แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ส. นักการภารโรงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนจำเลยที่ 5 ที่ให้เก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จมาโดยตลอด จำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นสถานศึกษา จึงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานการศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไป รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 (1) (2) และ (3) แม้เครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจะมิใช่ทรัพย์สินของทางราชการ แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ยืมมาใช้ในราชการ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองตาม ป.พ.พ. มาตรา 644 การที่จำเลยที่ 4 ปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำละเมิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 จำเลยที่ 4 ยืมเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุมาใช้ราชการ แต่ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ 4 อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 2,229,835 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 2,200,000 บาท จนกว่าจะชำระโจทก์เสร็จ
ศาลชั้นต้นพิจารณาคำฟ้องแล้ว เห็นว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 4 จึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ 5 และที่ 6 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 1,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 กันยายน 2551 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระแก่โจทก์เสร็จ กับให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลที่โจทก์ได้รับยกเว้น ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกาทั้งหมด
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 6 เป็นกระทรวงตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 จำเลยที่ 5 เป็นโรงเรียนในสังกัดจำเลยที่ 6 มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 35 มีจำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการ จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ได้มอบหมายให้นายสมภพ นักการภารโรง โรงเรียนจำเลยที่ 5 นำหนังสือราชการ ไปขอยืมเครื่องตัดหญ้าจากนายคมสัน ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 4 บ้านท่าม่วง ตำบลท่าม่วง อำเภอเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด เพื่อนำมาใช้ตัดหญ้าภายในโรงเรียนจำเลยที่ 5 โดยจำเลยที่ 4 มีคำสั่งให้นายสมภพเก็บเครื่องตัดหญ้าไว้ในห้องสมุดใหม่ทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ ห้ามปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากกลัวเด็กนักเรียนจะไปเล่น โรงเรียนจำเลยที่ 5 มีการจัดเตรียมงานเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูโรงเรียนจำเลยที่ 5 นายสมภพได้ไปช่วยจัดเตรียมงานเกษียณอายุราชการของข้าราชการครูโรงเรียนจำเลยที่ 5 ที่หอประชุม ต่อมาเวลาประมาณ 15 นาฬิกา เด็กชาย อ. นักเรียนโรงเรียนท่าม่วงวิทยาคม เด็กชาย ภ. เด็กชาย ศ.และเด็กชาย ต. ได้ไปนั่งคุยกันที่ศาลาโรงเรียนจำเลยที่ 5 ประมาณ 2 ชั่วโมง และเดินออกจากศาลาไป คงเหลือแต่เด็กชาย อ. ผู้เดียว จำเลยที่ 1 นักเรียนโรงเรียนท่าม่วงวิทยาคมเดินเข้าไปนั่งคุยกับเด็กชาย อ. ระหว่างนั้นเด็กชาย ภ. นักเรียนโรงเรียนจำเลยที่ 5 เห็นเครื่องตัดหญ้าคันดังกล่าวจอดอยู่ที่เสาธงโรงเรียนจำเลยที่ 5 เด็กชาย ภ. จึงเข้าไปติดเครื่องยนต์ นำไปตัดหญ้าที่บริเวณสนามฟุตบอล เด็กชาย อ. เข้าไปขอเด็กชาย ภ. ตัดหญ้า ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้เข้าไปขอเครื่องตัดหญ้าจากเด็กชาย อ. แล้วนำไปตัดหญ้า โดยใกล้ ๆ บริเวณนั้น โจทก์กำลังเล่นกีฬาชนไก่กับเพื่อน โจทก์แพ้จึงต้องนอนลงที่พื้นสนามฟุตบอล เพื่อนของโจทก์ได้นำเศษหญ้าปกคลุมตัวโจทก์ไว้ จำเลยที่ 1 เข็นรถตัดหญ้าไปทางที่โจทก์นอน และชนโจทก์ได้รับอันตรายสาหัส มีบาดแผลตั้งแต่กลางกะโหลกศีรษะด้านขวา ลากยาวผ่านดวงตาขวาและแก้มด้านขวา แขนขวาขาดและตาขวาบอด
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยที่ 5 และที่ 6 ต้องร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์หรือไม่ ซึ่งคดีนี้ โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 4 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันรับผิดชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ อันเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ 4 อยู่ในสังกัด ให้รับผิดในผลแห่งละเมิดของจำเลยที่ 4 ตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์ที่ 4 คดีย่อมมีประเด็นที่ต้องวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 5 และที่ 6 ตามบทกฎหมายดังกล่าวด้วย แม้ศาลล่างทั้งสองยังไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาก็เห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวไปเสียทีเดียว โดยไม่ต้องย้อนสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (1) ประกอบมาตรา 246 และ 247 ปัญหาดังกล่าวนี้โจทก์มีพนักงานสอบสวน พยานโจทก์เบิกความว่า พยานได้ให้ช่างเครื่องยนต์ลองติดเครื่อง ปรากฏว่าสามารถติดเครื่องได้ง่ายเพียงครั้งเดียว จำเลยที่ 4 เองก็เล็งเห็นถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุ จึงมีคำสั่งให้นายสมภพเก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ในห้องสมุดใหม่ทุกครั้งที่ใช้งานเสร็จ ห้ามปล่อยทิ้งไว้ เนื่องจากกลัวเด็กนักเรียนจะไปเล่น และได้ออกคำสั่งโรงเรียนจำเลยที่ 5 ให้นายสมภพปฏิบัติหน้าที่โดยเคร่งครัด ในข้อนี้นายสมภพให้การต่อพันตำรวจโทบุญทันว่า ปกตินายสมภพจะเก็บเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุไว้ที่โรงเก็บรถด้านหลังโรงเรียนจำเลยที่ 5 แต่ในวันเกิดเหตุยังไม่นำไปเก็บ เนื่องจากต้องไปทำงานอื่นก่อน เด็กชาย ภ. พยานโจทก์และพยานจำเลยที่ 5 ที่ 6 เบิกความว่า เมื่อเวลาประมาณ 12 นาฬิกาของวันเกิดเหตุ พยานเห็นเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจอดอยู่ใต้ต้นไม้หน้าอาคารเรียนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 พยานจึงเข้าไปติดเครื่องยนต์ นำไปตัดหญ้าหลังโรงเรียนจำเลยที่ 5 แล้วนำไปเก็บที่เดิม จนกระทั่งก่อนจะเกิดเหตุ พยานเห็นเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจอดอยู่ที่เสาธงโรงเรียนจำเลยที่ 5 จึงเข้าไปติดเครื่องยนต์ นำไปตัดหญ้าที่บริเวณสนามฟุตบอล แสดงว่า นายสมภพไม่ปฏิบัติตามคำสั่งโรงเรียนจำเลยที่ 5 มาโดยตลอด จำเลยที่ 4 เป็นผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นสถานศึกษา จึงเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการและมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการและของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ รวมทั้งนโยบายและวัตถุประสงค์ของสถานศึกษาหรือส่วนราชการ ประสานการระดมทรัพยากรเพื่อการศึกษา รวมทั้งควบคุมดูแลบุคลากร การเงิน การพัสดุ สถานที่ และทรัพย์สินอื่นของสถานศึกษาหรือส่วนราชการให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับของราชการ เป็นผู้แทนของสถานศึกษาหรือส่วนราชการในกิจการทั่วไป รวมทั้งการจัดทำนิติกรรมสัญญาราชการของสถานศึกษาหรือส่วนราชการตามวงเงินงบประมาณที่สถานศึกษาหรือส่วนราชการได้รับตามที่ได้รับมอบอำนาจ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 (1) (2) และ (3) แม้เครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุจะมิใช่ทรัพย์สินของทางราชการ แต่ก็เป็นทรัพย์สินที่จำเลยที่ 4 ในฐานะผู้อำนวยการโรงเรียนจำเลยที่ 5 ยืมมาใช้ในราชการ จำเลยที่ 4 และที่ 5 จึงจำต้องสงวนทรัพย์สินซึ่งยืมไปเหมือนเช่นวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 644 การที่จำเลยที่ 4 ปล่อยปละละเลยการบริหารกิจการของสถานศึกษาและไม่ควบคุมดูแลบุคลากรในสถานศึกษาให้เป็นไปตามกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการหรือของสถานศึกษา จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 4 เมื่อความประมาทเลินเล่อนั้นก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จำเลยที่ 4 ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้ทำละเมิด ตามประมวลกฎหมายกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 จำเลยที่ 4 ยืมเครื่องตัดหญ้าคันเกิดเหตุมาใช้ในราชการ แต่ไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.2546 มาตรา 39 จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ จึงเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ จำเลยที่ 5 และที่ 6 ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำเลยที่ 4 อยู่ในสังกัดจึงต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดดังกล่าวตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 5 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 20,000 บาท สำหรับค่าธรรมเนียมศาลชั้นฎีกาที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ยกเว้นนั้น ให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 นำมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์