตนเองโดยมอบอำนาจให้บุคคลอื่นไปแทนแสดงว่าเงินค่าขายฝากที่ดินพิพาท 500,000 บาท น่าจะมิได้มีการจ่ายกันจริง และคำเบิกความของโจทก์ที่ 1 ว่า ที่ดินพิพาทน่าจะขายฝากกันในราคา 250,000 บาทถึง 300,000 บาทเท่านั้น เห็นว่า การมอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำนิติกรรมแทนเป็นเรื่องปกติ ไม่อาจเป็นเหตุผลให้รับฟังว่าไม่ได้มีการชำระราคากันจริง ราคาที่ดินพิพาทตามคำเบิกความของนาวาอากาศเอกอยู่พยานโจทก์ทั้งสองก็ได้ความว่า ที่ดินที่กองทัพอากาศจัดสรรซึ่งรวมทั้งที่ดินพิพาทมีราคาไร่ละ 1,000,000 บาทเศษ การที่จำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้ในราคา 500,000 บาท จึงมิได้เป็นราคาที่สูงเกินไป ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่าจำเลยที่ 2 กับนางจิตติมาพยานจำเลยที่ 2 เบิกความแตกต่างกันในเรื่องจำนวนเงินที่ชำระในการรับซื้อฝากที่ดินพิพาทนั้น ก็มิใช่ข้อที่จะแสดงว่าเลยที่ 2 รู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ได้ที่ดินมาโดยมิชอบและไม่ใช่เจ้าของกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ดังนี้ จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริต สำหรับการกระทำของโจทก์ที่ 2 ตามที่โจทก์ทั้งสองบรรยายฟ้องและนำสืบว่า โจทก์ที่ 2 ประสงค์จะแบ่งแยกที่ดินพิพาทออกเป็น4 แปลง โดยมอบให้นาวาอากาศเอกอยู่ดำเนินการแทนนั้น ได้ความว่าโจทก์ที่ 2 นำโฉนดที่ดินพิพาท หนังสือมอบอำนาจตามแบบของกรมที่ดิน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนและสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งโจทก์ที่ 2 ลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องไว้ใส่ในถุงกระดาษหูหิ้วถือไปมาระหว่างบ้านกับที่ทำงานเพื่อมอบให้นาวาอากาศเอกอยู่ แต่ไม่พบเนื่องจากนาวาอากาศเอกอยู่ไปราชการต่างจังหวัด โดยโจทก์ที่ 1 เบิกความว่า โจทก์ที่ 2 ถือถุงดังกล่าวไปมาระหว่างบ้านกับที่ทำงานตั้งแต่ปี 2537 และมีโฉนดที่ดินที่อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม อีก 8 แปลงรวมอยู่ด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า การกระทำของโจทก์ที่ 2 ดังกล่าวเป็นเรื่องผิดวิสัย เพราะเมื่อโจทก์ที่ 2 ไม่พบนาวาอากาศเอกอยู่ โจทก์ที่ 2 ก็น่าจะสอบถามบุคคลอื่นได้ว่านาวาอากาศเอกอยู่จะอยู่ที่ที่ทำงานเมื่อใด แล้วจึงนำโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมกับเอกสารต่าง ๆ ไปมอบให้นาวาอากาศเอกอยู่ในวันนั้น มิใช่ถือถุงบรรจุเอกสารสำคัญติดตัวไปมาเป็นเวลานานนับปีในลักษณะที่อาจทำให้เอกสารสำคัญสูญหายได้เช่นนี้ ยิ่งกว่านั้นโจทก์ที่ 2 ยังเบิกความด้วยว่า ทราบว่าโฉนดที่ดินพิพาทพร้อมทั้งเอกสารเกี่ยวกับการทำนิติกรรมได้หายไปตั้งแต่เมื่อประมาณปลายเดือนกุมภาพันธ์หรือต้นเดือนมีนาคม ซึ่งน่าจะเป็นปี 2539 แต่ที่ไปแจ้งความในวันที่ 2 พฤษภาคม 2539 เพราะค้นหาเอกสารเหล่านั้นอยู่ ทำให้เห็นได้ว่าหากโจทก์ทั้งสองรีบไปแจ้งความและขออายัดที่ดินพิพาทเสียในโอกาสแรก การที่จำเลยที่ 1 จะไปทำนิติกรรมโอนโฉนดที่ดินพิพาทให้ตนเองในวันที่ 29 มีนาคม 2539 ย่อมจะกระทำไม่ได้ การกระทำของโจทก์ทั้งสองเช่นนี้ถือได้ว่าโจทก์ทั้งสองประมาทเลินเล่ออย่างมาก เมื่อปรากฏว่ามีการนำโฉนดที่ดินพิพาทและเอกสารต่าง ๆ ไปดำเนินการทำนิติกรรมเป็นว่าโจทก์ที่ 2 ขายที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 ขายฝากที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 2 รับซื้อฝากที่ดินพิพาทไว้โดยสุจริตโจทก์ทั้งสองย่อมไม่อาจยกเอาความประมาทเลินเล่อของตนขึ้นอ้างอันจะทำให้เกิดความเสียหายแก่จำเลยที่ 2 ได้ ตามหลักกฎหมายทั่วไปที่ว่าต่างฝ่ายต่างสุจริตด้วยกัน ฝ่ายที่ประมาทเลินเล่อย่อมเป็นฝ่ายเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสองจึงขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2539 ระหว่างจำเลยทั้งสอง และนิติกรรมการซื้อขายที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2539 ระหว่างโจทก์ที่ 2 กับจำเลยที่ 1 ไม่ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องเสียนั้น ศาลฎีกาคงเห็นพ้องด้วยในผล”
พิพากษายืน