คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15180/2551

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยทั้งสองร่วมกันรับไว้ซึ่งรถยนต์ของกลางโดยรู้อยู่ว่าเป็นของที่มีผู้ลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงอากร วันรุ่งขึ้นหลังจากจำเลยทั้งสองถูกเจ้าพนักงานจับกุม จำเลยทั้งสองทำหนังสือขอทำความตกลงระงับคดีในชั้นศุลกากร โดยยินยอมยกของกลางให้ตกเป็นของแผ่นดินตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 102 ต่อมาโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้น หลังจากนั้นอธิบดีกรมศุลกากรมีคำสั่งอนุมัติให้ระงับคดี ดังนี้การใช้อำนาจของอธิบดีตามบทมาตราดังกล่าวจะต้องกระทำก่อนที่ผู้กระทำความผิดจะถูกฟ้องร้องต่อศาล เมื่อปรากฏว่าโจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นก่อนที่อธิบดีจะมีคำสั่งอนุมัติให้ระงับคดี คำสั่งดังกล่าวจึงล่วงเลยระยะเวลาที่อธิบดีกรมศุลกากรจะมีอำนาจสั่งให้งดการฟ้องร้องได้อีก

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9, ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 ริบของกลาง และจ่ายเงินรางวัลแก่ผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 27 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 จำคุกคนละ 4 ปี ปรับรวมเป็นเงิน 3,416,170.04 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 2 ปี ปรับรวมเป็นเงิน 1,708,085.02 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้รับโทษจำคุกมาก่อนเห็นควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวเป็นพลเมืองดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี ให้จ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งจับกุมจำเลยทั้งสองร้อยละยี่สิบของค่าปรับที่จำเลยทั้งสองต้องชำระข้างต้นตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ.2489 มาตรา 8 วรรคสอง หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 และเมื่อศาลพิพากษาให้ปรับจำเลยทั้งสองเป็นเงินคนละตั้งแต่สี่หมื่นบาทขึ้นไป ฉะนั้น หากจำเลยทั้งสองจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับให้กักขังจำเลยทั้งสองไว้เป็นระยะเวลา 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 30 ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบรถยนต์ของกลางนั้น ข้อเท็จจริงได้ความจากหนังสือที่โจทก์ยื่นต่อศาลเมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2545 ในสำนวนบัญชีสารบาญอันดับที่ 38 ว่ารถยนต์ของกลางในคดี กรมศุลกากรได้ทำการตกลงกับจำเลยทั้งสองรับไว้เป็นของแผ่นดินแล้วตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2545 กรณีจึงไม่อาจมีคำพิพากษาให้ริบทรัพย์สินซึ่งเป็นของแผ่นดินให้ตกเป็นของแผ่นดินได้อีก คำขอส่วนนี้ให้ยก
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำหน่ายคดีจากสารบบความ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า คำสั่งอนุมัติให้ระงับคดีของอธิบดีกรมศุลกากรมีผลให้โจทก์ต้องงดการฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 มาตรา 102 วรรคแรก บัญญัติว่า “…ถ้าบุคคลใดจะต้องถูกฟ้องตามพระราชบัญญัตินี้ และบุคคลนั้นยินยอมและใช้ค่าปรับ หรือได้ทำความตกลงหรือทำทัณฑ์บน หรือให้ประกันตามที่อธิบดีจะเห็นสมควรแล้ว อธิบดีจะงดการฟ้องร้องเสียก็ได้ และการที่อธิบดีงดการฟ้องร้องเช่นนี้ให้ถือว่าเป็นอันคุ้มผู้กระทำผิดนั้นในการที่จะถูกฟ้องร้องต่อไปในกรณีแห่งความผิดอันนั้น” บทกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจอธิบดีกรมศุลกากรที่จะงดการฟ้องร้องคดีแก่ผู้กระทำผิดอันเกี่ยวด้วยการศุลกากรในกรณีที่ผู้กระทำผิดยินยอมและใช้ค่าปรับหรือได้ทำความตกลงหรือทำทัณฑ์บนหรือให้ประกันตามที่อธิบดีจะเห็นสมควร ทั้งนี้เพื่อให้คดีระงับไปโดยมิต้องฟ้องร้องคดีต่อศาลอีก การใช้อำนาจของอธิบดีกรมศุลกากรตามบทมาตราดังกล่าว จึงต้องกระทำก่อนที่ผู้กระทำผิดจะถูกฟ้องร้องต่อศาล เมื่อข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฏว่าโจทก์ได้ฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลชั้นต้นก่อนที่อธิบดีกรมศุลกากรจะมีคำสั่งอนุมัติให้ระงับคดี คำสั่งดังกล่าวจึงล่วงเลยระยะเวลาที่อธิบดีกรมศุลกากรจะมีอำนาจสั่งให้งดการฟ้องร้องโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 102 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ได้อีก ฟ้องโจทก์จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำหน่ายคดีมานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น.

Share