คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1517/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่ออธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินของโจทก์ โดยอ้างว่าที่ดินดังกล่าวอยู่ในเขตที่ดินสงวนหวงห้าม ย่อมมีผลให้โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าว ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับโจทก์ใหม่ ย่อมมีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินกลับคืนมา คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอซึ่งอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ เป็นคดีมีทุนทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งขยายเวลาให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาชำระใน 15 วันนับแต่วันสั่ง ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 11 สิงหาคม 2527นั้น เมื่อโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลาอีก 30 วัน ศาลมีคำสั่งอนุญาต จึงต้องเริ่มนับ 1 ในวันที่ 12 สิงหาคม 2527 และจะครบ 30 วันในวันที่ 10 กันยายน 2527 แต่เมื่อถึงวันที่ 10 กันยายน 2527 โจทก์มิได้นำค่าขึ้นศาลมาวางเพิ่ม กลับยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาไปอีก 1 เดือนและเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตโจทก์ก็มิได้นำค่าขึ้นศาลมาวางในวันนั้น จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 174(2) ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีในวันเดียวกัน จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการสั่งจำหน่ายคดีก่อนถึงเวลากำหนดที่ให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาวางเพิ่ม.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องกรมที่ดินขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนคำสั่งกรมที่ดินทีทให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๑๑๓ และเลขที่ ๑๔๙๐๑ ตำบลนครสวรรค์ตก ( ปากน้ำโพ ) อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และให้จำเลยดำเนินการให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับโจทก์ใหม่
จำเลยให้การว่า ที่ดินของโจทก์เป็นที่หวงห้ามสงวนไว้ใช้ในราชการที่ดินดังกล่าวจึงเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน โจทก์ไม่มีสิทธิยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้ง ๒ แปลงของโจทก์เป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกโฉนดตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๕ ( พ.ศ. ๒๔๙๗ ) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.๒๔๙๗ ข้อ ๘ (๒) การออกโฉนดทั้งสองฉบับจึงเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย จำเลยจึงมีอำนาจเพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ เจ้าพนักงานที่ดินได้แจ้งการเพิกถอนโฉนดที่ดินให้โจทก์ทราบไม่น้อยกว่าสืบห้าวันเพื่อให้โจทกคัดค้าน แต่โจทก์มิได้คัดค้านภายในสามสิบวัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ในวันนัดชี้สองสถานเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๗ ศาลได้มีคำสั่งให้โจทก์เสียค่าขึ้นศาลเพิ่มภายใน ๑ เดือน นับแต่วันสั่ง
วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๒๗ โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ที่ ๒ ขอยื่นฟ้องอย่างคนอนาถาเพราะไม่มีอาชีพ ไม่ได้ทำงานอาศัยอยู่กับบุตรสาว ส่วนโจทก์ที่ ๑ ขอขยายระยะเวลานำเงินมาวางศาลไปอีก ๒ เดือน แต่ศาลมีคำสั่งให้โจทก์นำเงินค่าขึ้นศาลมาวางภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันสั่ง มิฉะนั้นจะถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง
วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๒๗ โจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลาการวางเงินออกไปอีก ๓๐ วัน ศาลมีคำสั่งอนุญาต
วันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๗ โจทก์ยื่นคำร้องขอเลื่อนการนำเงินค่าขึ้นศาลมาวางอีก ๑ เดือน อ้างว่ากำลังติดต่อขอกู้เงินจากบริษัทฟองซีเออร์ธีรสิทธิศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตถือว่าโจทก์ทิ้งฟ้อง ให้จำหน่ายคดีจากสารบทความ
โจทก์อุทธรณ์ คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่โจทก์ฎีกาว่า คดีของโจทก์เป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์นั้นเห็นว่าเมื่อกรมที่ดินมีคำสั่งให้เพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ ๑๓๑๑๓ และเลขที่ ๑๔๙๐๑ ย่อมมีผลให้โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิในที่ดินดังกล่าว ดังนั้นการที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งและให้เจ้าพนักงานที่ดินออกโฉนดที่ดินให้กับโจทก์ใหม่ ย่อมมีผลทำให้โจทก์ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินกลับคืน คดีของโจทก์จึงเป็นคดีที่มีคำขอ ซึ่งอาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่โจทกืฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนสิ้นเวลาที่กำหนดให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาวางเพิ่มนั้น ปรากฏว่าศาลมีคำสั่งครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๒๗ ให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาชำระใน ๑ เดือนนับแต่วันสั่ง จึงครบกำหนดในวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๗ ครั้งที่สองศาลมีคำสั่งขยายเวลาให้นำค่าขึ้นศาลมาชำระใน ๑๕ วัน นับแต่วันสั่ง ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ ครั้งที่สามโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายเวลาอีก ๓๐ วัน ศาลมีคำสั่งอนุญาตจึงเริ่มนับ ๑ ในวันที่ ๑๘ สิงหาคม ๒๕๒๗ จนครบ ๓๐ วันในวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๗ แต่เมื่อถึงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๒๗ โจทก์หาได้นำค่าขึ้นศาลมาวางเพิ่มไม่ กลับยื่นคำร้องขอขยายเวลาไปอีก ๑ เดือน และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาต โจทก์ก็มิได้นำค่าขึ้นศาลมาวางในวันนั้น จึงถือไม่ได้ว่าศาลชั้นต้นมีคำสั่งจำหน่ายคดีก่อนถึงเวลากำหนดที่ให้โจทก์นำค่าขึ้นศาลมาวางเพิ่ม กรณีของโจทก์จึงเป็นการทิ้งฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๔ (๒) ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน
พิพากษายืน

Share