แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องจักรผลิตน้ำผลไม้พร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องเป็นของโจทก์และโจทก์ส่งมาให้จำเลยทั้งสี่เพื่อร่วมลงทุนเมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ให้โจทก์เข้าร่วมลงทุนในกิจการของจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาต้องคืนเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องให้แก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาแทน และเมื่อโจทก์เรียกให้จำเลยส่งคืนจำเลยปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้ทรัพย์ได้ จนถึงวันที่จำเลยส่งมอบเครื่องจักรหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2496 ประกอบธุรกิจผลิตน้ำผลไม้และขนมต่าง ๆ เมื่อโจทก์ตกลงร่วมทุนกับ ว.โจทก์อนุญาตให้ว. จดทะเบียนนิติบุคคลผลิตน้ำผลไม้แล้ว ส่วนใหญ่ส่งไปขายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ในต่างประเทศ โดยโจทก์ยอมให้ ว.ใช้ชื่อโตราย่าของโจทก์ได้ ก่อนฟ้องโจทก์แจ้งให้จำเลยระงับการใช้ชื่อคำว่า”โตราย่า” ของโจทก์แล้ว แม้โจทก์จะเลิกผลิตน้ำผลไม้มานาน4 ปีแล้ว แต่เมื่อโจทก์ยังให้คนอื่นผลิตโดยใช้ชื่อโจทก์การที่จำเลยมีเจตนาแสวงหาประโยชน์จากชื่อของโจทก์ ทำให้ลูกค้าของโจทก์สับสนว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับจำเลยหรือจำเลยเป็นสาขาของโจทก์ในประเทศไทย โจทก์ย่อมมีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1ระงับการใช้ชื่อ “โตราย่า” ของโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดจดทะเบียนไว้โดยชอบภายใต้กฎหมายของประเทศญี่ปุ่นใช้ชื่อว่าบริษัทโตราย่า จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เป็นกรรมการและผู้เริ่มก่อตั้งบริษัทโดยจำเลยที่ 2 หรือนายวิชัย ตั้งกมลสุขลงลายมือชื่อประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ทำการแทนจำเลยที่ 1ได้ เมื่อประมาณต้นปี 2531 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 และในฐานะส่วนตัวและนายวิชัยร่วมกันติดต่อโจทก์ให้มาร่วมลงทุนผลิตสินค้าน้ำผลไม้ในประเทศไทยและขออนุญาตใช้ชื่อ “TORAYA” อ่านว่า “โตราย่า”ของโจทก์มาประกอบเป็นชื่อจำเลยที่ 1 โดยให้โจทก์ส่งเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ผลิตน้ำผลไม้และผู้เชี่ยวชาญมาร่วมกันดำเนินกิจการและจะแบ่งกำไรให้แก่โจทก์เท่ากัน โจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1จดทะเบียนใช้ชื่อว่า บริษัท ไทยโตราย่า จำกัด และส่งเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ที่ใช้ในการผลิตน้ำผลไม้และผู้เชี่ยวชาญมาให้จำเลยที่ 1จำเลยที่ 1 เปิดดำเนินกิจการถึง 4 ปีแล้ว แต่ไม่เคยให้โจทก์เข้ามีส่วนร่วมเป็นผู้ถือหุ้น บริหารกิจการและไม่เคยแบ่งผลประโยชน์ใด ๆ ให้แก่โจทก์และจำเลยที่ 1 บอกตัวแทนโจทก์ว่าไม่ประสงค์จะร่วมทุนกับโจทก์ต่อไป โจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1ส่งคืนเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์แก่โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ไม่คืนโจทก์เสียหายขาดประโยชน์ที่จะได้ใช้เครื่องจักรของโจทก์คิดเป็นเงินเดือนละ 100,000 บาท เป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 4,800,000 บาทเครื่องจักรของโจทก์มีราคา 87,022,040 เยน คิดเป็นเงินไทยประมาณ 9,000,000 บาท โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อว่าโตราย่า ของโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ยังคงใช้ชื่อ โตราย่าของโจทก์เป็นการละเมิดต่อโจทก์และใช้สิทธิไม่สุจริต จำเลยทั้งสี่ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 100,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกับส่งมอบเครื่องจักรผลิตน้ำผลไม้พร้อมอุปกรณ์ของโจทก์คืนในสภาพที่เรียบร้อยใช้การได้ดี หากคืนไม่ได้ให้ชดใช้ราคาเป็นเงิน9,000,000 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าขาดประโยชน์4,800,000 บาท กับค่าเสียหายอีกเดือนละ 100,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะส่งมอบเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์คืนหรือชดใช้ราคาเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ระงับการใช้ชื่อ “TORAYA”และคำในภาษาไทยว่า “โตราย่า” ให้นายทะเบียนหุ้นส่วนและบริษัทถอนชื่อคำว่า “TORAYA” และ “โตราย่า” ออกจากชื่อจำเลยที่ 1ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายคิดถึงวันฟ้อง 100,000 บาทและถัดจากวันฟ้องเดือนละ 100,000 บาท จนกว่าจำเลยทั้งสี่จะเลิกใช้ชื่อโจทก์
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า เครื่องจักรผลิตน้ำผลไม้พร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ซึ่งชื่อมาโดยชำระราคาให้แก่ผู้ขายไปครบถ้วนแล้ว โจทก์ไม่ใช้เจ้าของ โจทก์เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนไว้ในประเทศญี่ปุ่น ไม่ได้จดทะเบียนลิขสิทธิ์ชื่อของโจทก์ไว้ในประเทศไทย โจทก์จึงไม่มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1ใช้ชื่อบริษัทไทยโตราย่า จำกัด โจทก์ไม่เสียหายและไม่มีสิทธิฟ้องขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันคืนเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องในสภาพใช้ผลิตสินค้าได้ ถ้าไม่คืนให้ใช้เงิน9,000,000 บาท ให้ร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์ที่โจทก์ไม่ได้ใช้ทรัพย์960,000 บาท และอีกเดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แต่ไม่เกิน 2 ปี นับจากวันฟ้องให้จำเลยที่ 1 ระงับการใช้ชื่อคำว่า “TORAYA” และภาษาไทยคำว่า”โตราย่า” เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ คิดถึงวันฟ้องเป็นเงิน 10,000 บาท และค่าเสียหายถัดจากวันฟ้องเป็นรายเดือนเดือนละ 10,000 บาท จนกว่าจำเลยที่ 1จะระงับการใช้ชื่อคำว่า “TORAYA” และภาษาไทยคำว่า “โตราย่า”เป็นชื่อจำเลยที่ 1
โจทก์และจำเลยทั้งสี่ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1กับจำเลยที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในฐานะกรรมการและฐานะส่วนตัวร่วมกับนายวิชัย ตั้งกมลสุข ได้ไปติดต่อโจทก์ขอให้ส่งเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ผลิตน้ำผลไม้มาให้และขอใช้ชื่อ “โตราย่า” ของโจทก์มาประกอบชื่อจำเลยที่ 1 และจำเลยทั้งสี่ได้ครอบครองเครื่องจักรผลิตน้ำผลไม้จนถึงปัจจุบัน มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสี่ข้อแรกว่า จำเลยทั้งสี่เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ให้โจทก์ร่วมลงทุนและไม่คืนเครื่องผลิตน้ำผลไม้พร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องแก่โจทก์หรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อมากกว่าพยานจำเลยทั้งสี่ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เครื่องจักรผลิตน้ำผลไม้พร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องเป็นของโจทก์ และโจทก์ส่งมาให้จำเลยทั้งสี่เพื่อร่วมลงทุน เมื่อจำเลยทั้งสี่ไม่ให้โจทก์เข้าร่วมลงทุนในกิจการของจำเลยที่ 1 ตามที่ตกลงกัน จำเลยทั้งสี่จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องคืนเครื่องจักรพร้อมอุปกรณ์ตามฟ้องแก่โจทก์ หากคืนไม่ได้ก็ต้องใช้ราคาแทน
ปัญหาต่อไปว่า ราคาเครื่องจักรและค่าเสียหายที่โจทก์ได้รับมีเท่าใด เห็นว่า ได้ความตามคำเบิกความของพยานโจทก์ว่าเครื่องจักรพิพาทเป็นเครื่องจักรใช้แล้ว มีประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ หากเป็นเครื่องจักรใหม่ราคาประมาณไม่น้อยกว่า 20,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์กำหนดให้ใช้ราคาแทนในกรณีไม่อาจคืนเครื่องจักรพิพาทให้แก่โจทก์เป็นเงิน 9,000,000 บาท จึงเหมาะสมแล้ว ส่วนปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์จากเครื่องจักรพิพาทหรือไม่เท่าใด ซึ่งโจทก์และจำเลยทั้งสี่ต่างฎีกาในปัญหานี้เห็นว่า เมื่อฟังว่าเครื่องจักรพิพาทเป็นของโจทก์ โจทก์เรียกให้จำเลยทั้งสี่ส่งคืน จำเลยทั้งสี่ปฏิเสธ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าขาดประโยชน์จากการไม่ได้ใช้ทรัพย์ได้ แต่ที่โจทก์เรียกค่าเสียหายเดือนละ 100,000 บาท นับว่าสูงเกินไป ศาลฎีกาเห็นว่าศาลอุทธรณ์ได้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้เดือนละ 20,000 บาทคิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา 4 ปี เป็นเงิน 960,000 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 20,000 บาท นัดถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปนั้นนับว่าเหมาะสมแล้ว แต่เห็นว่าโจทก์ควรได้รับค่าเสียหายจนถึงวันที่จำเลยทั้งสี่ส่งมอบเครื่องจักรหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์
ปัญหาข้อสุดท้ายว่า โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ชื่อคำว่า “โตราย่า” หรือไม่ และค่าเสียหายเท่าใด ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลในประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ปี 2496 ประกอบธุรกิจผลิตน้ำผลไม้และขนมต่าง ๆ เมื่อโจทก์ตกลงร่วมทุนกับนายวิชัย โจทก์อนุญาตให้นายวิชัยจดทะเบียนนิติบุคคลผลิตน้ำผลไม้แล้ว ส่วนใหญ่ส่งไปขายให้แก่ลูกค้าของโจทก์ในต่างประเทศ โดยโจทก์ยอมให้นายวิชัยใช้ชื่อโตราย่าของโจทก์ได้ก่อนฟ้องโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ระงับการใช้ชื่อคำว่า”โตราย่า” ของโจทก์แล้วเห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 18 บัญญัติให้สิทธิแก่บุคคลผู้เป็นเจ้าของนามอันชอบที่จะใช้ได้ที่ต้องเสื่อมเสียประโยชน์เพราะการที่บุคคลอื่นมาใช้นามเดียวกันโดยมิได้รับอนุญาตให้ใช้ ในอันที่จะเรียกให้บุคคลอื่นนั้นระงับความเสียหายได้ ถ้าและพึงวิตกว่าจะต้องเสียหายอยู่สืบไป จะร้องขอต่อศาลให้สั่งห้ามก็ได้ โจทก์ใช้ชื่อ”โตราย่า” มาตั้งแต่ปี 2496 แม้โจทก์จะเลิกผลิตน้ำผลไม้มานาน4 ปีแล้ว แต่โจทก์ก็ยังให้คนอื่นผลิตโดยใช้ชื่อโจทก์จึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสี่มีเจตนาแสวงหาประโยชน์จากชื่อของโจทก์ทำให้ลูกค้าของโจทก์สับสนว่าโจทก์เกี่ยวข้องกับจำเลยที่ 1หรือจำเลยที่ 1 เป็นสาขาของโจทก์ในประเทศไทย โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ระงับการใช้ชื่อ “โตราย่า” ได้ ส่วนค่าเสียหายในส่วนนี้ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์กำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายเดือนละ 10,000 บาท เหมาะสมแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันใช้ค่าขาดประโยชน์เดือนละ 20,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสี่จะคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์